บอกเล่าข่าวการ์ตูนประจำสัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 1-8 มกราคม 2560

บอกเล่าสรุปข่าวการ์ตูนประจำสัปดาห์ กลับมาอีกครั้ง กับตอนแรกสุดของปีพ.ศ. ๒๕๖๐ หลังหยุดพักร้อนปีใหม่ไปยาวราว 2 อาทิตย์ ....เราก็ขอกล่าวสวัสดีปีใหม่ย้อนหลังแก่ทุกท่าน ขอให้ทุกคนสุข สมหวัง ทำการสิ่งใดประสบผลสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้....ถึงกระนั้นในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา หลายคนก็มีความสุข สนุกสนาน ในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ก็มีอีกหลายคนรู้สึกเป็นทุกข์ จากการที่ต้องประสบพบเจอกับคนบางประเภทที่พูดฟังอะไรไม่ค่อยรู้เรื่อง เค้าอุตส่าห์ย้ำเตือนแล้วเตือนอีกว่า ในช่วงปีใหม่นี้ อย่าเมาแล้วขับ อย่าขับรถเร็วโดยประมาท อย่ายิงปืนขึ้นฟ้า แต่ท้ายที่สุดแล้ว คนพวกนั้นก็ทำ แล้วก็ส่งผลให้ผู้อื่นต้องรับเคราะห์กับความเสียหายที่เกิดขึ้น ที่แย่กว่านั้น อาจถึงกับต้องสูญเสียกับบุคคลที่รักด้วยเช่นกัน ถึงกระนั้น ก็มีบางส่วนที่ต้องพบกับพวกชิงนรกเกิด ซึ่งมันผู้นี้ จนท.เค้าอุตส่าห์ให้โอกาสปรับปรุงตัวอยู่ร่วมสังคมอย่างเป็นสุขก็แล้ว แต่มันผู้นั้นไม่ยอมรับโอกาสที่ให้มา กลับทำผิดซ้ำผิดซาก และเข่นฆ่าคนผู้บริสุทธิ์เพียงเพื่อต้องการเอาทรัพย์สินชิ้นเดียว...... ถึงตรงนี้ เราก็ขอแสดงความเสียใจแก่ญาติพี่น้องผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ด้วยเงื้อมมือจากความชุ่ย , ความประมาท หรือ ความเลวทราม จากคนบางกลุ่ม...... ในเมื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินบ้านเรา มันได้แค่นี้ เห็นทีเราๆท่านๆก็ต้องระมัดระวังตัวเองกันให้มากยิ่งขึ้น เวลาไปไหนมาไหน หากไม่จำเป็นจริงๆ ก็อย่าออกไปข้างนอกช่วงดึกๆดื่นๆ รวมถึง อย่าแสดงสิ่งของมีค่า หากอยู่บริเวณที่เปลี่ยว ลับตาผู้คน

สุดท้ายนี้ ก็ขอเป็นกำลังใจแก่พี่น้องชาวภาคใต้ ที่กำลังประสบภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่ ขอให้ได้รับการเยียวยา ได้รับการช่วยเหลือจากทุกภาคส่วนโดยเร็วที่สุด

สำนักข่าว K-D News (kartoon-discovery.com)
สามารถอัพเดทข่าวสารเว็บเราได้ผ่าน Twitter และ Facebook


หากนำข่าวจากเราไปเผยแพร่ที่อื่น รบกวนใส่เครดิตให้กับทางเราด้วยครับ ขอบคุณครับ

New Release Comics of the Week: ตบสะท้านรับปีใหม่ กับ ไฮคิว 19-20

เนื่องจากเป็นช่วงสัปดาห์แรกของปีศักราชใหม่ สนพ.จะยังไม่มีหนังสือออกวางขาย มีเพียง SIC กับ Luckpim เท่านั้น ที่มีหนังสือออกมา

ไฮคิว เล่ม 19-20 การแข่งรอบชิงชนะเลิศศึกคัดเลือกตัวแทนประจำจังหวัดเข้าสู่เซ็ตที่ 2 คาราสุโนะประสบความสำเร็จกับการใช้กลยุทธ์ "โททอสดีเฟนส์" อันมีสึกิชิกับนิชิโนะยะเป็นศูนย์กลาง และไล่กัดราชันย์ ชิราโทริซาวะ ต่อไปเรื่อย ๆ !! ท่ามกลางศึกรุกรับที่ดำเนินไปอย่างไม่มีใครยอมใคร ฝ่ายซึ่งเก็บเอาหนึ่งแต้มมาได้ และก้าวนำหน้าไปก่อนก็คือ ... !? ศึกคัดเลือกตัวแทนระดับจังหวัดแสนตรึงเครียด เข้าสู่เซ็ตที่ 4! คาราสุโนะซึ่งไม่เหลือทางให้ถอยแล้ว ได้ สึกิชิมะ กับ ฮินาตะมาสร้างผลงานป้องกันการรุกอย่างหนักจากฝั่งชิราโทริซาวะ ทว่าในสถานการณ์เช่นนั้น คาเงยะมะกลับเคลื่อนไหวไม่ได้ดังใจ .... !? แล้วทีมคาราสุโนะจะรอดจากสถานการณ์เกาะขอบเหวนี้ได้หรือ !!

เธอกับฉันเพื่อนกันหนึ่งสัปดาห์ เล่ม 4 การปรากฏตัวของฮาจิเมะ ทำให้คาโอริสูญเสียความทรงจำเรื่องที่เป็นเพื่อนกับยูกิไปจนหมด
แล้วทั้งสองก็ค่อย ๆ หลับมาเป้นเพื่อนกันใหม่อีกครั้งทีละนิดทีละหน่อย ——
ทว่า คาโอริคนนี้กลับมาบางอย่างแตกต่างไปจากคาโอริคนก่อนที่จะสูญเสียความทรงจำ ...
อีกด้านหนึ่ง ฮาจิเมะซึ่งรู้จักอดีตของคาโอรินั้น เป็นใครกันแน่ ...

ผมน่ะหรือ คือ ราชาปีศาจ! เล่ม 19 "กุญแจ" ของกล่องต้องห้าม "เพลิงบรรลัยกัลป์เยือกแข็ง" ก็คือโวลฟรัมนี่เอง...! ยูริจะสามารถช่วยโวลฟรัมที่เปลี่ยนไปเป็นราวกับคนละคนและหายเข้าไปใน "กล่อง" ได้หรือไม่...!? พร้อมด้วยเรื่องสั้นภาคพิเศษ "ทำงานเข้าสิ องค์ชินโอ!"

 

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ:โอตาคุ ปั่นสะท้านโลก เล่ม 5-7 , Fuuka เล่ม 10 , สาวมืดมนอลวนหารัก เล่ม 9

รูปภาพหน้าปก : amazon.co.jp



เปิดตัวชื่อทางการของหนังอนิเมชุด 2 Fairy Tail ออกฉายฤดูใบไม้ผลิ 2017

ข่าวดีประเดิมวันแรกของปีศักราชใหม่ แก่บรรดาสาวกชาวกิลด์หางนางฟ้า เมื่อ GAGA บริษัทผู้จัดจำหน่ายหนังของญี่ปุ่น ได้เปิดตัวเว็บไซต์ทางการของหนังอนิเมชุดใหม่ล่าสุดของ Fairy Tail ที่จะใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า Fairy Tail: Dragon Cry โดยหนังอนิเมชุดที่ 2 ของ Fairy Tail มีกำหนดออกฉายช่วงฤดูใบไม้ผลิ 2017

โดยหนังอนิเมชุดที่ 2 ของ Fairy Tail มีการประกาศครั้งแรกในนิตยสาร Shōnen Magazine เมื่อ พ.ค. 2015 ก่อนจะเงียบหายไป จนกระทั่งมีการอัพเดตข้อมูลล่าสุดในครั้งนี้.....อีกทั้ง ยังมีการเปิดเผยว่า ฉบับอนิเมซีรี่ย์ของเรื่องนี้ ก้จะมีโปรเจ็คใหม่ออกมา เช่นกัน เมื่อ มี.ค. 2016 ที่ผ่านมา

แหล่งข่าวและรูปภาพ : animenewsnetwork.com

 


D.Gray-Man เตรียมกลับมาตีพิมพ์อีกครั้ง ม.ค. 2017 นี้

ข่าวสร้างความสุขแก่แฟนๆมังงะ D.Gray-Man ณ วันส่งท้ายปี 2016 เมื่อนิตยสาร Jump Square ฉบับ ก.พ. 2017 ได้แจ้งว่า D.Gray-man กำลังจะกลับมาตีพิมพ์อีกครั้ง ในนิตยสาร Jump Square Crown ฉบับฤดูหนาว 2017 ที่จะวางขายในวันที่ 20 ม.ค. 2017 หลังจากที่เรื่องนี้ได้หยุดตีพิมพ์ไป ในฉบับฤดูใบไม้ร่วงของ Jump Square Crown ที่ออกวางขายเมื่อ ต.ค. 2016 ซึ่งในตอนนั้น ไม่มีการระบุว่า D.Gray-Man จะกลับมาตีพิมพ์อีกครั้งเมื่อใดกันแน่

D.Gray-Man ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Shonen Jump เมื่อปี 2004 ซึ่งเรื่องนี้จัดเป็นซีรี่ย์การ์ตูนที่ตีพิมพ์ไม่ต่อเนื่อง งดตีพิมพ์อยู่หลายครั้ง อันเนื่องมาจากปัญหาด้านสุขภาพของ อ.คัตซึระ โฮชิโนะ ผู้แต่งเรื่องนี้ ก่อนที่จะย้ายไปตีพิมพ์ในนิตยสาร Jump Square เมื่อปี 2009 และย้ายไปตีพิมพ์ใน Jump Square Crown ตั้งแต่ ก.ค. 2015 เป็นต้นมา ปัจจุบันเรื่องนี้มียอดตีพิมพ์มากกว่า 22.5 ล้านเล่ม แล้ว

แหล่งข่าว : animenewsnetwork.com


Comic Market 91 มียอดผู้เข้างานรวม 550,000 คน ตลอด 3 วัน

Comic Market 91 (Comiket 91) งาน Comic Market ภาคฤดูหนาว ส่งท้ายปีเก่า ที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อ 29-31 ธ.ค. 2016 นั้น มียอดผู้เข้างาน ตลอดทั้ง 3 วัน รวมกัน 550,000 คน ซึ่งมีจำนวนผู้เข้างาน มากกว่า Comiket 89 (ฤดุหนาว 2015) และ Comiket 90 (ฤดูร้อน 2016) ซึ่งมียอดผู้เข้างานทั้งหมด 520,000 คน กับ 530,000 คน ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม Comiket 91 ยังไม่สามารถทำลายสถิติยอดผู้ชมสูงสุดช่วงฤดูหนาวได้ โดย Comiket 87 ที่จัดขึ้นเมื่อปี 2014 ได้ทำสถิติยอดผู้เข้าชมสูงที่สุดใน Comiket ภาคฤดูหนาว ถึง 560,000 คน ขณะที่ Comiket 84 Comiket ภาคฤดูร้อน ที่จัดขึ้นเมื่อปี 2013 เป็นเจ้าของสถิติ ยอดผู้เข้าชมงาน Comiket สูงที่สุดกว่าครั้งใดๆ ถึง 590,000 คน

หากนับยอดผู้เข้างาน Comiket 91 แบบแยกวันกัน พบว่า วันที่ 1-2 มีผู้เข้างานวันละ 170,000 คน ส่วนวันที่ 3 วันสุดท้าย มีผู้เข้างานมากที่สุด ถึง 210,000 คน โดยยอดวันที่ 3 ของ Comiket 91 นั้น เท่ากับ วันที่ 3 ของ Comiket 90 และมากกว่า วันที่ 3 ของ Comiket 89 อยู่ 10,000 คน ด้วยกัน

อนึ่ง การนับยอดผู้เข้างานนี้ จะเป็นการนับแบบจำนวนครั้ง ไม่ได้นับแบบเจาะจงเฉพาะตัวผู้เข้างาน ซึ่งหมายความว่า หากผู้เข้าชมงานคนหนึ่ง มาเที่ยวชมงานนี้ถึง 3 วัน ก็จะถือว่า มีผู้มาเที่ยวงานนี้ ถึง 3 ครั้ง (หรือ 3 คน) ด้วยกัน

โดย Comiket 92 จะจัดขึ้นช่วงฤดูร้อน วันที่ 11-13 ส.ค. 2017 นี้


แหล่งข่าว : Mantan Web , animenewsnetwork.com


Ballroom e Yōkoso ประกาศทำอนิเมทีวี

นิตยสาร Shonen Magazine เวอร์ชั่นรายเดือน ฉบับ ก.พ. 2017 ได้แจ้งข่าวว่า Ballroom e Yōkoso ( Welcome to the Ballroom) มังงะเรื่องเยี่ยมของ อ.โทโมะ ทาเคอุจิ กำลังจะได้รับการดัดแปลงในรูปแบบอนิเมทีวีแล้ว มีกำหนดออกฉายช่วงฤดูร้อน 2017

ในส่วนของสต๊าฟอนิเม ได้ โยิชิมิ อิตาสุ ( director จาก Pigtails, animation director จาก Paranoia Agent, Miss Hokusai, Den-noh Coil) มารับหน้าที่กำกับ ณ สตูดิโอ Production I.G. , เคนอิจิ สุเอมิตซึ (K, Tōken Ranbu, Isobe Isobee Monogatari ~Ukiyo wa Tsurai yo~ stage plays) เป็นผู้ลำดับเนื้อเรื่อง ขณะที่ ทาคาฮิโระ คิชิดะ (Haikyu!!, Puella Magi Madoka Magica) เป็นผู้ออกแบบตัวละคร และ ยูกิ ฮายาชิ (My Hero Academia, Death Parade, Robotics;Notes) เป็นผู้แต่งดนตรี

Ballroom เป็นเรื่องราวของ ทาทาระ ฟูจิตะ เด็กหนุ่ม ม.ปลาย ผู้ไม่เอาไหน ผู้หวังจะดีเด่นในด้านใดด้านหนึ่ง จนกระทั่งวันหนึ่ง เขาถูกพวกเด็กโจ๋กลั่นแกล้งเพื่อหวังจะไถ่ตังค์จากเขา แต่เขาก็ได้รับความช่วยเหลือจาก คานาเมะ เซ็นโกคุ ในการไล่พวกเด็กโจ๋ออกไป แท้จริงแล้ว เซ็นโกคุผู้นี้ เป็นนักเต้นลีลาศ และเขาผู้นี้ได้นำพา ฟูจิตะ เข้าสู่โลกของการเต้นลีลาศบนห้องบอลรูม นั่นจึงทำให้ชีวิตของ ฟูจิตะ ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ผลงานดังกล่าวตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลสำคัญของวงการมังงะญี่ปุ่นหลายสถาบัน เช่น Manga Taisho awards เป็นต้น รวมถึง เรื่องนี้เคยคว้าอันดับ 1 มังงะยอดเยี่ยมจากหนังสือ Kono Manga ga Sugoi! เมื่อปี 2013



 

แหล่งข่าว : animenewsnetwork.com

 


Shonen Jump Giga จะกลับมาวางขาย ช่วงฤดูใบไม้ผลิ 2017

นิตยสาร Shonen Jump X (หรือ Shonen Jump Cross) ได้เปิดเผยในช่วงวันสิ้นปี 2016 ว่า นิตยสาร Shonen Jump GIGA จะกลับมาวางขายอีกครั้ง ช่วงฤดูใบไม้ผลิ 2017 ส่วนรายละเอียดเพิ่มเติม ติดตามได้ในนิตยสาร Shonen Jump รายสัปดาห์ ฉบับต่อๆไป

Shonen Jump GIGA หรือชื่อเดิมคือ Shonen Jump NEXT!! เป็นนิตยสารการ์ตูนรายเดือนที่ได้ออกวางจำหน่าย ช่วง ก.ค. 2016 จนถึง ต.ค. 2016 ก่อนจะประกาศหยุดตีพิมพ์อย่างไม่มีกำหนด แต่ถึงกระนั้น ทาง twitter หลักของ GIGA ได้ออกมาชี้แจงในภายหลัง เมื่อ 30 ธ.ค. 2016 ว่า ทาง Shueisha ยังไม่มีแผนยกเลิกนิตยสารหัวนี้แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ใน GIGA ฉบับที่ 4 ที่วางขายเมื่อ ต.ค. 2016 ได้มีการเปิดตัวนิตยสาร Shonen Jump X ขึ้น ซึ่งก็ทำให้หลายฝ่ายต่างคาดคะเนกันว่า X น่าจะเป็นนิตยสาที่รมาแทน GIGA

อนึ่ง Shonen Jump GIGA หรือ Shonen Jump NEXT!! ก็มีประวัติในการเปลี่ยนชื่อนิตยสารหลายครั้ง นับตั้งแต่ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1969 ภายใต้ชื่อ Shonen Jump เฉยๆ และมีสถานภาพเป็นนิตยสารหัวแยกจาก Jump รายสัปดาห์อีกที จากนั้น นิตยสารดังกล่าวตีพิมพ์ในรูปแบบรายฤดู ในช่วงปี 1980 พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น Akamaru Jump เมื่อปี 1996 แล้วก็เปลี่ยนชื่อเป็น Shonen Jump NEXT! เมื่อปี 2010 แล้วก็ Shonen Jump NEXT!! เมื่อปี 2014 พร้อมกับเปลี่ยนรูปแบบการวางจำหน่ายไปเป็น นิตยสารรายเดือนเว้นเดือนแทน


แหล่งข่าว : animenewsnetwork.com

 


Fate/Apocrypha' ประกาศทำอนิเมทีวีซีรี่ย์

Fate/Apocrypha หนึ่งในซีรี่ย์สปินออฟของตระกูล Fate ได้มีการประกาศทำเป็นอนิเมทีวีอย่างเป็นทางการแล้ว มีกำหนดออกฉายในปี 2017

Fate/Apocrypha เป็นเรื่องราวคู่ขนานจากเนื้อหาหลักของ Fate/stay night เมื่อจอกศักดิ์สิทธิ์ได้สูญหายจากเมือง Fuyuki หลังจากมหาสงครามจอกอันศักดิ์สิทธิ์ ครั้งที่ 3 และได้สูญหายไปเป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งช่วงปี 2000 ในช่วงเวลาเดียวกับ มหาสงครามจอกอันศักดิ์สิทธิ์ ครั้งที่ 5 ได้อุบัติขึ้น Yggdmillennia กลุ่มคนที่ชิงเอาจอกนั้น ได้ประกาศแยกตัวจากสมาคมจอมเวท พร้อมบอกว่าพวกตนได้ครอบครองจอกศักดิ์สิทธิ์นี้อยู่ ทำให้สมาคมจอมเวทได้ส่งจอมเวทนับ 50 คน เพื่อชิงจอกคืนมา แต่ก็ถูก Lancer of Black กำราบซะจนหมด ส่วนพวกที่เหลือก็พยายามที่จะสำรองระบบจอกศักดิ์สิทธิ์เอาไว้ นั่นก็คือการอนุญาตให้มีการอัญเชิญ Servants (หรือ ผู้รับใช้) ทั้ง 14 ตน ออกมาได้ ...ซึ่งก็นำไปสู่มหาสงครามจอกอันศักดิ์สิทธิ์ บนเกาะ Trifas และบนเกาะนั้นเอง ก็มีกลุ่มคน 2 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มดำ ซึ่งเป็นพวก Yggdramillennia และ กลุ่มแดง ที่เป็นคนของสมาคมจอมเวทที่ถูกส่งมาที่เกาะนี้ โดยตัวจอกนั้นได้อัญเชิญผู้นำที่รับบทเป็นตัวกลางของสงครามจอมอันศักดิ์สิทธิ์

สต๊าฟ
Director: Yoshiyuki Asai (Charlotte)
Series Composition: Yuichiro Higashide (Author of Fate/Apocrypha)
Character Design: Yuri Yamada
Music: Masaru Yoyoyama (Shigatsu wa Kimi no Uso)
Studio: A-1 Pictures


แหล่งข่าว : Otakomu , MAL

 


อากิระ โทริยามะ แชร์ประสบการณ์ 30 ปี ของการมีส่วนร่วมออกแบบตัวละครเกม Dragon Quest

อากิระ โทริยามะ นอกจากจะเป็นที่รู้จักกันดี ในฐานะของผู้เขียนการ์ตูน Dr.Slump , Dragon Ball แล้ว เขาก็ยังมีผลงานในฐานะของนักออกแบบตัวละครจากเกมวีดีโอดังต่างๆ ซึ่ง Dragon Quest จัดเป็นหนึ่งในผลงานการออกแบบที่ขึ้นชื่อของเขา และแฟนๆ DQ หลายต่อหลายคนต่างก็คุ้นเคยกันดี...... โดย อ.โทริยามะ ได้ออกมาพูดถึงความรู้สึกทั้งหมดที่ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบตัวละคร DQ ผ่านทางจดหมายที่มีการนำเสนอในรายการทีวีพิเศษ Dragon Quest 30th Soshite Arata na Densetsu e (Dragon Quest 30th: On to New Legends) ที่ออกฉายไปเมื่อ 29 ธ.ค. 2016 ซึ่งรายการดังกล่าวจัดทำขึ้นเพื่อฉลองครบรอบ 30 ปี ของเกมซีรี่ย์ DQ

อ.โทริยามะ สารภาพว่า เขานึกไม่ถึงเลยว่า DQ จะต่อยอดซีรี่ย์มาได้ยาวนานต่อเนื่องถึง 30 ปี และกลายเป็นเกมที่ได้รับความนิยมอย่างสูง โดยเนื้อความในจดหมายของเขาได้ระบุว่า "จริงๆแล้ว ผมไม่ชอบงานที่มีการทำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน เอามากๆเลยล่ะ" เขาบอกอีกว่า เขาไม่สามารถที่จะทำงานเดิมๆ ในระยะเวลานาน โดยเฉพาะเกม DQ ภาคแรกสุด เขาเป็นผู้ออกแบบตัวละครและมอนสเตอร์ในเกม มากกว่า 500 ตัว ซึ่งในช่วงที่เกมนี้ออกวางขายครั้งแรก เกมแนว RPG ยังไม่ได้รับความนิยมจากผู้เล่นมากนัก เลยทำให้ ผลงานของเขาที่ปรากฏในเกมนี้ ยังไม่เป็นที่รับรู้มากนัก

อ.โทริยามะ อธิบายต่อว่า ซึ่งในช่สวเวลาที่เขาทำงานให้กับเกม DQ เป็นช่วงที่ทำงานยากลำบากและสนุกที่สุด โดยเขาได้วาดภาพตัวละครหลักซึ่งเป็นพวกคนดี คนจริงจัง ออกมามากมาย ซึ่งเขาไม่ได้สนใจไปที่ภาพของตัวละครเป็นพิเศษ และมีเวลามาปรับเปลี่ยนตัวละครนั้นๆในภายหลังเพียงเล็กน้อย ซึ่งในขณะนั้น เขาได้พบเจอกับปัญหามากมาย เพราะต้องคำนึงถึงธีมแฟนตาซีของเกมด้วย "ผมทำงานซ้ำแล้วซ้ำอีก ในแต่ละครั้ง ซึ่งมันกลับเพิ่มความยุ่งยากมากกว่าเดิม มันเป็นสถานการณ์ที่ผมต้องวาดภาพโดยงัดเอาเคล็ดลับทุกอย่างที่ผมรู้ เอามาใช้อย่างจริงๆจังๆ" โดยเนื้อความในจดหมายเขา ยังระบุอีกว่า ภาพตัวละครแปลกๆที่เขารู้สึกชื่นชอบส่วนหนึ่ง กลับไม่ถูกนำไปใช้ รวมถึง เสรีภาพในการสร้างสรรค์รายละเอียดการออกแบบ ก็ถูกจำกัดลงเช่นกัน

เขากล่าวอีกว่า เขาก็มีความทรงจำเก่าๆ ในวันที่เขาสามารถวาดมอนสเตอร์ได้อย่างอิสระ ....ถึงแม้ว่า เขานั้นต้องทำงานโดยผ่านอุปสรรคปัญหาต่างๆมาเป็นเวลาหลายปี แต่เขานั้นพร้อมที่จะสละพลังกายของตน เพื่อที่จะร่วมทำงานให้กับ Dragon Quest XI ที่จะวางขายให้เล่น บนเครื่อง PlayStation 4, Nintendo 3DS, และ Nintendo Switch ในปี 2017 นี้

นอกจาก DQ แล้ว อ.โทริยามะ มีผลงานการออกแบบตัวละครเกมวีดีโออื่นๆ อย่างเช่น Blue Dragon และ Chrono Trigger เป็นต้น


แหล่งข่าว : Livedoor News , Yaraon! , animenewsnetwork.com

 


จอเงิน KanColle เรือรบโมเอะ เตรียมยกกองเรือ เข้าฉายบนโรง 4DX, MX4D ก.พ. 2017

เว็บไซต์หลักของหนังอนิเม Kantai Collection: KanColle ได้แจ้งว่า หนังอนิเมจอเงินเรือรบโมเอะเรื่องนี้ กำลังจะออกฉายบนโรงภาพยนตร์ ระบบ 4DX กับ MX4D ทั่วญี่ปุ่น ตั้งแต่วันที่ 11 ก.พ. 2017 โดยการออกฉายหนังเรื่องดังกล่าว บนโรงหนัง 4DX กับ MX4D ผู้ชมจะได้รับอรรถรสการรับชมหนังเพิ่มเติม ใกล้เคียงกับบรรยากาศหนัง จากเอฟเฟ็คต่างๆ ที่มีการปล่อยบนโรง อาทิ กลิ่น ,หมอก , ควัน , ละอองน้ำ เป็นต้น

จอเงิน KanColle ออกฉายที่ญี่ปุ่นครั้งแรก 26 พ.ย. 2016 สามารถจำหน่ายตั๋วได้ 70,000 ใบ และทำรายได้มากกว่า 100 ล้านเยน จากการออกฉาย 60 โรง ในสัปดาห์แรกที่ญี่ปุ่น และเปิดตัวครั้งแรก ด้วยอันดับที่ 5 บน Box Office ญี่ปุ่น


แหล่งข่าว : Moca News , animenewsnetwork.com

 


BTOOOM! ระเบิดตู้มต้ามสู่บทสุดท้าย ในฉบับรวมเล่ม 23

ฉบับรวมเล่มที่ 22 ของ BTOOOM! เกมระเบิดฝ่าวิกฤตมหาประลัย ของ อ.จุนยะ อิโนะอุเอะ ที่ออกวางขายไปในญี่ปุ่น เมื่อ 7 ม.ค. 2017 ได้เปิดเผยว่า มังงะเรื่องนี้ กำลังเข้าสู่บทสุดท้ายแล้ว ในฉบับรวมเล่ม 23 ที่มีกำหนดจะวางขายในเดือน พ.ค. 2017 ในญี่ปุ่น โดยปัจจุบัน เรื่องนี้เข้าสู่บทสุดท้ายในนิตยสาร Comic Bunch ฉบับ เม.ย. 2014 เป็นต้นมา

BTOOOM! ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 2009 และถูกทำเป็นอนิเมซีรี่ย์ เมื่อปี 2012 เป็นเรื่องราวของ ซากาโมโตะ หนุ่มนีทผู้เป็นถึงผู้เล่นระดับท็อปของเกมออนไลน์ Btooom! ซึ่งในวันหนึ่ง เขาตื่นขึ้นมาแล้วพบว่า ตนเองติดอยู่ในเกมนี้ กำลังอยู่บนเกาะร้อนชื้น ในขณะที่เขากำลังร้องขอความช่วยเหลือจากคนที่อยู่ห่างไกล คนผู้นั้นได้สนองกลับด้วยการปาระเบิดใส่ตัวเขา และแล้ว เขาก็ได้เผชิญกับการหลบหลีกระเบิดของจริง พร้อมกับหาทางในการออกจากเกมนี้

แหล่งข่าว : animenewsnetwork.com


I Am a Hero ข้าคือฮีโร่ กลับมาตีพิมพ์รวดเดียว อีก 7 ตอนสุดท้าย!!!

นิตยสาร Big Comic Spirits ฉบับที่ 6/2017 ได้แจ้งว่า มังงะ I Am a Hero หรือ ข้าคือฮีโร่ ของ อ.เคนโงะ อานาซาวะ จะกลับมาตีพิมพ์อีกครั้ง ในนิตยสารดังกล่าว ฉบับที่ 7 ที่จะวางขายในวันที่ 16 ม.ค. นี้ หลังจากหยุดตีพิมพ์ยาวตั้งแต่ พ.ย. 2016 ที่ผ่านมา ทว่า การกลับมาครั้งนี้ของการ์ตูนไล่ฆ่าซอมบี้เรื่องนี้ จะเป็นการดำเนินเรื่องราวบทสุดท้ายแบบรวดเดียว ในอีก 7 ตอนสุดท้าย

ข้าคือฮีโร่ เป็นเรื่องราวของ ฮิเดโอะ ซึซึกิ หนุ่มผู้ใฝ่ฝันอย่างเป็นนักเขียนการ์ตูน ผู้กำลังประสบปัญหาชีวิตหลายอย่าง ตั้งแต่ปัญหาไม่พอใจกับงานผู้ช่วยนักเขียนการ์ตูน รวมถึง ปัญหาความสัมพันธ์กับแฟนสาว จนกระทั่ง การแพร่ระบาดของไวรัส ZQN ที่ทำให้ผู้คนทั้งเมืองกลายสภาพเป็นซอมบี้ ไม่เว้นแม้แต่ เทคโกะ แฟนสาวของเขา ทำให้ ฮิเดโอะ ตัดสินใจหนีจากโตเกียว โดยพกปืนยาวอัดลมที่เขาชอบเล่นเป็นงานอดิเรก มาเป็นอาวุธป้องกันตัว จากนั้นเขาได้ออกผจญภัยพร้อมกับ ฮิโรมิ นักเรียนหญิง ม.ปลายที่เขาพบเจอโดยบังเอิญ ซึ่งการผจญภัยหลบหนีซอมบี้ของทั้งคู่ ได้ดำเนินต่อไป

มังงะเรื่องนี้ ตีพิมพ์ในนิตยสารดังกล่าวตั้งแต่ปี 2009 ปัจจุบันมียอดตีพิมพ์มากกว่า 6.5 ล้านเล่ม ซึ่งต่อมาเรื่องนี้ถูกนำไปทำในรูปแบบหนังคนแสดง ออกฉายเมื่อ 23 เม.ย. 2016 ซึ่งตัวหนังสามารถคว้ารางวัล Grand Audience Award กับ Award for Best Special Effects ของงานเทศกาลภาพยนตร์ Sitges ครั้งที่ 48 ณ ประเทศสเปน เมื่อ ต.ค. 2015

อีกทั้งเรื่องนี้ มีมังงะภาคแยกชุด I am a Hero in Nagasaki ลงออนไลน์ใน Yawaraka Spirits online เมื่อ 28 มี.ค. 2016 ซึ่งก่อนหน้านี้เคยลงภาคแยกชุด I am a Hero in Osaka เมื่อ มิ.ย. 2015

แหล่งข่าว : animenewsnetwork.com



อนิเม Blood-C กำลังจะถูกทำในรูปแบบ live action ออกฉาย ฤดูใบไม้ร่วง 2017

ข่าวจากเว็บไซต์ Asura Girl Project ที่ได้ประกาศว่า Blood-C อนิเมเลือดสาด ที่เป็นการผนึกกำลังระหว่าง Production I.G กับ CLAMP กำลังได้รับการดัดแปลงในรูปแบบหนังคนแสดง ในชื่อชุดว่า Asura Shōjo ~Blood-C Ibun~ (Asura Girl: Blood-C Another Story), มีกำหนดเข้าฉายที่ญี่ปุ่น ช่วงต้นฤดูใบไม้ร่วง 2017 โดยเรื่องราวของฉบับหนังคนแสดงนั้น จะเป็นเรื่องราวใหม่ทั้งหมด โดยเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นก่อนช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กับความขัดแย้งที่ระอุขึ้น ระหว่างชาวบ้านในหมู่บ้าน กับ กองกำลังตำรวจหน่วยพิเศษของญี่ปุ่น

นักแสดง :

Kaede Aono (นักแสดง จาก ละครเวที Blood-C: The Last Mind)
Ryūnosuke Matsumura (นักแสดง จาก ละครเวที Blood-C: The Last Mind)
Arata Furuta
Kanon Miyahara (นักแสดง จาก ละครเวที Blood-C: The Last Mind)
Maki Sakai
Tōru Tezuka
Ren Yagami
Yōji Tanaka
Miki Mizuno
Naoya Gōmoto
Eiji Takigawa (นักแสดง จาก ละครเวที Blood-C: The Last Mind)
Keisuke Minami (นักแสดง จาก ละครเวที Blood-C: The Last Mind)
Takashi Yūki
Yūki Tomotsune
Mashū Ishiwatari (นักแสดง จาก ละครเวที Blood-C: The Last Mind)
Takeshi Nakayama
Riku Tokimitsu
Kaname Kohakura
Kōdai Miyagi
Asami Yoshikawa (นักแสดง จาก ละครเวที Blood-C: The Last Mind)
Judai Shirakashi
Ginpunchō

Shutaro Oku (Persona 3, Persona 4, ละครเวที Persona 4: The Ultimate in Mayonaka Arena ) รับหน้าที่กำกับหนัง ขณะที่ Jun'ichi Fujisaku เป็นผู้เขียนบท โดย Oku เคยรับหน้าที่กำกับละครเวทีของ Blood-C ชุด Blood-C: The Last Mind เมื่อปี 2015 ส่วน Fujisaku เป็นผู้เขียนบท Blood-C ฉบับอนิเมซีรี่ย์ ปี 2011 แล้วก็ ละครเวที โดยที่ Sennosuke Okumura เป็นผู้อำนวยการสร้าง Kentarō Nakao เป็นผู้เรียบเรียงดนตรีประกอบ

อนิเม Blood-C ได้ CLAMP มารับหน้าที่แต่งเรื่องและออกแบบตัวละคร ทั้งฉบับอนิเมซีรี่ย์ ปี 2011 และหนังอนิเมชุด Blood-C: The Last Dark เมื่อปี 2012 ซึ่งทั้งอนิเมซีรี่ย์ กับ หนังอนิเมของเรื่องนี้ ได้ Production I.G เป็นผู้ผลิตทั้งหมด อีกทั้ง เรื่องนี้ มีการตีพิมพ์ในรูปแบบมังงะโดย Ranmaru Kotone ตีพิมพ์ในนิตยสาร Shōnen Ace ช่วง พ.ค. 2011 - ส.ค. 2012


แหล่งข่าวและรูปภาพ : Comic Natalie , animenewsnetwork.com

 


คู่หูคู่แซะ Yamakan & Otaking ออกโรงจวกระบบคณะกรรมการผลิตอนิเม

Yutaka Yamamoto หรือ "Yamakan" ผู้กำกับอนิเมจาก The Melancholy of Haruhi Suzumiya, Wake Up, Girls!, Kannagi: Crazy Shrine Maidens กับ Toshio Okada, หรือ Otaking อดีตประธานของ Gainax ก็ถือเป็นคู่หูที่มักจะชอบวิพากษ์วิจารณ์วงการอนิเมญี่ปุ่นอย่างดุเด็ดเผ็ดมันในหลายๆครั้ง โดยเฉพาะช่วงหลังๆ ทั้งคู่มักชอบเคลมว่าอนิเมนั้นตายแล้ว ตามงานต่างๆที่พวกเขาได้รับเชิญ อยู่บ่อยครั้ง

ล่าสุดเมื่อช่วงคริสต์มาสอีฟ 24 ธ.ค. 2016 ทั้งคู่ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นเกี่ยวกับระบบคณะกรรมการผลิต ( production committee ) ที่มีส่วนร่วมและอยู่เบื้องหลังในการผลิตอนิเมเรื่องต่างๆ โดยทั้งคู่ได้เกริ่นนำว่า "ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว ทาสขบถจะต้องเกิดขึ้นอยู่ดี"

ทั้งคู่มองว่า ระบบดังกล่าวนี้ เป็นวิธีการกระจายความเสี่ยงแก่บรรดาผู้ร่วมถือหุ้น เพื่อเกิดการระดมทุนผูกมัดกับอนิเมนั้นๆ ซึ่งบริษัทที่เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการผลิต ที่ต้องเน้นรักษาการควบคุมกระบวนการผลิตอนิเมของพวกเขา จะได้อย่างน้อย 40% ของค่าลิขสิทธิ์ แม้ว่า การมาของบริษัทจากจีนซึ่งมีความตั้งใจในการทุ่มงบสร้างอนิเมอย่างสุดตัวถึง 3 พันล้านเยนแท้ๆ แต่ทางคณะกรรมการผลิต มักจะตอบรับดีลนี้อย่างไม่เต็มใจ หากเงินจำนวนมหาศาลนี้ มันได้สั่นคลอนถึงจำนวนหุ้นที่พวกเขาถืออยู่ โดย Yamakan บอกว่า หากบริษัทร่วมผลิตอนิเม สามารถเสนอเงินจำนวนเพียง 40 ล้านเยน นั่นหมายความว่า ต้นทุนการผลิตอนิเมจะถูกเซ็ตไว้ที่ 100 ล้านเยน เท่านั้น

Okada กล่าวอีกว่า หากบริษัทจากจีน ยังคงทุ่มหนักราว 2 พันล้านเยน ทางคณะกรรมการผลิตจะต้องนำเงินจำนวนนี้ แบ่งให้กับโปรเจ็คต่างๅมากถึง 10 โปรเจ็ค ด้วยกัน นี่ล่ะเป็นปัจจัยหลักที่มีการเพิ่มจำนวนการผลิตอนิเมในทุกวันนี้ แม้ว่าจะต้องแลกกับการสูญเสียคุณภาพของตัวอนิเมที่ผลิตอยู่ด้วยก็ตาม เขาจึงคร่ำครวญว่า "หากเรามีทุนถึงพันล้านเยน เราสามารถทำหนังอนิเมเรื่องเยี่ยมได้เรื่องนึงเลย" แต่ก็ต้องแลกกับหุ้นส่วนที่จะตกเป็นของบริษัทจีน 100% "คนที่ยังต้องการระบบคณะกรรมการผลิตอยู่นั้น หลักๆก็เพราะพวกเขาต้องการเงินถึงมือกันนะแหละ"

Okada ได้ออกโรงสนับสนุนแนวคิดที่ว่าด้วย "การกำจัดเหล่าคนวัยกลางคนที่เป็นสมาชิกคณะกรรมการผลิตอนิเม และพยายามติดต่อกับผู้จัดหาทุนชาวจีนโดยตรงแทน" ขณะที่ Yamamoto ไม่ต้องการให้เรื่องราวใหญ่โตไปมากกว่านี้ ต้องการแค่เพียง "เปลี่ยนแนวคิด" ในการระดมหาเงินทุน และให้คุณค่ากับการสร้างอนิเมแต่ละเรื่องให้มากขึ้น

รูปล่างซ้ายไปขวา : Otaking , Yamakan


แหล่งข่าวและรูปภาพ : Nico Nico News , animenewsnetwork.com



อากิระ คามิยะ เผยเบื้องลึกระบบค่าจ้าง วงการนักพากย์ญี่ปุ่น

อากิระ คามิยะ นักพากย์หนุ่มใหญ่วัยเก๋า วัย 70 ปี เจ้าของเสียงพากย์ตัวละครจากอนิเมยุคคลาสสิคหลายเรื่อง อย่าง เคนชิโร่ จาก Fist of the North Star (หมัดเทพเจ้าดาวเหนือ), คินนิคุแมน จาก Kinnikuman , เรียว ซาเอบะ จาก City Hunter (ดูจากบทบาทการพากย์ของเขาแล้ว จะเรียกว่า เป็น "น้าต๋อย เซมเบ้" แห่งญี่ปุ่น ก็ว่าได้ เพราะทั้งสองคนนั้น มักได้พากย์เสียงตัวละครเดียวกัน ในเวอร์ชั่นญี่ปุ่น/ไทย) ได้มาเปิดเผยเบื้องลึกเบื้องหลังเกี่ยวกับประสบการณ์การเป็นนักพากย์ของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของค่าจ้างนักพากย์ ผ่านรายการทอล์กโชว์ Jikkuri Kiitarou ~ Star Kinkyou (Hi) Houkoku ทางช่อง TV Tokyo

ย้อนกลับไปปี 1983 ซึ่งเป็นช่วงเวลาทีเขาพากย์เสียงให้กับ Kinnikuman คามิยะ กล่าวว่า การจ่ายเงินค่าจ้างแก่นักพากย์ จะอยู่ภายใต้ระบบโครงสร้างเงินเดือนแบ่งตามระดับ ฉะนั้น นักพากย์ผู้มีประสบการณ์น้อย จะเริ่มต้นด้วยเรตค่าจ้างน้อยๆ ก่อนที่จะเพิ่มมากขึ้น ตามประสบการณ์ที่มีมากขึ้น และเมื่อเขาได้พากย์เสียงในบทนำของอนิเม Kinnikuman เขาได้รับค่าจ้างเพียง 3,000 เยน ต่อตอน เท่านั้น!!!

จากนั้น ค่าจ้างของค่ามิยะ ก็อัพสูงขึ้น จนถึง 37,000 เยนต่อตอน เลยทีเดียว แม้ว่าตัวคามิยะเองจะยอมรับว่า เขายอมรับในระบบจ่ายค่าจ้างที่ใช้ในทุกวันนี้ ซึ่งบรรดานักพากย์รุ่นใหม่สามารถเริ่มต้นค่าจ้างได้มากถึง 15,000 เยน ต่อ ตอน เลย

คามิยะ เปิดเผยอีกว่า สิ่งที่เป็นแหล่งทำเงินให้แก่นักพากย์ประสบการณ์สูงอย่างแท้จริง ก็คือ เครื่องเล่นปาจิงโกะ ซึ่งสามารถทำรายได้ให้แก่ตัวเขา อย่างน้อยที่สุดราว 500,000 เยนต่องานเลย และโอกาสที่จะได้รับค่าจ้างถึงล้านเยนต่องานนึงนั้น ก็ไม่ไกลเกินเอื้อม เช่นกัน


แหล่งข่าว : Yahoo! News Japan , Otakomu , crunchyroll.com

 


ไลท์โนเวลขายดีประจำปี 2016 ของ Shosen Book Tower

Shosen Book Tower ร้านหนังสือแห่งหนึ่งในย่านอากิฮาบาระ กรุงโตเกียว ได้จัดอันดับไลท์โนเวลขายดีประจำปี 2016 ที่มีการรวบรวมข้อมูล ตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2015 - 30 พ.ย. 2016 โดยเรื่องที่ขายดี 10 อันดับแรก ดังนี้

10.) Regarding Reincarnated to Slime (เกิดใหม่ทั้งทีก็เป็นสไลม์ไปซะแล้ว)
แต่งเรื่องโดย Fuse ภาพประกอบโดย Mitz Vah.

09.) Honzuki no Gekokujou ("Booklover's Takeover")
แต่งเรื่องโดย Miya Kazuki ภาพประกอบโดย You Shiina.

08.) Is It Wrong to Try to Pick Up Girls in a Dungeon? On the Side: Sword Oratoria (ผิดหรือไง ถ้าใจอยากจะพบรักในดันเจี้ยน)
แต่งเรื่องโดย Fujino Ōmori ภาพประกอบโดย Kiyotaka Haimura.

07.) GATE หน่วยรบตะลุยโลกต่างมิติ
แต่งเรื่องโดย Takumi Yanai ภาพประกอบโดย Kurojishi.

06.) The Irregular at Magic High School (ปริศนาพี่น้องโรงเรียนเวท)
แต่งเรื่องโดย Tsutomu Satou ภาพประกอบโดย Kana Ishida.

05.) Overlord
แต่งเรื่องโดย Kugane Maruyama ภาพประกอบโดย so-bin.

04.) Re:ZERO -Starting Life in Another World- (Re:Zero รีเซทชีวิต ฝ่าวิกฤตต่างโลก)
แต่งเรื่องโดย Tappei Nagatsuki ภาพประกอบโดย Shinichirou Otsuka.

03.) Sword Art Online
แต่งเรื่องโดย Reki Kawahara ภาพประกอบโดย abec.

02.) Grimgar of Fantasy and Ash (ขี้เถ้าในกริมการ์แดนมายา)
แต่งเรื่องโดย Ao Jyumonji ภาพประกอบโดย Eiri Shirai.

01.) KONOSUBA -God's blessing on this wonderful world! (ขอให้โชคดีมีชัยบนโลกแฟนตาซี)
แต่งเรื่องโดย Natsume Akatsuki ภาพประกอบโดย Kurone Mishima.


แหล่งข่าว : Mainichi Shimbun , Otakomu , crunchyroll.com


10 อันดับชุดคอสเพลย์ขายดี ประจำปี 2016 ของร้าน Cospa

ตามธรรมเนียมทุกๆปีใหม่ของร้าน Cospa ร้านค้าชุด-อุปกรณ์แต่งคอสเพลย์ร้านดังแห่งกรุงโตเกียวญี่ปุ่น ได้จัดอันดับชุดคอสเพลย์ยอดนิยม ที่บรรดาชาวเลเยอร์นิยมซื้อ-เช่า มากที่สุด ประจำปี โดย 10 อันดับชุดคอสเพลย์ขายดีประจำปี 2016 ที่ผ่านมา ก็เป็นไปตามนี้
  1. Sound! Euphonium: เครื่องแบบนร.หญิง ฤดูร้อน
  2. High School Fleet: เครื่องแบบนร.
  3. Love Live! Sunshine!!: เครื่องแบบนร.
  4. Persona 5: เครื่องแบบนร.ชาย
  5. Re:ZERO -Starting Life in Another World-
  6. Girls und Panzer: เครื่องแบบแจ็คเก็ตทีมรถถัง โรงเรียนสตรี Kuromorimine
  7. Kan Colle: Kashima
  8. Brave Witches: Naoe
  9. Danganronpa: เสื้อโค้ท ของ Nagito
  10. Code Geass: Lelouch of the Rebellion R2: เครื่องแบบนร.หญิง



 

แหล่งข่าว : animenewsnetwork.com

 


ผกก. Osamu Yamasaki วิจารณ์ถึงสภาพการทำงานปัจจุบันของวงการอนิเมญี่ปุ่น

สืบเนื่องมาจากปัญหาอันเรื้อรังที่เกิดขึ้นกับคนทำงานในวงการอนิเมญี่ปุ่น ที่นับวันจะลำบากลำบนมากขึ้น จนคนอนิเมญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งต่างพากันออกมาระบายถึงเรื่องนี้ รวมถึง เคสล่าสุด ที่มีอนิเมเตอร์ของสตูดิโอ P.A. Works ออกมาโจมตีเกี่ยวกับค่าจ้างผ่านโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค ซะจนทำเอาสตูดิโอต้นสังกัดแทบเต้นเป็นเจ้าเข้า

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทาง Business Journal ได้สัมภาษณ์พูดคุยกับ Osamu Yamasaki ผกก.อนิเม จาก Hakuōki และ Toward the Terra รวมถึงเป็นผู้บริหารของสมาคมผู้สร้างอนิเมชั่นญี่ปุ่น เกี่ยวกับปัญหาสภาพการทำงานในปัจจุบันของอนิเมเตอร์ญี่ปุ่น โดยตัว Yamasaki ก็ยืนยันว่า เขามีชีวิตความเป็นอยู่อันยากลำบากในฐานะของอนิเมเตอร์จริงๆ นะแหละ

อนิเมเตอร์จะได้รับค่าจ้างตามจำนวนงานที่ได้ ซึ่งการทำงานด้วยทักษะการวาดภาพ และการทำงานเร็ว จะสามารถทำเงินได้มากถึง 5-6 ล้านเยน สำหรับอนิเมเตอร์วัย 20 ปี อย่างไรก็ตาม มันก็มาพร้อมกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น และ ชั่วโมงการทำงานของอนิเมเตอร์ที่สูงขึ้น มากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งมันเป็นเรื่องผิดปกติสำหรับอนิเมเตอร์ที่คิดจะต้องอดออมเงิน อย่างน้อย 1 ล้านเยนต่อปี โดยในช่วง 3 ปีแรกที่อนิเมเตอร์อยู่ในช่วงพัฒนาทักษะในฐานะตำแหน่งงาน in-betweener ซึ่งถือเป็นงานที่ยากลำบาก เล่นเอาหลายคนถึงกับหมดไฟจากการทำงาน และตัดสินลาออกก่อนที่งานนั้นจะทำเสร็จ

ในขณะที่ญี่ปุ่น อุดมไปด้วยหนุ่ม-สาว ผู้มีความมานะอุตสาหะ ความสามารถ ให้กับวงการอนิเมชั่น อยู่มากมาย แต่ท้ายสุดแล้ว คนเหล่านั้นส่วนใหญ่ ต่างสูญเสียความฝันและล้มเลิกมันไป Yamasaki ประเมินว่า "ปัจจุบันนี้ มีเพียงแค่หนึ่งในทุกๆสิบคนเท่านั้น ที่ยังคงต่อสู้ในวงการอนิเมต่อ" มีผลทำให้กลุ่มคนกลุ่มใหญ่ที่สุดในวงการอนิเมชั่น จะอยู่ในช่วงอายุ 40-50 ปี ทั้งนั้น ซึ่งคนส่วนนี้ต่างได้แรงบันดาลใจจากอนิเมสมัยนั้น อย่าง Space Battleship Yamato และ Mobile Suit Gundam "ในอีก 10 ปีข้างหน้า คนในวงการส่วนใหญ่จะอยู่ในวัย 60 ขึ้นไป และอนาคตของการผลิตอนิเมชั่นอาจเลวร้ายลงไปมากกว่านี้"

สตูดิโออนิเมชั่นต่างก็แข่งขันกัน ด้วยการเสนอ ค่าจ้าง , ประสิทธิภาพการผลิตสูง และ การจ้างงานอย่างมั่นคง เป็นสำคัญ แน่นอนว่า สตูดิโอขนาดเล็กและกลาง จะสูญเสียคนทำงานผู้มีทักษะสูงให้แก่สตูดิโอขนาดใหญ่ หลักๆก็มาจากการที่สตูดิโอเหล่านั้นขาดแรงจูงใจในการอบรมฝึกฝนทักษะอนิเมเตอร์ แต่ไปจ้างพวกฟรีแลนซ์เป็นหลัก พร้อมกับกดดันจนผลิตออกมาเป็นงาน ผลก็คือ สตูดิโอขนาดเล็กจะเต็มไปด้วยคนทำงานผู้ไม่มีประสบการณ์ ทักษะความสามารถต่ำ , ประสิทธิภาพในการผลิตต่ำ และ ค่าจ้างต่ำ และกลายเป็นตัวขับดันให้อนิเมเตอร์ส่วนใหญ่ ไปร่วมงานกับสตูดิโอขนาดใหญ่กว่า แล้วก็สร้างวัฏจักรเลวร้ายนี้ให้เกิดขึ้นต่อไป

และเพื่อที่จะรองรับกับการผลิตอนิเมให้เพิ่มขึ้นในแต่ละซีซั่น สตูดิโอขนาดใหญ่ก็จะประสานงานกับสตูดิโอขนาดเล็กให้มาร่วมทำโปรเจ็คร่วมกัน แต่ขอบเขตของงาน หลังจากเสียค่าโปรดักชั่นแล้วนั้น มันกลับลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ซึ่งหากอนิเมเรื่องนั้นๆออกมาไม่เป็นที่นิยม ก็จะเป็นการก่อหนี้ให้แก่สตูดิโอหลายแห่งเป็นจำนวนมาก (หลักๆมาจากการดีลระหว่างสปอนเซอร์กับบริษัทเอเจนซี่) แม้ว่า อนิเมเรื่องฮิตอย่าง your name. สามารถทำเงินสร้างรายได้สูง จนตบเป็นรางวัลโบนัสแก่ทีมงานกันอย่างทั่วถึง แม้กระทั่งพวก in-betweeners ก็จะได้รับด้วย แต่ในความเป็นจริงแล้ว สต๊าฟส่วนใหญ่จากโปรเจ็คอนิเมหลายเรื่อง ยอดรายได้แทบไม่มีผลอะไรกับพวกเขาเลย โดย Yamasaki ได้ลั่นออกมาว่า "กำไรมันจะหดหายลงไป ให้กับอนิเมเตอร์ทุกคน ไม่เพียงเฉพาะพวกที่เข้ามาใหม่เท่านั้น "

จากที่กล่าวมาข้างต้น แล้วทำไมอนิเมเตอร์ทำนวนมากจึงตัดสินใจที่จะกัดฟันสู้ต่อ? แน่นอนว่า เพราะพวกเขารักในงานที่ทำ แต่ส่วนใหญ่แล้ว มันมาจากความชอบคลั่งไคล้ในตัวอนิเมกับการวาดภาพ ที่ช่วยกระตุ้นให้อนิเมเตอร์ทั้งหลายตัดสินใจเข้าสู่วงการ และสิ่งนั้นก็ช่วยให้พวกเขาเดินหน้าทำงานเหล่านี้ต่อไป Yamasaki ได้เสริมด้วยว่า "อนิเมเตอร์น่ะ ไม่ใช่คนประเภทกังวลเรื่องเงินทอง หรือ ชอบรวมกลุ่มกันต่อรองการจัดการเรื่องค่าจ้างคุณภาพชีวิต ซึ่งมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ชอบทำเสียงแข็ง" เขายังเชื่อมั่นว่า ผกก.หลายคนมักจะชอบแชร์เรื่องราวทำนองวิกฤติวงการอนิเม อย่างที่ Hideaki Anno แห่ง Neon Genesis Evangelion เคยพูดไว้เมื่อปี 2015 ซึ่งในตอนนั้น Anno มองว่า การขาดทรัพยากรบุคคล และการระดมทุน เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้วงการอนิเมจะเสื่อมถอยลงไปในอีก 5 ปี "บางที วงการอนิเมจำเป็นจะต้องสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่กันได้แล้ว" Yamasaki กล่าวทิ้งท้าย

 

แหล่งข่าว : Biz-Journal.jp , animenewsnetwork.com


 

 
free hit counter javascript