ก็กลับมาแนะนำการ์ตูนกันอีกครั้งครับ ซึ่งนานๆจะมาแนะนำหนหนึ่ง ซึ่งเรื่องที่จะแนะนำนั้นก็คงจะถูกใจบรรดาคอกีฬายัดห่วง นั่นก็คือเรื่อง Harlem Beat หรือชื่อในภาษาไทยคือ จังหวะคนจริง ซึ่งเรื่องนี้ก็เคยลงใน KC Weekly มาก่อน และก็เป็นการ์ตูนแนวกีฬาบาสเก็ตบอลที่ได้รับการตอบรับจากคนอ่านบ้านเราเป็นอย่างดี จนอดไม่ได้ที่จะมีคนนำเรื่องนี้ไปเปรียบกับ สแลมดังก์ แต่รับรองว่า เรื่องนี้มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ต่างจากสแลมดังก์มากครับ
เนื้อเรื่องของฮาร์เล็ม บีท นั้น ก็คือเรื่องราวการแข่งขันบาสเก็ตบอลม.ปลาย เพียงแต่เรื่องนี้ดันเน้นแข่งบาสกัน 2 ประเภท คือ บาสเก็ตบอลธรรมดาทั่วไป กับ สตรีทบาสเก็ตบอล หรือ บาสฯข้างถนนนั่นเอง แถมมีการแทรกเนื้อหาเบาๆ หรือ ดราม่าหนักๆ ในช่วงที่ไม่มีการแข่งบาสฯอีกด้วย ซึ่งมี นารุเซะ โทรุ เป็นตัวเดินเรื่อง ซึ่งนารุเซะนั้นก็เป็นหนุ่มตัวสำรองมาตลอดตั้งแต่อยู่ชมรมฟุตบอลตอนม.ต้น พอขึ้นม.ปลายก็เข้ามาที่ชมรมบาสเก็ตบอลของรร.โจนัน
ตามคำชักขวนของเพื่อน ประกอบกับปลื้มในฝีมือบาสของ ซากุระอิ ชูอิจิ ดาวดังประจำโรงเรียน
แต่ทว่า เขายังคงต้องเป็นตัวสำรองต่อไป จนกระทั่งวันหนึ่ง เขาได้พบกับ คุสึดะ
มิซึคิ สาวงามที่พามาให้เขารู้จักกับบาสเก็ตบอลข้างถนน(Street Bas) และสิ่งนั้นเองที่ทำให้ชีวิตของนารุเซะเปลี่ยนไป
ในแง่ลายเส้น ถือว่าใช้ได้ ทำออกมาได้ดี แต่สัดส่วนอาจมีผิดอยู่บ้างบางจุด และการที่ตัวละครของเรื่องนี้หลายๆคนนั้นค่อนข้างจะเอาแบบมาจากดาราดังๆ(แต่ก็ไม่ค่อยจะเหมือน)
แต่ก็สนุกไปกับการเดาว่าตัวละครตัวนี้หน้าเหมือนใคร ส่วนตัวละครก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
มีความเป็นมาที่น่าสนใจและขมขื่นซึ่งถือว่าเป็นจุดดีของเรื่องนี้ แต่คนเขียนน่าจะตัดตัวละครที่มันไม่จำเป็นออกไปบ้าง
เพราะจำนวนเล่มมากขึ้น ตัวละครใหม่ๆมากขึ้น ซึ่งทำให้ตัวละครบางตัวที่โผล่มาตั้งแต่เล่มแรกนั้น
ถูกลดบทบาทลงไปด้วย
ด้านเนื้อเรื่อง ถือว่าทำได้อย่างลงตัวเลย ในส่วนที่เป็นการแข่งขันบาส ฉากดราม่า
และฉากตลก ทำให้อ่านแล้วได้หลากอารมณ์ แม้ว่าการลำดับช่องการเคลื่อนไหวนั้นบางทีอาจดูขัดๆกันอยู่
แต่การนี้มีเนื้อเรื่องทั้งสตรีทบาสและบาสโรงเรียน ทำให้อ่านแล้วก็ยังงงๆอยู่ว่าตกลงจะเน้นเนื้อเรื่องส่วนไหนมากกว่ากันแน่
ส่วนความสนุกถ้าจะนับสัดส่วนๆกันจริงในเรื่องนี้นั้น จะพบว่าจะเน้นปริมาณดราม่ามากกว่าฉากแข่งขันบาส
ซึ่งทำให้คนที่ชอบอ่านแบบเน้นความมันส์นั้นอาจไม่ประทับใจจุดนี้ซักเท่าไหร่
แต่ก็เพราะบางตอนที่ไม่ใช่การแข่งบาสนั้น เป็นตอนที่เบาๆและก็ตลก รวมไปถึงการ์ตูนสั้นคั่นระหว่างตอน หรือ ท้ายเล่มนั้น ถึงแม้ว่าอาจไม่ตลกมาก
แต่ก็พอทำให้ประทับใจในส่วนนี้ได้บ้าง ส่วนในตอนที่เป็นดราม่านั้น ถือว่าทำได้ดีมาก
แม้อาจไม่กระชากใจซักหน่อย แต่ก็ทำให้เรารู้สึกว่ามันรันทดจริงๆ
ส่วนสาระที่ได้นั้น ก็ได้ความรู้เกี่ยวกับการเล่นบาส2ประเภท
รู้จักกับการใช้ชีวิตในวัยรุ่นให้มีคุณค่ามากที่สุด เพราะเรื่องนี้ได้สะท้อนค่านิยมและสังคมของวัยรุ่นญี่ปุ่นในปัจจุบันด้วยว่าวัยรุ่นส่วนหนึ่งยังประพฤติตัวเหลวแหลก
ครอบครัวแตกแยก ไม่รู้จักการคบเพื่อนที่ดี ทำให้เกิดผลร้ายแก่ตนเองและผู้อื่น
ซึ่งนารุเซะก็ได้ทำให้เห็นเป็นตัวอย่างว่าการคบคนที่ดีนั้นเป็นเช่นไร และทำให้ซาวามูระกลับสู่หนทางที่สว่าง
และมีอีกสิ่งหนึ่งที่ได้จากเรื่องนี้ก็คือ อย่าเล่นกีฬาเพื่อการพนัน
|