King Sweet : ชิงชัยความเป็น 1 สุดยอดพ่อครัวเค้ก ขนมหวาน





ผู้แต่ง
ฮิโรโตะ โออิชิ,จิเอโกะ อาซาสุมะ
ประเภท
แอ็คชั่นทำอาหาร
รวมเล่ม
5 เล่ม (จบ)
สำนักพิมพ์
เนชั่น เอ็ดดูเทนเมนท์

  นานๆจะมานั่งแนะนำ-วิจารณ์การ์ตูนที ช่วงนี้ก็เป็นช่วงที่เด็กๆเขาปิดเทอมกัน แน่นอนว่า ในสมัยเด็กของใครบางคน หลังจากที่เล่นกับเพื่อนๆเสร็จแล้ว คุณแม่หรือผู้ปกครองจะต้องมาเสริฟของว่างมาให้กินทุกที ของว่างที่ว่าก็มีทั้ง ขนมหวานพวก ลอดช่อง ซาหริ่ม หรือ ผลไม้อะไรทำนองนี้ แต่ถ้าเป็นของว่างราคาสูงขึ้นมาหน่อย ก็ต้องเป็นพวกขนมปัง หรือ เค้ก จากร้านเบเกอรี่ต่างๆ

  พอพูดถึงเรื่องพวกนี้ทีไร ก็น้ำลายสอ เฮ้ย!!! ก็เข้าทางกับการ์ตูนที่เราจะมาแนะนำในคราวนี้ ซึ่งก็เกี่ยวกับของหวานจำพวกเค้กซึ่งดูแล้วน่ากินน่าอร่อยทั้งนั้น นั่นก็คือเรื่อง King Sweet ตำรับลับจอมราชันย์ นั่นเอง ส่วนหนึ่งที่อยากจะแนะนำเรื่องนี้นอกจากจะเป็นการ์ตูนที่ว่าด้วยการแข่งทำเค้กที่บางคนเคยเห็นกันในรายการ TV Champion ว่ามีความน่าสนใจมากซักแค่ไหนแล้วนั้น อีกจุดหนึ่งก็คงจะหนีไม่พ้นลายเส้นตัวการ์ตูนที่ดูแล้วสะดุดตา ชวนศิลปินจริงๆ ได้อารมณ์ความรู้สึกผ่อนคลาย ร่าเริงชวนให้เด็กๆอ่าน เสียแต่ว่า คนที่ชอบการ์ตูนลายเส้นงามๆ อาจไม่พิศมัยเรื่องนี้เท่าไหร่ ยังไงซะ ลายเส้นก็ยังไม่สำคัญ เท่ากับเนื้อเรื่องที่นำเสนออยู่ดีล่ะครับ

  สำหรับ King Sweet ตำรับลับจอมราชันย์ นั้นก็เป็นเรื่องราวการแข่งขันชิงชัยในการเป็นสุดยอดเจ้าแห่งขนมหวาน โดยให้ พ่อหนุ่ม อาราตะ อาคางาว่า เป็นตัวเดินเรื่อง โดยเขานั้นมีฉายาที่เขาเป็นคนตั้งเองว่า ปาติซีแยร์พเนจร (ปาติซีแยร์ คือ พ่อครัวทำขนมหวาน) เขาได้เรียนรู้สูตรทำขนมมาจาก จิโร่ คุณพ่อของเขา ซึ่งความจำเสื่อมหลังจากประสบอุบัติเหตุเมื่ออาราตะยังเป็นเด็ก และจากนั้นเขาก็หนีหายไป อาราตะจึงต้องออกเดินทางเพื่อตามหาคุณพ่อให้เจอเข้าซักวัน เขาเดินทางไปจนกระทั่งพบกับร้าน เอตวล ดู เซ็ท ร้านเค้กซึ่งเป็นร้านที่พ่อของเขาเคยทำงาน อาราตะจึงตัดสินใจทำงานที่ร้านนี้ พร้อมกับได้ศึกษาเรียนรู้ประสบการณ์ต่างๆเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน โนโบรุ คาจิวาระ ฉายา รัว เดอ ปาติซีแยร์ (เจ้าแห่งพ่อครัวทำขนมหวาน) กลับมาที่ร้าน จึงเกิดการท้าทาย แข่งขันกันในร้าน ซึ่งตัวของโนโบรุเองนั้น ในตอนเด็กเขาเคยได้ชิมเค้กฝีมือของจิโร่อีกด้วย และตลอดทั้งเรื่อง ทั้งสองจะต้องช่วยกันจนถึงชิงชัยเพื่อชิงความเป็น 1 ของราชาของหวาน และ ให้ จิโร่ ยอมรับอีกด้วย

  โดยรวมในตลอด 5 เล่มจบของเรื่องนี้ ถึงพล็อตเรื่องอาจธรรมดาไปซักหน่อย แถมอ่านแล้วอาจงงกับศัพท์ภาษาฝรั่งเศสไปบ้าง(โชคดีที่บางคำมีแปลเอาไว้ด้วย) ก็จัดเป็นเรื่องที่อ่านแล้วไม่เครียดเลย อ่านไปแก้หิวไป(หรือเปล่า)ได้ดี ได้ความรู้เรื่องส่วนผสม วิธีการทำเค้กบ้าง เสียตรงที่ เค้กบางชนิดในเรื่อง ต้องใช้ทักษะสูงมาก จึงยากแก่การทำตาม แถมบางฉากก็เน้นอารมณ์ซึ้ง สะเทือนใจ ประทับใจ ได้ดี (โดยเฉพาะหน้าฉากจบ ยอมรับว่าเกือบทำเอาผู้เขียนแอบร้องไห้ตามไปด้วย จะเป็นแบบไหนนั้น ลองไปหาอ่านเอานะครับ )

  เรื่องนี้ก็มีข้อดีอย่างหนึ่ง ตรงการผูกเรื่องในแง่โศกนาฏกรรมที่ตัวละครทั้งสองได้พบ จนกลายเป็นเป้าหมายของตัวละครนั้นๆ ทั้ง อาราตะ และ โนโบรุ อยากจะพบ จิโร่ เหมือนกัน อีกทั้งลักษณะนิสัยของ อาราตะ กับ โนโบรุ ก็ยังแตกต่างกันสุดขั้ว โดยคนแรกเป็นชายหนุ่มผู้ร่าเริง จิตใจดี เต็มไปด้วยความหวัง ไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ ส่วนคนหลังนั้นก็เก่ง มีฝีมือทำเค้กเยี่ยม แต่อีโก้สูงกว่าใคร ชอบทำอะไรคนเดียว เลยมีมนุษย์สัมพันธ์ค่อนข้างแย่ ซึ่งความแตกต่างดังกล่าวก็ช่วยเสริมให้มีความน่าสนใจขึ้น รวมไปถึงเนื้อเรื่องนั้นก็ยังสะท้อนให้เห็นถึงชีวิตของคนเราจริงๆว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ดูเหมือนจะราบรื่น แต่กลับมีอุปสรรคต่างๆโผล่มาทุกที เรื่องนี้ก็เช่นกัน ทั้งตอนที่อาราตะจะนำขนมที่ทำไปส่งที่ร้านเอตวล ดู เซ็ท แต่กลับทำขนมตัวเองเละ เพื่อช่วยเหลือเด็กผู้หญิงในระหว่างทาง หรือ การพิสูจน์ตัวเองของอาราตะต่อเชฟอาดาจิ กับโจทย์ทำเค้กอะไรก็ได้ หากขายได้ซักชิ้นก็จะรับเขาเข้าทำงาน ซึ่งโจทย์ดูเหมือนง่าย แต่กว่าจะขายได้ก็ยากเย็นแสนเข็ญ จากเหตุการณ์ดังกล่าวก็ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า ไม่ว่าจะทำสิ่งใดให้สำเร็จ ย่อมต้องมีการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม และ ประยุกต์ใช้ให้ถูกต้อง

  อีกสิ่งหนึ่งที่เรื่องนี้ได้แฝงเอาไว้อย่างชัดเจน ก็คือ การทำงานร่วมกันเป็นทีม ตรงนี้ชัดเจนมาก ในศึกแข่งทำเค้กระหว่างร้าน โนโบรุที่มีนิสัยหยิ่ง จองหอง และคิดว่าตัวเองเก่งกว่าทุกคน พอเอาเข้าจริงๆ ตัวเองก็กลับอะไรไม่ได้มาก แต่พอได้อาราตะและเพื่อนๆมาช่วย ก็ทำให้เค้กนั้นอบเสร็จทันเวลา และ ในเล่มสุดท้าย กว่าที่จะได้เค้กที่มีความสมบูรณ์ที่สุดนั้นก็ต้องใช้คนสามคนช่วยกันนั้น คือ อาราตะ โนโบรุ และ จิโร่ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ออกมานั้นก็เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงส่วนนี้อย่างชัดเจน พร้อมทั้งกับปรัชญาแฝงในเล่มสุดท้ายจากเค้กที่ทั้งสองคนได้ประลองกันก็คือ หากเป็นราชาที่เผด็จการเข้มงวดมาก ทุกคนก็จะหวาดกลัวและไม่มีความสุข(เค้กของโนโบรุ) หากเป็นราชาที่อ่อนโยนเกิน ก็กลายเป็นผู้นำที่อ่อนแอใจดีเกินไป ก็ไม่สามารถปกป้องประชาชนได้ (เค้กของอาราตะ) ฉะนั้นเค้กที่สมบูรณ์ที่สุดก็คือการเอาจุดเด่นของเค้กทั้งสองอันมารวมกัน และ ใช้สิ่งของที่ไม่หรูจนเกินไป

  ถึงแม้เนื้อหาสาระของการ์ตูนเรื่องนี้ถือว่าดีมากก็จริง แต่กลับเป็นการ์ตูนทำอาหารที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงมากเท่าไหร่ ส่วนหนึ่งนั้นก็มาจากลายเส้นตัวการ์ตูนที่ยังไม่ชวนดึงดูดให้คอการ์ตูนแนวนี้บางคนให้อยากอ่านเอาซะเลย แม้ว่าจะออกแบบตัวการ์ตูนให้มันแนวเข้าไว้ก็เถอะ......

 


ลายเส้น: 6.5/10
เนื้อเรื่อง: 7.5/10
ความสนุกประทับใจ: 8/10
พิเศษ: 9/10


quote: อ่านแก้หิวในยามว่างได้ ถ้าจิบชาสักถ้วย ก็ยิ่งดี

 
free hit counter javascript