Japonica : ปรับเปลี่ยนชีวิต สู่ต่างถิ่นอันไม่คุ้นเคย |
||||||||
|
||||||||
|
||||||||
นานๆจะมีรีวิวหนังสือการ์ตูนกันซักเล่มหนึ่ง ซึ่งในช่วงนี้ ก็มีการ์ตูนเรื่องใหม่อยู่หลายเรื่องที่ได้ทยอยลงสู่แผงกัน แต่มีอยู่เรื่องหนึ่ง ที่รู้สึกว่าสะดุดตา ตั้งแต่ได้เห็นหน้าปกของเรื่องนี้กันเลย แถมลายเส้นนั้นก็ช่างดูคุ้นตา เพราะคนแต่งเรื่องนี้ คือ คนเดียวกับที่แต่งซีรี่ย์การ์ตูนบาสเรื่อง Harlem Beat นั่นเอง แต่หารู้ไม่ว่า ภาพหน้าปกที่ดูออกได้ฟีลบรรยากาศคล้ายๆประเทศไทยนั้น แท้จริงแล้ว คือ ประเทศลาว ประเทศบ้านใกล้เรืองเคียงกับเรานั่นเอง (ซึ่งภาพวัดที่ใช้ประกอบบนปกเล่ม 1 นั้น คือ วัดหอพระแก้ว ที่ตั้งอยู่ ณ นครหลวงเวียงจันทร์ เมืองหลวงของลาว) และแน่นอนว่าเรื่องนี้คงจะนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับคนญี่ปุ่นที่ได้ใช้ชีวิตในประเทศลาวกัน กับ Japonica วิถีอาทิตย์อุทัย วิถีอาทิตย์อุทัย หรือ Japonica no Arukikata เป็นผลงานการ์ตูนของ อ.ยูริโกะ นิชิยามะ ที่ค่อนข้างจะฉีกแนวจากเรื่องก่อนๆ คือ เรื่องนี้จะเป็นการ์ตูนเอาใจกลุ่มผู้อ่านวัยโตมากขึ้น จากเดิมที่เอาใจคนอ่านวัยรุ่นเป็นหลัก โดยลงตีพิมพ์ประจำในนิตยสาร Evening โดยมีเนื้อหาส่วนหนึ่งดัดแปลงมาจากประสบการณ์ชีวิตจริงของผู้แต่ง ที่เป็นลูกสาวนักการทูต และเคยตามติดครอบครัวไปอาศัยอยู่ที่ประเทศลาวในช่วงเวลาสั้นๆ และจากสิ่งที่ อ.นิชิยามะ เคยประสบพบเจอที่ประเทศลาว ในช่วงที่ลาวกำลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากการที่ระบอบกษัตริย์ถูกกลุ่ม "ปะเทดลาว" ล้มล้าง กลายเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ (หรือ ที่คนท้องถิ่นเรียกว่า ระบอบประชาธิปไตยประชาชน ) แทนนั้น ก็ได้ถูกนำไปเขียนเป็นการ์ตูนเรื่องสั้นลงนิตยสารการ์ตูนมาก่อน ก่อนที่จะกลายเป็นบทเกริ่นนำเริ่มแรก เข้าสู่เนื้อหาจริงของการ์ตูนเรื่องนี้ โดยเนื้อหาหลักของเรื่องนี้ อ.นิชิยามะ ไม่ได้เป็นตัวเอก แต่เป็น หนุ่มหน้ามนใสซื่อ นาม อาโอมิ คาราโดะ แทน ซึ่ง คาราโดะ บัณฑิตภาควรรณคดีญี่ปุ่น คณะอักษรศาสตร์ผู้นี้ เป็นคนที่รักและคุ้นเคยกับญี่ปุ่นบ้านเกิดของตนเองเป็นอย่างมาก และเกลียดการเดินทางไปยังต่างประเทศที่สุด แต่เขาถูกเพื่อนๆชักชวนไปฉลองปีสุดท้ายชีวิตเด็กมหา'ลัย ด้วยทริปต่างแดน ณ เวียดนาม เขมร และ ไทย ตามลำดับ ซึ่งทริปการเดินทางดูเหมือนจะราบรื่น แต่พอมาถึงที่ไทยนั้น พวกเขากลับถูกคนท้องถิ่นพยายามหลอกรีดไถตังค์ โชคดีที่พวกเขาได้รับการช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่สถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย จนสามารถเดินทางกลับบ้านเกิดได้ แต่ทว่า คาราโดะกลับได้เจอเรื่องเลวร้ายหลังจากทริปนี้ นั่นคือ การที่เขาไม่สามารถหางานทำได้เลย อย่างไรก็ตาม จากการที่เขาได้ออกไปช่วยเหลืองานของภริยาท่านทูตจากประเทศต่างๆ ก็ทำให้เขาถูกชักชวนให้ไปเป็นเจ้าหน้าที่สถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศลาว ซึ่งได้มีการเปิดทำการอีกครั้งหนึ่ง แถมการเป็นเจ้าหน้าที่สถานทูตนั้น ยังเป็นหนทางที่ทำให้เขาสามารถรับตำแหน่งอื่นๆในงานราชการได้ หากอยู่ทำงานที่นั่นครบ 3 ปี ซึ่งนั่นกลายเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้เด็กหนุ่มว่างงานผู้ที่กำลังลังเลกับชีวิต ได้ตัดสินใจเข้ารับงานนี้ และแล้วการใช้ชีวิตห่างจากบ้านเกิดเมืองนอน ไปอยู่ยังสถานที่ต่างถิ่น ต่างวัฒนธรรม ในฐานะของเจ้าหน้าที่สถานทูตของคาราโดะ ได้เริ่มต้นขึ้น........ สิ่งที่เรื่องนี้เน้นมากเป็นพิเศษ คงจะนี้ไม่พ้นเรื่องของการปรับตัว การปรับสภาพให้เข้ากับชีวิตและสังคมใหม่ๆ ซึ่งก็คือ การรู้จักปรับตัวจากชีวิตเด็กมหาวิทยาลัย ไปเป็นคนทำงาน หรือ การปรับตัวจากสภาพสังคมที่ชินชาตั้งแต่เกิด จากถิ่นฐานที่อยู่เดิม สู่ถิ่นฐานใหม่ที่มีความแตกต่างในหลายๆด้าน ทั้ง ความเชื่อ วัฒนธรรม รวมถึงความสะดวกสบายอื่นๆ ซึ่งหากเรารู้จักปรับตัวให้เข้ากับสถานที่ หรือ คนแถวนั้น ก็จะทำให้เราลำบากน้อยลง แม้ว่าเรื่องเหล่านี้ สำหรับบางคน อาจทำได้ไม่ง่าย เพราะ สิ่งใหม่ๆที่เข้ามาเหล่านี้ ย่อมมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ค่อนข้างแตกต่างจากสิ่งที่เราคุ้นเคยมากนัก ซึ่งหากเราเอาแต่ยึดติดกับสิ่งเดิมๆแล้วล่ะก็ แล้วตัวเราจะไปได้ไกลกว่านี้ได้อย่างไร? :ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญบทเรียนหนึ่งสำหรับคนที่กำลังลังเลกับชีวิต ค้นหาตนเองไม่พบ ได้เก็บเอาไปคิดบ้าง อีกทั้งเรื่องนี้ยังสอนถึง การตัดสินใจ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของคนๆหนึ่ง ที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งกัน ของคนที่มีความแตกต่างกัน ทั้งด้านภาษา ความเชื่อ แนวคิด อาจรวมไปถึงด้านการเมือง ซึ่งนั่นคือสิ่งพื้นฐานของคนที่ทำงานด้านการทูตต้องพบเจอกันบ่อยๆ ซึ่งวิธีแก้ปัญหานั้น มีอยู่หลากวิธี ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกใช้วิธีไหนที่จะทำให้คู่กรณีนั้นสามารถรอมชอมกัน และปรับความเข้าใจกันได้โดยไม่รู้สึกตะขิดตะควงใจ ในส่วนอื่นๆของเรื่องนี้ ด้านลายเส้นนั้น ยังคงรักษามาตรฐานดีเยี่ยม สำหรับ อ.นิชิยามะ ส่วนเนื้อหาและข้อมูลต่างๆ ก็ทำได้ดีในระดับหนึ่ง เสียแต่ว่า ข้อมูลบางส่วนอาจผิดเพี้ยนไปบ้าง ไม่มากก็น้อย ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นที่คนแปล หรือว่า คนแต่ง กันแน่ โดยเฉพาะชื่อเรียกทางการของประเทศลาวในพ.ศ.นี้ อ่านๆไป ยังแปลกใจอยู่ว่า เหตุไฉนถึงยังเรียกเป็น ราชอาณาจักรลาว อยู่ (ต้องเป็น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ) ส่วนข้อมูลอื่นๆ ไปอ่านกันเอาเอง ซึ่งตรงนี้ การหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเทศลาวนั้น ก็จะช่วยให้ผู้อ่านอ่านเรื่องนี้ให้เข้าใจกันมากยิ่งขึ้น รวมถึง เนื้อหาบางจุดนั้น ก็อยากแนะนำว่าให้ทำหน้าอธิบายเชิงอรรถแก่ผู้อ่านไปด้วยจะดีมาก (เพราะมีบางส่วนเห็นคำว่า "ปะเทดลาว" นั้น ก็คิดว่าคนแปลสะกดผิด แต่แท้จริงแล้ว หมายถึงกลุ่มคนผู้ปฏิวัติประเทศลาวให้เป็นระบอบคอมมิวนิสต์ นั่นเอง ) สุดท้ายนี้ เชื่อเถอะว่า ใครที่ได้สัมผัสกันเรื่องนี้ คงมีความรู้สึกอยากหาทริปชิวๆ เที่ยวประเทศลาว กันบ้างไรบ้าง เลยแหละ.........
|
||||||||
|