เมื่อ 3 ปีที่แล้ว "คุโรมาตี้ โรงเรียนคนบวม" ผลงานของ เอย์จิ โนนากะ ก็ลงตีพิมพ์ลงในหนังสือการ์ตูนรายสัปดาห์ KC Weekly และเรื่องนี้ก็สร้างปรากฎการณ์ให้กับ KC Weekly นั่นก็คือ มีผู้อ่านจำนวนหนึ่งกลับต้องการให้ถอดเอาการ์ตูนเรื่องนี้ออก แต่ก็มีบางส่วนที่ชื่นชอบการ์ตูนเรื่องนี้เหมือนกัน จนในที่สุด เมื่อปี2546 ทางสำนักพิมพ์ ก็ตัดสินใจวางแผงการ์ตูนเรื่องนี้ในฉบับรวมเล่มทีเดียวถึง 5 เล่มรวด และก็สร้างกระแสให้กับกลุ่มคนรักการ์ตูนในหลายๆเว็บบอร์ด ว่ามันบั่นทอนปัญญาจริงๆ มิหนำซ้ำ หลายคนยังออกอาการ "ปูทันลิซึ่ม" อีกด้วย เกริ่นมาเสียตั้งนาน ตกลงว่ามันเป็นการ์ตูนแนวไหนกันแนะ เห็นบอกว่าประเภทตลก แล้วมันเป็นตลกแบบไหน เคยอ่านแล้วไม่ขำเอาเสียเลย เดี๋ยวผมจะอธิบายให้ฟัง
สำหรับ คุโรมาตี้ นั้น ก็เป็น การ์ตูนแนวตลกนะแหละ แต่ที่พิเศษไปกว่านั้นก็คือ เรื่องนี้เป็นการ์ตูนตลกหน้าตายครับ เป็นการ์ตูนปล่อยมุขตลก แบบเอ๋อๆ ปัญญาอ่อนโดยที่ตัวละครยังคงทำหน้าเฉย หรือ เคร่งเครียด (ทั้งๆที่ปล่อยมุขไปแล้ว)ไม่ใช่ตลกเน้นท่าทางเหมือนกับ ชินจัง ที่หลายๆคนรู้จักนะครับ ส่วนเนื้อเรื่องก็ประมาณว่า นาย คามิยามะ ทาคาชิ นักเรียนเรียนดี ต้องการสอบเข้าไปที่โรงเรียน คุโรมาตี้ ซึ่งขึ้นชื่อว่า เป็นศูนย์รวมเด็กเลวๆทั้งหมด โดยมีเป้าหมายว่า จะทำให้เหล่าเด็กเลวในโรงเรียนนี้กลับตัวกลับใจเป็นคนดี แต่กลับกลายเป็นว่า คามิยามะ กลับต้องเจอกับเหล่าเหตุการณ์ประหลาดๆพร้อมกับเพื่อนพ้องคนรู้จัก ที่ดูแล้วพิลึกพิลั่นทั้งนั้น ซึ่งได้แก่ ฮายาชิดะ ชินจิโร่ จอมติงต๊อง ,มาเอดะ อากิระ คนธรรมดาที่โลกลืม แถมหน้าตาเหมือนแม่ตัวเองยังกะแกะ,เฟรดดี้ บุรุษนิรนามที่ไม่รู้ว่าทำไมถึงมาเข้าเรียนที่นี่ เช่นเดียวกับ ฝูงกอริลล่าทั้งหลาย,โฮกุโตะ ทาเคชิ หนุ่มชุดขาว เจ้าระเบียบ มาพร้อมกับ ลูกกระจ๊อกของเขาที่จนแล้วจนรอดก็ไม่มีใครรู้ชื่อจริงๆเลย, เมก้าซาวะ ชินอิจิ หุ่นยนต์ทรงกระบอกที่ชอบทึกทักว่าตัวเองเป็นมนุษย์ และมีน้องชายชื่อ เบต้า ที่พูดได้แค่ เมการัตต้า , และยังมี ทาเคโนะอุจิ ยูทากะ หัวโจกจอมเมายานพาหนะ ,พี่โม่งทาเคโนะอุจิ โจรไฮแจ็คที่เคยสวมรอยเป็นทาเคโนะอุจิมาแล้วหนหนึ่ง, จตุราชาทั้ง5 เป็นพี่ใหญ่ประจำโรงเรียนที่วันๆเอาแต่ประชุมลูกเดียว นอกจากนี้ยังมีคนอื่นที่ไม่ได้อยู่รร.คุโรมาตี้ แต่มาสร้างสีสันกับเรื่อง อย่าง ยามากุจิ โนโบรุ(ไอโอดีนแมน) หัวหน้าใหญ่ของรร.เดสโทราตี้ที่บ้ามุขตลก,ฟูจิโมโต้ คิอิจิ หัวโจกรร.มานิเอล ที่ต่อยตีเก่ง แต่กลับกัน เขาเป็นสุภาพบุรุษในโลกไซเบอร์ และ ปูทัน คู่หูดาวตลกที่เหล่าเด็กเลวนิยมชมชอบ
ก็อย่างที่บอกว่าเรื่องนี้เป็นการ์ตูนตลกแบบหน้าตาย สำหรับคนที่เคยอ่านการ์ตูนแนวตลกเรื่องที่ผ่านๆมานั้น ถ้าคิดจะอ่านเรื่องนี้นั้น คงต้องปรับตัวกันสักหน่อย เพราะ มันไม่ได้มองเห็นท่าทางแล้วมันจะตลกเลย คือ ต้องอ่านคำพูดของตัวละครทุกประโยค แล้วต้องคิดตามไปด้วย ส่วนจุดที่ฮา ส่วนใหญ่จะหักมุมกันในหน้าสุดท้ายของแต่ละตอน และมุขตลกของเรื่องในหลายๆตอนนั้นๆ มันก็เอามาจากชีวิตประจำวันของเรานั่นแหละ ทำให้อ่านแล้วโดน โดยเฉพาะ มุขมารยาทบนเว็บบอร์ดของฟูจิโมโต้ หรือ มุขเล่าเรื่องของแต่ละคนเป็นต้น จุดฮาอีกจุดก็คงจะเป็นมุขตลกที่ดูแล้วเหนือโลก ประมาณว่าอยู่ๆคนเขียนมันนึกอะไรออกไป ก็ใส่ไปแบบนั้น จนผู้อ่านบางคนถึงกับเหวอรับประทาน หรือจะเรียกว่า โดนอาการบั่นทอนปัญญาเล่นงานซะแล้ว
และจุดเด่นอีกจุดหนึ่งของเรื่องนี้ ก็คงจะเป็น ตัวละครแต่ละตัวที่มีเอกลักษณ์ ทำให้หลายคนขำ และ จำได้ติดตา โดยเฉพาะพวกแปลกๆทั้งหลายซึ่ง ก็มี เฟรดดี้ กอริลล่า เมก้าซาวะ พี่โม่ง แม้กระทั่ง เหล่าจตุราชา รวมถึงผู้แต่งก็ยังเอาล้อเลียนคนดัง ตัวการ์ตูน มาใส่ในเรื่อง ทั้งนักฆ่า(เล่ม8) ก็มาจากคนเหล็กTerminator จตุราชา ก็มาจากวง Kiss เฟรดดี้ ก็ มาจากนักร้องนำวงQueenจริงๆ แถม ทาเคโนะอุจิ ยูทากะ กับ ทาเคชิโร่ ทาคาชิ ดาราดังของญี่ปุ่นก็โดนล้อเลียนเป็นตัวละครของเรื่องนี้ที่สาวๆเห็นแล้วคงจะสยองดีพิลึก(ฮา)
ส่วนเรื่องลายเส้นนั้น ผู้แต่งก็ไม่ได้เน้นรายละเอียดที่ฉาก หรือ อะไรมากนัก เน้นแค่ตัวละครกับคำพูดมากกว่า แถมผู้แต่งก็ได้ล้อเลียนลายเส้นของนักเขียนการ์ตูนอีกท่านหนึ่ง ซึ่งดูเผินๆ จะเป็นการ์ตูนแนวนักเลงตีกัน มันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆนั่นแหละ แต่เรื่องนี้กลับไม่ได้บู๊เลือดสาดอย่างที่คิด กลับเน้นไปที่มุขตลกมากกว่า จะไปตีกับใครซะอีก เพราะ ฉากต่อยตีกันจริงๆมีแค่นิดเดียวเอง
ถ้าจะอ่านกันให้ลึกๆจริงๆ จะเห็นได้ว่า เรื่องนี้ มันไม่ได้เน้นเอาฮาแบบหน้าตายอย่างเดียว แต่ยังแฝงถึงปรัชญาที่ใครหลายๆคนไม่คาดคิดมาก่อนด้วย ยกตัวอย่างเช่น ปูทันโดน เฟรดดี้แย่งบทไป ก็เพราะ การที่ตัวเองไม่ยอมรับผิดชอบงานแจกลายเซ็นแต่กลับให้เฟรดดี้ไปทำแทน ซูชิกล้วยของกอริลล่า หรือ มุขความสุขเล็กๆน้อยๆ ซ่อนแบงค์ไว้หลังตู้ของหัวหน้าจตุราชา เป็นต้น
ส่วนจุดด้อยที่เห็นได้ชัดของการ์ตูนเรื่องนี้ ที่ทำให้บางคนอ่านแล้วไม่ชอบ ก็คงจะเป็นมุขตลกหน้าตายนี่แหละ ซึ่งบางทีมันก็ออกจะเป็นมุขตลกวัฒนธรรมของเขา ที่เราอาจเข้าไม่ถึง มันก็เลยรู้สึกว่ามันฝืดจนเกินไปจนรู้สึกอยากจะถามผู้แต่งในใจว่า ต้องการจะสื่ออะไรกันแน่ แถมบางตอนก็ยิงมุขซ้ำและถี่เกินไป ทำให้อ่านแล้วจะจับทางออก อาจรู้สึกไม่ขำก็ได้ แต่ในเล่มหลังๆนั้นคนเขียนได้แฝงความเป็นปรัชญาที่เราคาดไม่ถึงมากขึ้น จนทำให้การ์ตูนคนบวมเรื่องนี้จะแปรสภาพจากการ์ตูนตลกกลายเป็นการ์ตูนปรัชญามากขึ้น แต่ส่วนหนึ่งที่อ่านเรื่องนี้ฝืดน้อยลง ก็เพราะได้ความสามารถในการแปลของคนแปลเรื่องนี้นี่เอง
|