Cartoon Short Focus -- ไอ้หนูไต้ฝุ่นมะกันบอล (Eyeshield 21) |
||||||||||
|
||||||||||
เรื่องย่อ โคบายาคาว่า เซนะ หนุ่มขี้แหยง เบ๊ตลอดศก แห่งโรงเรียนเดม่อน ด้วยฝีเท้าลมกรดของเขา จึงได้รับคำเชิญชวนให้เข้าชมรมอเมริกันฟุตบอล"เดม่อน เดวิลแบทส์" จาก คุริตะ เรียวคัง และ ฮิรุม่า โยอิจิ โดยใช้ชื่อในการแข่งขันว่า "Eye Shield 21" โดยเซนะก็ได้เปิดตัวครั้งแรกในศึกคัดเลือกเข้าไปเล่น คริสมาสต์โบลว์ ช่วงฤดูใบไม้ผลิ รอบแรกกับ โคยงาฮาม่า คิวปิด ในแมตช์นั้น ถึงเซนะจะทำทัชดาวน์ได้ แต่ก็สะบัดสะบอมไปทั้งตัว จน อาเนซาคิ มาโมริ พี่สาวข้างบ้านที่เซนะคุ้นเคยตั้งแต่ยังเด็ก ถึงกับเป็นห่วง ก็เลยอาสาจะมาทำหน้าที่ผู้จัดการชมรมด้วย ส่วนเซนะนั้นก็ต้องคอยปกปิดความลับของตนเรื่องที่ตัวเองเป็น Eye Shield 21 ไม่ให้มาโมริรู้ ด้วยการทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลบังหน้าไปด้วย
หลังจากผ่านศึกกับ โอโจ ไวท์ไนท์ เดม่อนได้ ไรม่อน ทาโร่(มอนตะ) มาเป็นตัวรีซีฟเวอร์(ตัวรับบอล)ประจำทีม และ หลังจากนัดกระชับมิตรกับ โซคุงาคุ คาเมเลออน เดม่อนก็ได้สมาชิกเพิ่มขึ้น อย่าง โคมุซึบิ ไดคิจิ,ยูคิมิตสึ มานาบุ,จูมอนจิ คาซึกิ,คุโรอิ โคจิ,โทงาโน่ โชโซ สมาชิกใหม่เหล่านี้ก็ผนวกกับสมาชิกดั้งเดิม และ สมาชิกยืมตัวจากชมรมอื่นๆ ก็ทำให้เดม่อนแข็งแกร่งขึ้น โดยสามารถเสมอกับ ไทโย สฟิงซ์ คว้าสิทธิ์ในการประลองทีมกับ นาซ่า เอเลี่ยน ทีมจากอเมริกา ในศึกกับเอเลี่ยน ถึงเดม่อนจะแพ้ฉิวเฉียด ก็สร้างความประทับใจให้กับผู้ชมหลายคน และจากการที่ฮิรุม่าไปพนันกับโค้ชของเอเลี่ยนว่า หากทีมเขาไม่สามารถเอาชนะได้ เขาจะต้องออกจากญี่ปุ่น ว่าแล้ว ฮิรุม่า ก็พาลูกทีมส่วนหนึ่งไปฝึกฝนพิเศษที่อเมริกา และที่อเมริกานี่เอง เซนะ และ เหล่าพวกพ้องทีมเดม่อนก็ได้ฝึก "เดธมาร์ช" กับ ซาคากิ โดบุโรคุ โค้ชที่คุริตะ กับ ฮิรุม่า นับถือ แถมยังได้สมาชิกใหม่อย่าง ทาคิ นัตสึฮิโกะ , ทาคิ สึซึนะ และ อ.โดบุโรคุ มาด้วย เพื่อเตรียมพร้อมกับศึกรอบคัดเลือกประจำฤดูใบไม้ร่วง ระดับเขตโตเกียว ในศึกรอบคัดเลือกประจำฤดูใบไม้ร่วง เดม่อนสามารถผ่าน อามิโนะ ไซบอร์ก,ยูฮิ กัตซ์,โดคุบาริ สกอร์เปี้ยนส์, เคียวชิน โพไซดอน ก่อนจะมาพบศึกหนักกับ เซย์บุ ไวลด์กันแมน ในรอบรองชนะเลิศ ในแมตช์กับเซย์บุนั้น เดม่อนก็ได้ "มุซาชิ" หรือ ทาเคคุระ เก็น ตัวเตะประจำทีมกลับมาอีกครั้ง แต่ก็ไม่สามารถผ่านรอบนี้ได้ แต่พวกเขาก็มีสิทธิ์แก้ตัวในนัดชิงที่ 3 กับ บันโดะ สไปเดอร์ส ในศึกกับบันโดะ สไปเดอร์สนั้น เซนะ ก็ได้ตัดสินใจที่จะใช้ชื่อ "โคบายาคาว่า เซนะ" แทนที่จะใช้ชื่อ Eye Shield 21 เหมือนเคย ทำเอามาโมริถึงกับตะลึงพร้อมทั้งปลาบปลื้มใจ ในรอบแก้ตัวนั้น เดม่อน เดวิลแบทส์ ก็สามารถล้มบันโดลงได้ ได้สิทธิ์แข่งขันในรอบคัดเลือกของเขตคันโต และ ในรอบแรก พวกเขาสามารถล้ม ชินริวจิ นาคา ทีมสุดแกร่งระดับคันโตลงได้ ในรอบต่อมาเดม่อน เจอกับ โอโจ ไวท์ไนท์ ซึ่งทั้งสองทีมนั้นต่างก็มุ่งมั่นหมายจะคว้าชัยชนะในเกมนี้ และผลจบลงที่ชัยชนะอันน่าประทับใจของเดม่อน ทำให้เดม่อนได้เข้าชิงระดับคันโต และสามารถผ่าน ฮาคุชู ไดโนเสาร์ ทำให้เดม่อนคว้าตั๋วไปคริสต์มาสโบลว์ เจอกับ เทย์โคคุ อเล็กซานเดอร์ ตัวแทนจากฝั่งคันไซ แชมป์คริสต์มาสโบลว์หลายสมัย โดยคู่ชิงคริสต์มาสโบลว์ เทย์โคคุ เป็นต่อค่อนข้างมาก และออกนำเดม่อนไปอย่างขาดลอย จนหลายคนคิดว่าเดม่อนตามไม่ทันแน่ ทว่าด้วยแรงฮึดสู้ของเดม่อน ทำให้เทย์โคคุเสียแต้มเป็นครั้งแรก และ โดนเดม่อนไล่ตามมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเจอลูกเตะฟิลด์โกล์ระยะไกลของมุซาชิเข้าไป เป็นการปิดฉากทำให้เดม่อนได้แชมป์คริสมาสต์โบลว์สมัยแรก อย่างไรก็ตามงานของพวกเซนะ ยังไม่หมดแค่นั้น เมื่อเขาได้รับการเชิญชวนจากยามาโตะ แห่งเทย์โคคุ ให้เข้าร่วมทีมชาติญี่ปุ่น ในการแข่งขันอเมริกันฟุตบอลระดับยุวชนโลก ในศึกยุวชนโลก ทีมญี่ปุ่นสามารถผ่าน รัสเซีย ,มิลิทาเรีย และ เยอรมนี ได้อย่างง่ายดาย จนในที่สุดพวกเขาก็ผ่านเข้าไปสู่รอบชิงชนะเลิศ โดยพบกับ ทีมสุดแกร่งอย่าง สหรัฐอเมริกา ในรอบชิงชนะเลิศนั้นญี่ปุ่นตามหลังอเมริกาค่อนข้างขาดลอยในครึ่งแรก แต่ด้วยความใจสู้ของทีมญี่ปุ่นที่ได้งัดกลยุทธ์เด็ดๆออกมา ทำให้พวกเขาทำแต้มจี้ขึ้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งผลจบลงด้วยการเสมอกัน จนน่าจะได้ครองถ้วยร่วมกัน!! ทว่าตัวแทนทั้งสองทีมกลับไม่ยอมให้จบลงด้วยผลเสมอ จึงได้มีการแข่งขันกันต่อในช่วงต่อเวลาพิเศษ และเป็นทีมอเมริกาที่คว้าแชมป์ได้สมใจ หลังศึกยุวชนโลก เวลาได้ล่วงเลยไป 2 ปี ทุกคนจึงได้แยกย้ายกันไปเล่นให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในศึกอเมริกันฟุตบอลระดับมหาวิทยาลัย เพื่อชิงความเป็นหนึ่งเข้าสู่การแข่งขัน ไรส์ โบลว์ กับ แชมป์อเมริกันฟุตบอลจาก X ลีก ลีกบุคคลทั่วไป
|
ทีมรุก |
ทีมรับ |
Running Back:โคบายาคาวะ เซนะ (เดม่อน) Running Back:ยามาโตะ ทาเครุ (เทย์โคคุ) Quarter Back:คิด (เซย์บุ) Quarter Back:ฮิรุม่า โยอิจิ(เดม่อน) Slot Back (Receiver): เท็ตสึม่า โจ (เซย์บุ) Wide Receiver: มอนตะ (เดม่อน) Wide Receiver: ซากุราบะ ฮารุโตะ (โอโจ) Center : คุริตะ เรียวคัง (เดม่อน) Offensive Line : ยามาบุชิ กอนดะยู (ชินริวจิ) Offensive Line : เฮอร์คิวลิส(เทย์โคคุ) Offensive Line : จูโบ Offensive Line : บัมบ้า มาโมรุ (ไทโย) |
Safety:มัลโก้ เรย์จิ (ฮาคุชู) Safety:ไคทานิ ริคุ (เซย์บุ) Corner Back:อิคคิว (ชินริวจิ) Corner Back:ฮอนโจ ทากะ (เทย์โคคุ) Line Backer: คอนโง อากอน (ชินริวจิ) Line Backer: ชิน เซย์จูโร่ (โอโจ) Line Backer: คาเคอิ ชุน (เคียวชิน) Defensive Line : อคิลิส (เทย์โคคุ) Defensive Line : โอทาวาระ มาโคโตะ (โอโจ) Defensive Line : กาโอ ริคิยะ (ฮาคุชู) Defensive Line : มิซึมาจิ เคนโกะ (เคียวชิน) |
คนอื่นๆ:มัมมี่(ตัวจริง คือ ฮาบาชิระ - โซคุงาคุ),ทาคามิ(โอโจ),มุซาชิ(เดม่อน),อาคาบะ(บันโดะ),จูมอนจิ(เดม่อน),คุโรกิ(เดม่อน),โทงาโน่(เดม่อน),คิซารากิ(ฮาคุชู),ทาคิ (เดม่อน),โคมุซึบิ (เดม่อน)
ทีมชาติสหรัฐอเมริกา
Pentagram (รุกกี้ 5 สุดยอดฝีมือ)
แพนเธอร์ หรือ แพทริค สเปนเซอร์ ฉายา "เสือดำผู้รวดเร็วที่สุดเหนือพื้นพิภพ"
คลิฟฟอร์ด ดี หลุยส์ ฉายา "นักพนันผู้ไร้พ่าย" จอมวิเคราะห์ประจำทีม ด้วยมันสมองที่เป็นเลิศ ทำให้เขาเป็นสุดยอดผู้เล่นตำแหน่ง Quarter Back
ทาทันก้า เขาผู้มีหน้าตาราวอินเดียนแดง มีฉายา "โดมมนุษย์" คือ เขาสามารถตบทุกลูกพาสให้ร่วงลงได้ภายในอาณาเขตของเขา เป็นผู้เล่นตำแหน่ง Line Backer เป็นผู้เล่นที่มีความสูงที่สุดของทีม (210 ซม.)
Mr.Don หรือ โรนัลด์ โอบาร์แมน บุตรชายหน้าเถื่อนของ ปธน.สหรัฐฯ อาร์โนลด์ โอบาร์แมน มีฉายา "ผู้พิชิตสรรพสิ่ง" เป็นไลน์แมนที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก และมักชอบเรียกคนด้อยกว่าตัวเองว่า สามัญชน ต่อมา ดอน,ทาทังก้า และ คลิฟฟอร์ด ร่วมทีมม.โน้ตเตรอะดาม และเป็นครูฝึกเซนะ ในตอนที่เซนะเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนของที่นั่น
บัด วอล์คเกอร์ ฉายา "ไวลด์ ฮอลลิวู้ด" ชอบแสดงท่าทางผาดโผนเว่อร์ๆ เป็นผู้เล่นตำแหน่ง Corner Back เป็นสุดยอดผู้มีความสมดุลกันระหว่างความเร็วและพละกำลัง ปัจจุบันยังคงเล่นหนังฮอลลิวู้ด และเป็นคนดึง ทาคิ เข้าสู่ฮอลลิวู้ด
ผู้เล่นคนอื่นๆ: โฮเมอร์
ตัวละครคนอื่นๆ
ฮัตสึโจ คาโอรุ ผู้เล่นควอเตอร์แบ็คจากทีม โคยงาฮาม่า คิวปิด ที่เวลาไปไหนมาไหน ก็จะพาแฟนไปด้วย (จริงๆมันก็เป็นกันทั้งโรงเรียนนะแหละ) ต่อมาศึกษาต่อที่ ม.โคยงาฮาม่า
ฮาบาชิระ รุย ไลน์แบ็คเกอร์ จากทีม โซคุงาคุ คาเมเลออน หน้าตาของเขาก็ออกจะคล้ายกิ้งก่า คาเมเลออน มีแขนขายาว เขาและลูกทีมก็เคยช่วยเหลือเดม่อนมาพอสมควร เขาเป็นหัวใจสำคัญของทีม และ เขาก็อิจฉาฮิรุม่าที่ลูกทีมของฮิรุม่านั้นกลับใจสู้ ทุ่มเทเพื่อทีม มากกว่าลูกทีมของเขา ทั้งๆที่ใช้วิธีการดึงคนเล่นแบบเดียวกัน ต่อมา เขาได้เข้าร่วมในศึกยุวชนโลก โดยปลอมตัวเป็นมัมมี่ และลงแข่งในนัดชิงกับอเมริกา หลังจบม.ปลาย เขาศึกษาต่อที่ม.โซคุโตะ จนทำทีมนี้ผงาดขึ้นมา
ซึยูมิเนะ เมงุ เป็นผู้จัดการของโซคุงาคุ แว่วๆว่า เป็นแฟนของเจ้าฮาบาชิระด้วย(มั้ง)นะ
อัตซึชิ ไดสุเกะ ผู้เล่นทีม ยูฮิ กัตส์ ที่เขานั้น มีความรับผิดชอบต่อทีมสูง ในศึกกับเดม่อน เขาเป็นแค่ตัวสำรอง เพราะ ตัวจริงที่ส่งไปเจอกับเดม่อนนั้นล้วนเป็นนักกีฬาจากชมรมอื่น แต่ในที่สุด เขาและทีมตัวจริงชมรมอเมริกันฟุตบอล ก็ได้ลงในปลายครึ่งหลัง ถึงจะแพ้ แต่เขาก็มีน้ำใจเป็นนักกีฬาด้วยการให้กำลังใจเดม่อนให้เข้ารอบลึกๆ
คอนโซ คัตซึโกะ ผู้จัดการและเชียร์ลีดเดอร์สาวฮ้าวของยูฮิ กัตส์
ยามาโมโตะ โอนิเฮย์ ไลน์ของฮาชิราทานิ เดียร์ส ที่เหล่าไลน์ทรงพลังให้ความเคารพนับถือ โดยเฉพาะกับ คุริตะ ถึงเขาจะตัวไม่สูงแต่มีความแข็งแกร่งมาก ทว่า เขาก็กลับพ่ายแพ้มิซึมาจิ อย่างยับเยิน ต่อมาได้เข้ารวมเล่นลีกบุคคลทั่วไปกับ ทาเคคุระ โค บาเบลส์
แมกชีนกัน ซานาดะ โฆษกผมทรงกังหันลม ที่พากย์ได้เว่อร์เด็ดสระตี่ มีบทครั้งแรกในศึก เดม่อน VS เอเลี่ยน
คุมาบุคุโร่ เป็นนักข่าวคอลัมน์ประจำนิตยสารอเมริกันฟุตบอล และ พากย์คู่กับแมกชีนกัน ซานาดะ มาโดยตลอด แต่ในรอบชิงแชมป์ระดับคันโต เขาติดภาระกิจไปอเมริกา ก็เลยส่ง ริโกะ ลูกสาวเขามาพากย์คู่กันแทน
โทราคิจิ เด็กที่ซากุราบะได้พบเจอ ในตอนที่เขาพักรักษาตัวหลังจากโดน Eye Shield 21 แทคเคิ่ล โดยโทราคิจิก็เป็นแฟนตัวยงของซากุราบะ
จิมมี่ ชีมาล หนุ่มอเมริกันที่เซนะได้พบเจอตอนที่ไปคัดตัวกับทีมอเมริกันฟุตบอล ซาน อันโตนิโอ อาร์มาดิลโล่ ขณะที่พลัดหลงกับคนอื่นๆ โดยเขานั้นหน้าตาคล้ายๆกับอิชิมารุมากเลย
ฮอนโจ มาซารุ อดีตดาวดังเบสบอลขวัญใจของมอนตะ ซึ่งปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งประธานสมาพันธ์อเมริกันฟุตบอลคันไซ การเปิดตัวอย่างเซอร์ไพรส์ของเขา ทำให้มอนตะถึงกับสู้ตาย ในศึกระหว่าง เดม่อน กับ โอโจ
จูโบ หรือ นาคาโบ อากิระ เด็กม.ต้น ผู้ชื่นชอบในตัวของเซนะมาก ทำให้เขาหันมาเล่นอเมริกันฟุตบอล และได้ติดทีมชาติญี่ปุ่นเขาสู้ศึกยุวชนโลก โดยจูโบมีพรสวรรค์ในการตั้งรับ ที่เรียกว่า เดลต้า ไดนาไมท์ (การที่หัว-ไหล่-แขน กระแทกใส่คู่ต่สู้พร้อมกันอย่างเป็นจังหวะ) เขาสามารถสอบติดเข้ารร.เดม่อน ได้สำเร็จ
อีวาน โรโดเชงโก้ นักอเมริกันฟุตบอลทีมชาติรัสเซีย เจ้าของสถิติเบนช์เพรสระดับโลก เคยได้เหรียญทองยกน้ำหนักจากโอลิมปิคมาก่อน
ไฮน์ริช ชูลท์ นักอเมริกันฟุตบอลทีมชาติเยอรมนี เป็นถึงผู้เล่นที่มีความเร็วสูงสุดในระดับยุโรป มีความสามารถในการจดจำ บันทึกสถิติเป็นเลิศ
มอนตี้ โกเมอรี่ นักอเมริกันฟุตบอลทีมชาติมิลิทาเรีย(ประเทศสมมติ) มีนิสัยชอบไซโค ด้วยน้ำเสียงดูถูกเป็นที่สุด มีท่าไม้ตายคือ ท่ารันวิถีมิสไซล์
มอร์แกน ชายผิวสีร่างบึกบึน (ทั้งๆที่อายุ 45 ปี )อดีตผู้เล่นระดับ NFL เป็นโต้โผใหญ่ในการจัดศึกยุวชนโลก อีกทั้งเขายังเป็นสาเหตุที่ทำให้โค้ชอพอลโล่ แห่งทีมนาซ่า รังเกียจคนผิวสี
ข้อสังเกต แต่ละทีมโรงเรียนนั้น ก็จะมีผู้เล่น หรือ สิ่งแวดล้อมรอบๆตัวโรงเรียน ตรงตามคอนเซ็ปต์กับฉายาทีมเลย คือ
โคยงาฮาม่า คิวปิด - หนุ่ม สาว เดินควงกันเป็นคู่ ต่อให้เป็นผู้เล่นหน้าไม่หล่อ ก็ยังมีสาวควง
โซคุงาคุ คาเมเลออน ออกแนวป่าเถือน แถมตัว ฮาบาชิระ รุย ก็เหมือนกับกิ้งก่า คาเมเลออน อย่างที่ว่ามา
เซย์บุ ไวลด์กันแมน ออกสไตล์คาวบอยตะวันตก ทั้งชุดของโค้ช และ เชียร์ลีดเดอร์
ไทโย สฟิงซ์ นักเรียนต่างก็มีผิวคล้ำกันทั้งโรงเรียน แถมอากาศก็ร้อน เข้ากับอียิปต์โบราณ (แต่จริงๆแล้วที่ผิวคล้ำเพราะไปเล่นวินเซิร์ฟกันบ่อย) แถมชื่อผู้เล่นบางคนก็เกี่ยวข้องกับเทพของอียิปต์ทั้งสิ้น
โอโจ ไวท์ไนท์ โรงเรียนออกแนวสไตล์ยุโรปสมัยยุคกลาง ซึ่งเป็นยุคแห่งอัศวิน
เคียวชิน โพไซดอน ชื่อผู้เล่นของแต่ละคนเกี่ยวข้องกับน้ำ ให้เข้ากับ โพไซดอน เทพเจ้าแห่งท้องทะเล
ชินริวจิ นาคา โรงเรียนออกแนววัด ยูนิฟอร์มชุดนักเรียนก็คล้ายกับนักบวช
กติกาอเมริกันฟุตบอลเบื้องต้น
อเมริกันฟุตบอล มีลักษณะของการแข่งขันที่ไม่ต่างไปจาก กีฬาฟุตบอล ประเภทอื่นๆ โดยจุดประสงค์ของเกมจะเป็น การพาบอลเคลื่อนที่ ไปยังปลายสนามของคู่แข่งขัน หรือ การทำทัชดาวน์ และ ทำคะแนนให้ได้มากกว่าทีมคู่แข่ง ภายในเวลาที่กำหนด มีทั้งหมด 4 ควอเตอร์ ควอเตอร์ละ 15 นาที มีช่วงพักครึ่งระหว่าง ควอเตอร์ที่ 2 และ ควอเตอร์ที่ 3 และมีการหยุดเวลา เมื่อมีการทำฟาลว์ หรือ ลูกตาย มีผู้เล่นลงสนาม 11 คน แบ่งเป็น ทีมรุก กับ ทีมรับ และ ทีมพิเศษ
ทีมรุก (Offense) ประกอบไปด้วยผู้เล่นตำแหน่งต่างๆดังนี้
- ออฟเฟนซ์ซีฟไลน์ (offensive line) (OL) มีผู้เล่น 5 คน โดยเป็น ออฟเฟนซ์ซีฟแทกเกิล (offensive tackle) (OT) 2 คน การ์ด (guard) (G) 2 คน และ เซนเตอร์ (center) (C) 1 คน หน้าที่หลักๆ ของ ออฟเฟนซ์ซีฟไลน์ คือ ป้องกันผู้ขว้างบอล และ ทะลวงเปิดทางให้กับผู้เล่นวิ่งพาบอล การเริ่มเล่นจะเริ่มจากผุ้เล่นตำแหน่งเซนเตอร์ สแนปลูกบอล ส่งผ่านใต้หว่างขาของตนให้กับเพื่อนร่วมทีม ซึ่งปกติแล้วจะเป็นผุ้เล่นตำแหน่งควอเตอร์แบค
- ควอเตอร์แบค (quarterback) (QB) จะเป็นผู้ที่ได้รับลูกบอลในเกือบทุกการเล่น หลังจากนั้นก็จะส่ง หรือ โยนลูกบอลต่อให้กับผู้เล่น รันนิ่งแบค (running back) หรือขว้างให้กับผู้เล่นตำแหน่งที่อนุญาตให้รับบอลได้ หรืออาจวิ่งพาลูกไปเองก็ได้
- รันนิ่งแบค (running back) (RB) อาจเรียก ฮาร์ฟแบค (halfback) หรือ เทลแบค (tailback) และ ฟุลแบค (fullback) (FB) จะจัดตำแหน่งก่อนเล่นอยู่ข้างหลัง หรือ ข้างๆ QB และ มีหน้าที่ในการวิ่งพาบอล (โดยเฉพาะ RB) หรือทำการสกัดผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม (โดยเฉพาะ FB) รับลูกบอลที่ขว้างมาให้ หรือ แม้แต่ทำการขว้างบอลไปให้เพื่อนร่วมทีม
- ไวด์รีซีฟเวอร์ (wide receiver) (WR) จะเรียงตัวอยู่ใกล้เส้นข้างสนาม มีหน้าที่ในการรับลูกบอลที่ขว้างมา
- ไทท์เอนด์ (tight end) (TE) จะวางตัวอยู่ในตำแหน่งนอกออฟเฟนซ์ซีฟไลน์ เล่นได้เหมือน ทั้ง WR โดยการรับลูกที่ขว้างมา และ OL โดยการป้องกัน QB หรือ ทะลวงทางวิ่งให้กับผู้เล่นวิ่งพาบอล
ทีมรับ (Defense) ประกอบไปด้วยผู้เล่นตำแหน่งต่างๆดังนี้
- ดีเฟนซ์ซีฟไลน์ (defensive line) (DL) ประกอบด้วยผู้เล่น 3 ถึง 5 คน โดยที่เป็น ดีเฟนซ์ซีฟเอนด์ (defensive end) 2 คน ดีเฟนซ์ซีฟแทกเกิล (defensive tackle) (DT) 1-2 คน และ อาจมี โนสแทกเกิล (nose tackle) (NT) 1 คน เรียงตัวตรงข้ามกับออฟเฟนซ์ซีฟไลน์ มีหน้าที่ในการแทกเกิลสกัดรันนิ่งแบคในการวิ่งกินระยะ หรือ แทกเกิลควอเตอร์แบคก่อนทำการขว้างบอล
- ผู้เล่นอย่างต่ำ 4 คนจะเรียงตัวในตำแหน่ง ดีเฟนซ์ซีฟแบค (defensive back) (DB) ซึ่งประกอบด้วยผู้เล่นในตำแหน่ง คอร์เนอร์แบค (cornerback) (CB) ฟรีเซฟตี (free safety) (FS) และ สตรองเซฟตี (strong safety) (SS) มีหน้าที่ป้องกันผู้เล่นรับลูกฝ่ายรุก ในการรับลูกบอล และ บางครั้งก็อาจทำการจู่โจมเข้าหาควอเตอร์แบค
- ผู้เล่นอื่นในทีมรับเรียก ไลน์แบคเกอร์ (linebacker) (LB) เรียงตัวอยู่ระหว่าง DL และ DB ทำหน้าที่หลายอย่าง โดยอาจจู่โจมเข้าหาควอเตอร์แบค ป้องกันผู้เล่นรับลูก หรือ สกัดผู้เล่นวิ่งพาลูก
ทีมพิเศษ (Special teams) ประกอบไปด้วยผู้เล่นตำแหน่งต่างๆดังนี้
- กลุ่มของผู้เล่นที่มีหน้าที่ในเกี่ยวกับการเตะทั้งหลาย เรียกว่า ทีมพิเศษ หรือ สเปเชียลทีม (special teams) ผู้เล่นในทีมพิเศษนี้จะมี พันท์เตอร์ (punter) (P) ซึ่งเป็นผู้เตะทิ้ง โดยเป็นการถือลูกเตะ และ คิกเกอร์ (kicker) หรืออาจเรียก เพลซคิกเกอร์ (placekicker) (K หรือ PK) เป็นผู้เตะเปลี่ยน และ ผู้เตะประตู ซึ่งเป็นการเตะลูกบอลจากการวางบนพื้นสนาม โดยวางบนอุปกรณ์ตั้งลูก และ การจับวางโดยเพื่อนร่วมทีม ตามลำดับ
สนามอเมริกันฟุตบอล ก็มีขนาดความยาว 120 หลา หรือ 110 เมตร และ ความกว้าง 53-1/3 หลา หรือ 49 เมตร มีเส้นบอกหลา หรือ ยาร์ดไลน์ (yard line) จะลากตัดสนามทุกๆ ระยะ 5 หลา และ มีตัวเลขบอกระยะจากเส้นประตู ทุกๆ 10 หลา จนถึง เส้น 50 หลา การเริ่มเล่นทุกครั้ง ลูกฟุตบอลจะต้องวางในตำแหน่งเริ่มบนเส้นประ หรือ แฮชมาร์ค ด้านหลังของเอนด์โซนทั้งสองด้าน จะมีเสาประตู ซึ่งเป็นเสาสองเสา ห่างกัน 18.5 ฟุต เชื่อมต่อกันด้วยคานแนวนอน สูงจากพื้น 10 ฟุต (3 เมตร) การเตะประตูทำคะแนนจะต้องเตะให้ลูกลอยผ่านระหว่าง เสาทั้งสองข้าง และ สูงกว่าคาน
ตอนเริ่มเกม และ ตอนเริ่มครึ่งหลัง (หลังจากพักครึ่งเวลา) จะมีการเตะเปลี่ยน คือ จะให้ฝ่ายตรงข้ามเริ่มเล่นเป็นฝ่ายรุก และหลังจากที่ทำคะแนนได้จากการทัชดาวน์ หรือ การเตะประตู โดยทีมที่ทำคะแนนได้จะเตะเปลี่ยนให้ทีมคู่แข่งได้เป็นฝ่ายรุก ในการบุกแต่ละครั้ง ทีมที่ได้ครอบครองลูก จะมีโอกาสเล่นได้ 4 ครั้ง หรือ ดาวน์ (down) เพื่อพาลูกไปยังแดนของฝ่ายตรงข้าม ให้ได้ระยะทาง 10 หลา เมื่อทีมรุกพาลูกรุกคืบไปได้ระยะทางมากกว่า 10 หลา ก็จะกลับไปเริ่มนับ ดาวน์ที่หนึ่ง (first down) เพื่อรุกคืบให้ได้ 10 หลาใหม่ หากทีมรุกไม่สามารถรุกคืบหน้าได้เป็นระยะทาง 10 หลาใน 4 ดาวน์ คือ ไม่สามารถกลับไปเริ่มดาวน์ที่หนึ่งใหม่ได้ ทีมนั้นก็จะสูญเสียการครอบครองลูกให้ฝ่ายตรงข้ามได้เล่นเป็นฝ่ายรุกบ้าง
การรุกคืบจะกระทำได้สองวิธีคือ วิ่งถือบอล ซึ่งเรียกว่า การรัช (rushing) หรือ การขว้างบอลให้กับเพื่อนร่วมทีม เรียก การพาส (passing) ใน การเล่นแต่ละรอบ หรือที่เรียกว่า ดาวน์ ในอเมริกันฟุตบอลนั้นจะจบลงเมื่อ:
- ลูกบอลตาย เนื่องจากผู้เล่นที่ถือบอลอยู่ ถูกหยุด หรือ "แทกเกิล" โดยผู้เล่นฝ่ายรับ
- ลูกบอลที่ถูกขว้างไปข้างหน้า (forward pass) ตกกระทบพื้นก่อนที่จะมีผู้เล่นรับลูก เรียกว่า อินคอมพลีทพาส (incomplete pass)
- ลูกบอลจะถูกนำกลับมาเริ่มเล่นที่ตำแหน่งเดิม
- ลูกบอล หรือ ผู้เล่นที่ถือบอล เคลื่อนออกนอกสนาม (out of bound)
- มีการทำคะแนนเกิดขึ้น
และ ทีมรับซึ่งเป็นทีมที่ไม่ได้ครอบครองลูกนั้น สามารถที่จะแย่งลูกจากฝ่ายตรงข้ามได้โดย การแย่งรับลูก หรือ การอินเตอร์เซป (interception) โดยแย่งรับลูกที่ฝ่ายตรงข้ามขว้างให้เพื่อนร่วมทีม หรือ การทำ ฟัมเบิล (fumble)คือ เมื่อทีมรุกทำลูกหล่น ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายที่อยู่บนสนามสามารถครอบครองลูกนั้นได้ โดย การกระโดดตะครุบ หรือ การเก็บลูกขึ้นมาและวิ่งต่อ ฝ่ายที่ได้ครอบครองลูกหลังจากเกิดการฟัมเบิลจะได้เล่นเป็นฝ่ายครอบครองลูกต่อจากนั้น
ผู้เล่นทีมรับที่ได้ลูกบอลมาครอบครอง สามารถพาบอลวิ่งไปสู่เอนด์โซนของทีมตรงข้ามได้ การเล่นจะไม่จบจนกว่าจะถูกแทกเกิล วิ่งออกนอกสนาม หรือ ทำคะแนนได้
ในกีฬาอเมริกันฟุตบอล สามารถทำคะแนนได้หลากวิธี ดังนี้
- การทัชดาวน์ (touchdown) ได้ 6 คะแนน เมื่อ ผู้เล่นถือลูกวิ่งเข้าในเอนด์โซนของฝ่ายตรงข้าม หรือ การรับลูกที่ขว้างมาในเอนด์โซนของฝ่ายตรงข้าม นอกจากนั้นแล้วการทัชดาวน์ยังอาจเกิดจาก การเก็บลูกที่ฟัมเบิล ลูกพันท์ หรือ ลูกเตะประตู ที่ถูกปัด หรือ สกัด ในเขตเอนด์โซน
- การคอนเวอร์ชัน (conversion) คือ ทำแต้มพิเศษหลังจากทัชดาวน์ ใน เอ็นเอฟแอลลูกบอลจะนำมาเริ่มเล่นที่เส้น 2 หลา ทีมอาจเลือกทำการเตะประตู เพื่อทำคะแนนพิเศษ 1 คะแนน (extra point) หรือ ทำการเล่นเข้าไปเอนด์โซนอีกหนึ่งครั้ง ด้วยการวิ่งพาลูก หรือ การขว้าง เข้าไปเขตเอนด์โซน เพื่อทำคะแนนเพิ่ม 2 คะแนน (two-point conversion)
- การเตะประตู (field goal) เพื่อทำ 3 คะแนน เป็นการทำคะแนนโดยแตะลูกข้ามคาน ผ่านระหว่างเสาประตู การแตะนั้นจะต้องเป็นการแตะโดยที่ลูกบอลถูกจับวางตั้งบนพื้นสนามโดยเพื่อนร่วมทีม โดยปกติแล้วการแตะประตูจะกระทำในดาวน์ที่สี่ แทนการพันท์(เตะทิ้ง) เมื่อระยะระหว่างตำแหน่งของลูกไม่ห่างจากประตูจนเกินไป
- เกิดเซฟตี (safety) สำหรับ 2 คะแนน ทีมรับจะได้คะแนนจากการเกิดเซฟตี คือ ทีมรุกพาลูกบอลออกนอกสนามในเขตเอนด์โซน หรือ ผู้ถือบอลถูกแทกเกิลในเขตเอนด์โซน นอกจากนั้นในเกมเอนเอฟแอล การทำผิดกติกาบางประเภทของฝ่ายรุกก็นับเป็นเซฟตี หลังจากนั้นทีมที่ครอบครองลูกจะต้องเตะทิ้ง ฟรีคิก (free kick) ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับการพันท์ ที่เส้น 20 หลา
เรื่องอื่นๆ
Eye Shield 21 ฉบับอนิเม
ก่อนจะมาเป็นอนิเมชั่น อายชิลด์21 เคยทำเป็นภาพยนตร์อนิเมความยาว 30 นาที ออกฉายในงาน Jump Festa เมื่อปี2004 เป็นผลงานการกำกับของ นาคัตสึ ทามากิ ผลิตโดย Studio Production I.G. และ ในปี2005 ก็ถูกนำไปสร้างเป็นอนิเมชั่นฉายทางทีวี เป็นผลงานของ Studio NAS, Studio Gallop กำกับโดย นิชิดะ มาซาโยชิ ปัจจุบันออกอากาศทางช่อง TV Tokyo
ทำไมถึงเรียกเขาว่า IC ?
เชื่อว่านักอ่านจากที่อื่นๆนอกจากชาวญี่ปุ่นก็คงจะสงสัยขมวดคิ้วกันอย่างหนักว่า ทำไมบางคนถึงเรียก Eye Shield 21 ว่า IC เฉยๆ แทนที่จะเรียกเป็น ES ซึ่งจริงๆแล้ว IC นี้ก็คือคำย่อที่เรียก Eye Shield 21 ตามการออกเสียงแบบญี่ปุ่น คือ คนญี่ปุ่นเขาจะออกเสียง Eye Shield ว่า Ai Shirudo (ไอ ชิรุโดะ) แล้วก็เรียกย่อๆว่า Ai Shi เผอิญคำว่า Ai และ คำว่า Shi ก็ออกเสียงใกล้เคียงกับตัวอักษรอังกฤษอย่าง I กับ C ด้วย ก็เลยเป็นที่มาของชื่อย่อของ Eye Shield 21นั้นคือ IC
ปริศนา "Eye Shield 21 ตัวจริง" เขาเป็นใครกันแน่ ?
นับตั้งแต่ที่ เซนะ โดนจับแข่งในชื่อ "Eye Shield 21" จาก ม.โน้ตเตรอะดรัม นั้น หลายคนก็คิดว่าชื่อ Eye Shield 21 นั้นเป็นฉายาที่ตั้งขึ้นมาแทนตัวเซนะเท่านั้น แต่จุดเปลี่ยนของเรื่อง ก็มาจากการที่ คาเคอิ ชุน แห่ง เคียวชิน โพไซดอน นั้นก็เคยแข่งขันกับ Eye Shield 21 ตัวจริง ในตอนที่เขาอยู่ที่อเมริกา จากนั้นเขาก็รู้ว่า Eye Shield 21 ตัวจริง กลับญี่ปุ่นแล้ว เขาก็เลยกลับญี่ปุ่นตาม แต่พอเขาพบกับเซนะ ที่ใช้ชื่อ Eye Shield 21 เหมือนกัน ก็เลยไม่ชอบใจเท่าไหร่ที่เซนะ เอาชื่อนี้มาแอบอ้าง เพราะ ความสามารถของเซนะกับ Eye Shield 21 ตัวจริงนั้นช่างต่างกันมาก หลังจากที่เดม่อน เอาชนะ เคียวชิน ได้ คาเคอิก็ยอมรับในฝีมือของเซนะ พร้อมยังบอกอีกว่า Eye Shield 21 ตัวจริง อยู่ที่ใดที่หนึ่งในญี่ปุ่นแน่ และ ฝากให้เซนะเอาชนะ เข้ารอบลึกๆ เพื่อเจอกับ Eye Shield 21 ตัวจริงให้ได้
จากที่กล่าวมาข้างต้น ก็ทำให้เพิ่มปริศนาเข้าไปอีกว่า Eye Shield 21 ตัวจริง ตกลงเขาเป็นใครกันแน่? ทีแรกก็มุ่งเป้าไปที่ อาคาบะ ฮายาโตะ ผู้เล่นเบอร์21 ของ บันโดะ สไปเดอร์ส ว่าเขาอาจเป็นEye Shield 21ตัวจริง เพราะ เขาเองก็ไม่สบอารมณ์เท่าไหร่ที่ เซนะเอาชื่อนี้ไปใช้ แถมก่อนแข่งกับเดม่อน เขาก็บอกให้โฆษกประกาศชื่อเขาว่า "Eye Shield 21 ตัวจริง" พอจบแมตซ์ดังกล่าว ก็พบว่า ตัวจริงนั้นก็ยังไม่ใช่เขา แต่เขาก็ยังยอมรับว่า เซนะ เหมาะสมที่จะใช้ชื่อ Eye Shield 21 มากกว่าเขา แถมตัวเขานั้นก็ยังมอบ Shield หรือ ที่บังตาที่ติดกับหมวกอเมริกันฟุตบอลของเขา ให้กับเซนะอีกด้วย
และจนแล้วจนรอด ในศึกชิงแชมป์ฤดูใบไม้ร่วงภาคคันโต Eye Shield 21 ตัวจริงก็ยังไม่ปรากฏกายออกมา ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ก็คาดเดากันว่า น่าจะเป็นผู้เล่นคนใดคนหนึ่งของทีม ฮาคุชู ไดโนเสาร์ หรือไม่ก็ อาจเล่นอยู่กับทีมอื่น และจะมาปรากฏตัวจริงๆในศึกคริสมาสโบลว์ก็เป็นได้ และผลปรากฏว่า Eye Shield 21 ตัวจริง นั้นคือ ยามาโตะ ทาเครุ ผู้เล่นมือหนึ่งของเทย์โคคุ อเล็กซานเดอร์ แชมป์จากฝั่งคันไซ นั่นเอง
เกร็ดน่ารู้ของผู้แต่งเรื่องนี้
เชื่อหรือไม่ว่า อ.ยูสึเกะ มุราตะ ผู้วาดภาพให้กับการ์ตูนเรื่องนี้ เคยออกแบบบอสจากเกมร็อคแมนส่งเข้าประกวด ในขณะที่เขามีอายุ 13 ปี และผลงานของเขาก็ได้รับคัดเลือกให้กลายเป็นบอสที่ปรากฏในเกมจริงๆ ซึ่งก็คือ ดัสต์แมน จากร็อคแมนภาค 4 และ คริสตัลแมน จากร็อคแมนภาค 5
ส่วน อ.ริอิจิโร่ อินางากิ ผู้แต่งเรื่องนั้น เคยชนะเลิศในการประกวด Story King ของนิตยสารโชเน็นจัมป์ เมื่อปี 2001
(ข้อมูลจาก Wikipedia,http://www.manager.co.th/Game/ViewNews.aspx?NewsID=9510000073051)
เรื่องนี้มีดีอย่างไร?
สำหรับ Eye Shield 21 นี้ ก็จัดเป็นหนึ่งในเรื่องที่ได้รับความนิยมอีกเรื่องหนึ่งในบ้านเรา โดยลงประจำในนิตยสารบูม ทุกสัปดาห์ และก็เป็นเรื่องน่าทึ่งที่ผู้แต่งสามารถนำกีฬายอดฮิตของอเมริกันชน ซึ่งไม่ค่อยได้รับความนิยมในบ้านเรานั้น ให้สนุกไปกับมันได้ แถมสามารถเข้าใจในกติกาของกีฬาประเภทนี้ได้บ้าง(แม้ว่าข้อมูลยังมั่วๆอยู่บางจุดก็เถอะ) และสิ่งที่ทำให้การ์ตูนเรื่องนี้สนุก ก็ตรงลูกเล่นที่เสริมเข้ามาในเรื่อง โดยเฉพาะคาแร็คเตอร์ของทีม และ ตัวละครที่แตกต่างกันไป แถมยังสามารถอิงไปถึงรายละเอียดปลีกย่อยได้อีก อย่างเช่น สิ่งที่แต่ละคนชอบ ก็ยังอุตส่าห์โยงเข้ากับบุคลิกแต่ละคนได้ นอกจากมุขตลกจะฮาแล้ว สิ่งหนึ่งที่ทำได้เยี่ยมไม่แพ้กันคือ ความดราม่าของเรื่อง ซึ่งก็ทำได้อย่างประทับใจ และก็มีอยู่หลายฉาก รวมไปถึง เรื่องนี้ยังได้สะท้อนถึง ความมุ่งมั่นอุตสาหะที่จะทำสิ่งนั้นให้สำเร็จ, ความกล้าที่จะทำบางสิ่ง เมื่อโอกาสนั้นอยู่ในมือ หรือจะเป็น พัฒนาการด้านต่างๆของตัวละครเรื่องนี้ จากที่เล่นอเมริกันฟุตบอลไม่เป็นเลย หรือไม่ชอบกีฬา แต่พอตั้งใจไปกับมันได้ ก็ซึมซับความเป็นนักอเมริกันฟุตบอลเลย(โดยเฉพาะ ลูกทีมเดม่อนหลายๆคน) และสิ่งสำคัญที่สุดที่มีอยู่ในการ์ตูนกีฬาเกือบทุกเรื่อง คือ สามัคคีคือพลัง และ ความมีน้ำใจเป็นนักกีฬา นั่นเอง