จุก เบี้ยวสกุล



ประวัติ

  

  ในยุคสมัยนี้ หากจะพูดถึงนักเขียนการ์ตูนที่บรรดานักอ่านการ์ตูนรุ่นใหม่เขารู้จัก ส่วนใหญ่มักรู้จักกับนักแต่งการ์ตูนชาวญี่ปุ่น แล้วนักเขียนการ์ตูนคนไทยล่ะ พวกเขารู้จักใครกันบ้าง แน่นอนว่าส่วนใหญ่มักจะรู้จักนักเขียนการ์ตูนที่เขียนลงใน ขายหัวเราะ มหาสนุก เท่านั้น แต่สำหรับนักอ่านการ์ตูนที่มีอายุหน่อย ก็จะรู้จักบุคคลท่านนี้ และก็ยกย่องว่า เป็นสุดยอดนักเขียนการ์ตูนไทยคนหนึ่งในวงการการ์ตูนไทยเลยทีเดียว และเป็นแรงบันดาลใจแก่นักเขียนการ์ตูนไทยยุคหลังๆอีกด้วย ด้วยสไตล์ลายเส้น การแต่งเรื่องที่มีความเป็นเอกลักษณ์เป็นของตนเอง บุคคลที่เราจะมาแนะนำก็คือ "จุก เบี้ยวสกุล"
  

  จุก เบี้ยวสกุล หรือ จุลศักดิ์ อมรเวช เกิดวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2485 (แต่บางแหล่งระบุว่าเกิดปี พ.ศ. 2484) ในช่วงปีพ.ศ. 2499 - 2500 เรียนหนังสือระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งเป็นโรงเรียนในสังกัดวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เนื่องจากเขารักการวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก และรักการวาดการ์ตูนเป็นชีวิตจิตใจ ทำให้เขาตัดสินใจเรียนต่อ สายวิชาชีพช่างที่โรงเรียนเพาะช่าง
จุดเริ่มต้นในเส้นทางการเขียนการ์ตูนของอ.จุก ก็คือ ก่อนที่จะเข้าศึกษาในโรงเรียนเพาะช่าง เขาก็วาดการ์ตูนเรื่อง จอมอภินิหาร หรือ ซูเปอร์แมนไทย ให้สำนักพิมพ์ บางกอก แทน ชุมพร แก้วสาร (นามปากกา หลังฉาก) ซึ่งเสียชีวิตไปก่อนหน้านี้

  หลังจากนั้นได้เปลี่ยนแนวการวาดนิยายภาพมาสู่แนวของตนเองในเรื่อง เจ้าชายผมทอง เมื่อปี พ.ศ. 2501 โดยวาดพระเอกให้มีหน้าตาคมคาย ไว้ผมสีทองคล้าย เอลวิส เพรสลีย์ โดยสำนักพิมพ์แพร่อักษรเป็นผู้จัดพิมพ์และได้รับความนิยมจากผู้อ่านอย่างยิ่ง

  หลังจากนั้นมีผลงานนิยายภาพต่อมาอีกหลายเรื่อง เช่น มังกรสามหัว พันมังกร อัศวินดาบดำ ฯลฯ ในนามสำนักพิมพ์ผ่านฟ้าพิทยา ปีพ.ศ.2502 อ.จุก ใช้นามปากกา จุลศักดิ์ ในการแต่งเรื่อง มังกรสามหัว และปีพ.ศ. 2503 นิยายภาพผ่านฟ้า มีการ์ตูนขนาด 10 เล่มจบ ในเรื่อง อัศวินดาบดำ และก็มีผลงานเรื่องอื่นๆตามมาอย่าง พันมังกร
,เพชรพระอุมา ,ขวานฟ้าหน้าดำ, เจ้าชายอนิรุธ ,เจ้าชายผมทอง

  ในปีพ.ศ. 2507 จุก เบี้ยวสกุล ได้หันมาทำหนังสือการ์ตูนแนวครอบครัวชื่อ เพื่อนหนู โดยมีนักเขียนการ์ตูนรุ่นใหม่อย่าง เตรียม ชาชุมพร รวมอยู่ด้วย ในช่วงปีพ.ศ. 2509-2516 เขาทำหนังสือ การ์ตูนขวัญใจ ทั้งหมด 32 เล่ม ซึ่งก่อนหน้านั้น ในช่วงปี 2510-2512 ขณะที่ จุก เบี้ยวสกุล อยู่ที่อุบลราชธานี ได้ส่งนิยายภาพ สาวน้อยอภินิหาร ลงตีพิมพ์ในนิตยสารจักรวาล (เพชรพระอุมา) ที่ลงถึงสัปดาห์ละ 20 หน้า รวม 400 หน้า ซึ่งรวมเล่มได้ถึง 8 เล่ม

  ปี 2523 จุก เบี้ยวสกุล เขียนการ์ตูนชุดสมุนไพรให้คุณค่าลงในนิตยสารเรื่องจริงรายสัปดาห์ (ฉบับละ 2 รูป) และต่อมารวมเล่มเป็นครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์ธรรมชาติ เมื่อปี 2529

  ปี 2544 ได้มีการวบรวมผลงานบทความ รากแก้วการ์ตูนไทย ที่จัดทำเป็นหนังสือ ตำนานการ์ตูนไทย (LEGEND OF CARTOONS AND COMICS) โดยสำนักพิมพ์แสงดาว ซึ่งนับเป็นบันทึกประวัติศาสตร์วงการการ์ตูนไทยที่ค่อนข้างสมบูรณ์ที่สุดเล่มหนึ่ง

  เบื้องหลังการทำงานของ จุก เบี้ยวสกุล นั้น แต่เดิมนั้น เขาจะใช้ปากกาในการวาดภาพ และเขาก็เป็นคนแรกที่เลิกใช้ปากกา (ยกเว้นเขียนตัวหนังสือบรรยายเรื่อง) และหันมาใช้พู่กันในการวาดภาพแทน เพราะในการเขียนฉากการต่อสู้ หรือการเคลื่อนไหวของตัวละครที่ต้องแสดงอารมณ์แรงๆในการฟันดาบนั้น การใช้พู่กันจะดูมีชีวิตชีวามากกว่า และที่มาของนามปากกา จุก เบี้ยวสกุล นั้น เขาก็เอามาจากชื่อของตัวละครคนหนึ่งในละครเรื่อง หนึ่งต่อเจ็ด ซึ่งเป็นบทประพันธ์ของ ส. อาสนจินดา

  ตลอดชีวิตของ จุก เบี้ยวสกุล เขาก็ยังคงทำงานเกี่ยวกับการ์ตูนตามที่เขารัก และมีผลงานอย่างต่อเนื่องทั้งนิยายภาพ ภาพปกและบทความสารคดีการ์ตูนลงพิมพ์มากมาย ในบั้นปลายชีวิต จุก เบี้ยวสกุล ก็ยังดำรงตำแหน่งนายกสมาคมการ์ตูนไทย กรรมการที่ปรึกษาสถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก พร้อม ๆ กับเขียนนิยายภาพอิงคติสอนใจในหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ (ฉบับเสาร์ อาทิตย์) ในเครือบริษัทวัฎฎะ คลาสสิฟายด์ส ก่อนที่จะเสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งในปอดในวันที่ 15 กรกฎาคม 2547 ด้วยวัยเพียง 62 ปี

 

ผลงาน

  

  • พ.ศ. 2499 จอมอภินิหาร หรือ ซูเปอร์แมนไทย
  • พ.ศ. 2501 เจ้าชายผมทอง
  • พ.ศ. 2503มังกรสามหัว
  • พ.ศ. 2503 อัศวินดาบดำ
  • พ.ศ. 2507 เพื่อนหนู หนังสือการ์ตูนแนวครอบครัว
  • พ.ศ. 2509 หนังสือการ์ตูนขวัญใจ
  • พ.ศ. 2510 สาวน้อยอภินิหาร และเพชรพระอุมา
  • พ.ศ. 2523 สมุนไพรให้คุณค่า ลงในนิตยสารเรื่องจริง รายสัปดาห์ นอกจากนี้ยังมีภาพปกการ์ตูนเล่มละบาทของสำนักพิมพ์บางกอกสาส์น
  • พ.ศ. 2544 ตำนานการ์ตูนไทย ผลงานรวมบทความ “รากแก้วการ์ตูนไทย”
  • พ.ศ. 2545 ภาพปก “สามเกลอ” พิมพ์ใหม่ของสำนักพิมพ์แสงดาว
  • พ.ศ. 2547 ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมการ์ตูนไทย

อ้างอิงจาก
http://th.wikipedia.org/wiki/
http://www.pantown.com/content.php?id=13352&name=content3
บทความของ พลังกร สุรเดช แห่ง นสพ.'วัฏฏะ-โลกวันนี้'

 
free hit counter javascript