ทิศทางของการ์ตูนไทยในปัจจุบันและอนาคต

  


  เหตุผลหนึ่งที่ผมต้องการอยากจะเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับ การ์ตูนไทย ก็เพราะ ในช่วงต้นเดือนนี้ ก็มีงานการ์ตูนสำคัญๆที่จัดขึ้นในบ้านเรา นั่นก็คือ งานมหกรรมการ์ตูนโลก จัดขึ้นที่ อิมแพค อารีน่า เมืองทองธานี วันที่ 7-15 มกราคม และ งาน TAM 2006 จัดขึ้น ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ วันที่ 12-15 มกราคม

  โดยงานมหกรรมการ์ตูนโลกนั้น ก็จัดว่าเป็นงานการ์ตูนงานใหม่ ซึ่งจัดโดย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อเสริมสร้างจินตนาการของน้องๆหนูๆวัย0-6ปี และ มีเหล่าตัวการ์ตูนจากทุกมุมโลก รวมถึง การจัดกิจกรรมมากมายมาให้ผู้เข้าชมงานได้สนุกกัน  ส่วนงาน TAM 2006 (Thailand Animation and Multimedia)นั้น ก็จัดขึ้นมาในปีที่3 แล้ว เป็นงานที่มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนผลงานด้าน อนิเมชั่น เกมส์ และ ไอที โดยฝีมือคนไทย และ ให้ความรู้และสนับสนุนอาชีพด้านไอที และ อนิเมชั่น ซึ่งในงานก็มีการออกบูตของบริษัทชั้นนำของโลกและของไทยเช่นกัน

  โดย2งานดังกล่าวนั้น ถ้าจะว่ากันจริงๆ ทั้ง2งานก็จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมงานทางด้านอนิเมชั่น และ เกมส์ โดยฝีมือคนไทย เพื่อยกระดับให้ก้าวหน้าทัดเทียมเท่ากับประเทศอื่นๆ ที่มีชื่อเสียงในด้านนี้อย่าง ญี่ปุ่น และ อเมริกา  พอย้อนกลับมาดูอนิเมชั่น หรือ การ์ตูน ฝีมือคนไทยในปัจจุบันนี้ ก็ถือได้ว่า ได้รับการยอมรับจากคนส่วนหนึ่ง
คือ ถ้าเป็น คอมิค ฝีมือคนไทย นอกจากจะมี ขายหัวเราะ และ มหาสนุก ที่ยังคงได้รับความนิยมอยู่ ก็ยังมีการ์ตูนไทยที่ได้รับอิทธิพลมาจากการ์ตูนญี่ปุ่นหรือชาติอื่นๆ เช่น Joe the seacret agent ,มีด 13 และ อภัยมณีซาก้า ก็เป็นที่ชื่นชอบของผู้อ่านวัยรุ่นรวมไปถึงการ์ตูนที่ดัดแปลงจากประวัติศาสตร์ไทยก็ออกแบบตัวการ์ตูน ให้ออกญี่ปุ่นๆเพื่อดึงดูดผู้อ่านวัยเด็กด้วย
  ส่วนอนิเมชั่นไทย ก็ถือว่า ยังมีการผลิตกันอยู่เรื่อยๆ และ ที่ถือว่าประสบความสำเร็จ ก็มี สุดสาคร ปังปอนด์ ดิ อนิเมชั่น ไฮเปอร์บ็อกซ์ โดย2เรื่องหลังประสบความสำเร็จถึงขนาดที่บางประเทศขอซื้อลิขสิทธิ์ไปฉาย และปัจจุบัน ก็มี 3 ก๊ก ฝีมือของคุณหมูนินจา ฉบับอนิเมชั่นมาฉายทางช่อง7ด้วย และ ก้านกล้วย ภาพยนตร์อนิเมชั่นทุนสร้างสูงของบ.กันตนาก็กำลังจะออกเข้าฉายทั่วโลกด้วยเช่นเดียวกัน

  ถึงการที่รัฐบาลจัดงาน2งานดังกล่าวเพื่อสนับสนุนวงการการ์ตูนไทยจริงๆ และ การ์ตูนไทยนั้นมีการพัฒนาสนับสนุนต่อเนื่องจริงๆถ้านับจากปริมาณ แต่ถามว่า รัฐบาลสนับสนุนมากพอหรือไม่ ขอบอกไว้เลยว่ามันยังไม่พอ ถึงจะอ้างว่า ตอนนนี้พวกเขาสามารถสนับสนุนให้การ์ตูนไทยได้ยกระดับความก้าวหน้า ทัดเทียมกับการ์ตูนฝรั่งหรือการ์ตูนญี่ปุ่นได้แล้วนั้น ถือว่าเป็นคำพูดที่ค่อนข้างเกินจริงไปสักหน่อย แม้ว่าในปัจจุบันการ์ตูนไทยได้รับความยอมรับจากผู้อ่านและ
ผู้ชมกลุ่มหนึ่งมากขึ้น แต่ทว่าการ์ตูนไทยในทุกวันนี้นั้น มันยังขาดองค์ประกอบหลายอย่างที่ทำให้การ์ตูนไทยนั้นยังไม่ได้รับความนิยมเท่ากับการ์ตูนจากญี่ปุ่นและตะวันตก ซึ่งผมรับรองได้ว่า มีผู้อ่านการ์ตูนหลายๆคน ที่อยากจะให้การ์ตูนไทยเรานั้น พัฒนาขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง เหมือนกับการที่เราหวังอยากให้ฟุตบอลทีมชาติ ประสบความสำเร็จในระดับที่สูงกว่า ไม่ใช่เอาแต่ยึดติดกับเจ้าซีเกมส์เหมือนที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

  แล้วทำไมพวกผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเราถึงไม่ค่อยสนับสนุน กลุ่มคนทำงานเกี่ยวกับการ์ตูน ทั้ง อาชีพนักแต่งการ์ตูน อนิเมเตอร์ มากนัก ทำให้เส้นทางของคนทำอาชีพนี้ ค่อนข้างจะสะเปะ สะปะ ไม่มีอนาคตที่แน่นอนเอาซะเลย ส่วนหนึ่งก็เพราะพวกเขาต้องคอยแก้ปัญหาเกี่ยวกับบ้านเมืองซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่า ซึ่งมันก็เป็นเรื่องจริง แต่ทำไมไม่ลองหันไปดูแลสนับสนุนกลุ่มคนทำงานการ์ตูนให้เป็นอาชีพที่มั่นคง เหมือนกับคนญี่ปุ่นบ้างล่ะ ซึ่งก็คล้ายๆกับ การที่รัฐพยายามสนับสนุนเรื่องกีฬาให้กลายเป็นอาชีพหนึ่งเช่นกัน

  เส้นทางของกลุ่มคนทำงานวงการการ์ตูน และ นักกีฬาอาชีพในบ้านเรา ต่างก็มีจุดหนึ่งที่คล้ายคลึงกัน นั่นก็คือ ความไม่แน่นอนในเส้นทางอาชีพ คือ พวกเขาเคยใฝ่ฝันว่าจะมายืนอยู่ในวงการนี้ แต่แล้วก็มีสิ่งหนึ่งที่ทำให้พวกเขานั้น เลิกใฝ่ฝันที่จะทำ แล้วสิ่งใดล่ะที่ทำให้คนกลุ่มนี้ถึงไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนมากเท่าที่ควร จนบางคนถอดใจถึงกับเลิกเลย ซึ่งสิ่งนั้นก็คือ ทัศนคติวิสัยทัศน์ของคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ใหญ่บางคน(และเป็นส่วนใหญ่) นั้น มักจะติดภาพของการ์ตูนว่า เป็นสิ่งไร้สาระ เป็นเรื่องสำหรับเด็กๆเพียงกลุ่มเดียว และก็เพราะทัศนคติของพวกเขาเหล่านี้แหละ ที่ทำให้เกิดการโต้เถียงกันระหว่างผู้ใหญ่รุ่นเก่ากับเด็กสมัยใหม่อยู่บ่อยๆ เชื่อว่า มีหลายๆคนที่เคยสนุกกับการ์ตูนอย่าง โดราเอม่อน นั้น ก็เคยคิดฝันอยากเป็นคนทำการ์ตูน แต่ก็ถูกผู้ใหญ่ผู้หวังดีกลุ่มนั้นเบรกไว้ โดยอ้างว่า ต้องเรียนให้สูงๆ ถึงจะมีอนาคตดีๆ หรือไม่ก็ บอกว่า เหลวไหล ไปทำอย่างอื่นที่มันได้เรื่องได้ราวจะดีกว่า ซึ่ง ผมเชื่อว่า ในแง่จินตนาการนั้น คนไทยก็มีความคิดสร้างสรรค์ที่แปลกใหม่ ไม่แพ้ใครเลย สามารถจะต่อเติมจินตนาการมากพอที่จะสร้างการ์ตูนได้อย่างหลากหลายแนว แต่จินตนาการของพวกเขานั้นก็มาหยุดชะงักลง ก็เพราะคนกลุ่มนั้นที่ยังมองว่า การ์ตูนนั้นมีไว้ให้เด็กๆดูเท่านั้น ต้องมีสาระประโยชน์ ข้อคิดดีๆ ต้องไม่รุนแรง และคงความเป็นไทยเอาไว้ แล้วมันก็ส่งผลให้ patternขององค์ประกอบในการ์ตูนไทยก็คงยึดติดกับรูปลักษณ์เดิมๆ ทั้ง "เด็กน้อยผมแกละ" "คนนุ่งสะไบ" "คนนุ่งโจงกระเบน" "บ้านทรงไทย" "หนุมาน" ฯลฯ แถม เนื้อเรื่องของการ์ตูนนั้นก็ยังคงเอาแต่พวกวรรณคดีมาเขียนทำใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่เคยคิดที่จะคิดพล็อตเรื่องให้แหวกแนวเลย ซึ่งข้อความดังกล่าวนั้นดูเหมือนจะสื่อว่า จะให้การ์ตูนไทยมันไม่มีเอกลักษณ์ คอยแต่เลียนแบบญี่ปุ่นแบบนี้เหรอ ซึ่งจริงๆแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้น แต่หมายถึง ให้เราคิดพล็อต หรือ องค์ประกอบต่างๆในการ์ตูนไทยให้พัฒนาไปตามยุคสมัยที่เกิดขึ้น และต้องน่าสนใจ เพราะ ในปัจจุบันนั้น เราก็ไม่ได้แต่งชุดโจงกระเบนออกไปเรียนหรือทำงานนิ เช่นเดียวกับ การที่เอาเนื้อเรื่องจากวรรณคดีมาแต่งเป็นการ์ตูนนั้น ก็ต้องคำนึงถึงยุคสมัย และที่สำคัญต้องกล้าที่จะดัดแปลงเนื้อเรื่อง แต่ยังคงต้องรักษาพล็อตเรื่องที่สำคัญๆเอาไว้ อย่างเช่น อภัยมณีซาก้า ที่ดัดแปลงจากวรรณคดีเรื่อง พระอภัยมณี แต่ผู้แต่งกล้าที่จะทำเรื่องให้แหวกแนวเป็นแนวแฟนตาซี เวทย์มนต์ แต่ยังคงรักษาพล็อตเรื่องที่สำคัญๆอย่าง การต่อสู้กับนางยักษ์ของพระอภัยมณีด้วยเช่นกัน


ถึงสุดสาครจะประสบความสำเร็จในแง่ของผู้ชม แต่ก็ยังคงมีแฟนการ์ตูนบางส่วนที่ยังค่อนขอดว่า
ยังยึดติดกับภาพลักษณ์ของการ์ตูนไทยแบบเดิมๆ



  ส่วนองค์ประกอบอีกอย่างหนึ่งของการ์ตูนไทยในปัจจุบันที่มักถูกวิจารณ์บ่อยๆ นั่นก็คือ เรื่องของลายเล้น ซึ่งมักโดนติติงในแง่ที่ไม่เป็นเอกลักษณ์ เลียนแบบญี่ปุ่นชัดๆเลย ซึ่งในจุดนี้นั้น มันไม่สำคัญมากนัก เพราะ อย่าลืมว่า การ์ตูนญี่ปุ่นนั้น มันมีอิทธิพลกับการ์ตูนไทยมาตั้งนานแล้ว ถ้าลองมองกลับกัน การ์ตูนญี่ปุ่นช่วงแรกๆนั้น โดยเฉพาะ ผลงานของ อ.โอซามุ นั้น ก็มีลายเส้นที่คล้ายๆกับ การ์ตูนพวกวอล์ท ดิสนี่ย์ เลย แต่กลับกลายเป็นว่าผลงานของอ.โอซามุนั้นกลับดังไปทั่วโลก แถมเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักเขียนการ์ตูนยุคหลังๆอีกด้วย นั่นก็เป็นเพราะว่า เขาเน้นความสำคัญไปที่เนื้อเรื่องมากกว่า ส่วนลายเส้นนั้นจะเน้นความสำคัญรองลงมา และ จากจุดนั้น การ์ตูนญี่ปุ่นยุคหลังๆก็มีการพัฒนาทั้งเนื้อเรื่อง และ ลายเส้นให้เป็นเอกลักษณ์ของตนเองมากขึ้น จนถึงขนาดที่การ์ตูนฝรั่งบางเรื่องในปัจจุบัน ก็ยังได้รับอิทธิพลจากการ์ตูนญี่ปุ่นด้วยเหมือนกัน ซึ่งการ์ตูนไทยก็เช่นเดียวกัน อย่าลืมว่า ลายเส้นจะเป็นยังไงก็ช่าง แต่ขอให้เนื้อเรื่องที่สร้างสรรค์ออกมานั้น ขอให้ออกมาน่าสนใจก็พอ แม้ในวันนี้งานลายเส้นอาจคล้ายกับญี่ปุ่น แต่ในวันข้างหน้าเราอาจพัฒนาลายเส้นให้เป็นเอกลักษณ์ของตนเองก็เป็นได้


  ถึงปัจจุบันนี้ จะมีคอมิคโดยฝีมือคนไทยมากขึ้น แต่ลองมองความนิยมของบรรดานักอ่านในปัจจุบันว่า ทำไมคอมิคฝีมือคนไทยถึงยังไม่ได้รับความนิยมเท่าคอมิคจากญี่ปุ่นล่ะ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันนั้น การ์ตูนญี่ปุ่นยังคงโดนกลุ่มคนหัวเก่าค่อนแคะว่า ไร้สาระ ส่งเสริมเรื่องเซ็กซ์ และ ความรุนแรง ซึ่งจริงๆแล้วๆก็เป็นการมองแค่เพียงจุดๆหนึ่งแล้วเอาไปเหมารวมแค่นั้น โดยคนกลุ่มนั้นหารู้ไม่นั่น ว่าเนื้อเรื่องของการ์ตูนญี่ปุ่นนั้นยังมีมิติ ซับซ้อน หลากหลาย มากกว่าที่คิดเอาไว้ซะอีก เพราะ ไม่ว่าจะเป็น การ์ตูนแนวแอ็คชั่น ทำอาหาร กีฬา การเมือง ก็มักเสริมเนื้อหาในแง่ของ มิตรภาพระหว่างเพื่อนพ้อง การต่อสู้ระหว่างความดีและความชั่ว ความรู้ในแง่วิทยาศาสตร์ สังคม โภชนาการ ฯลฯ โดยที่การ์ตูนบางเรื่องนั้น อาจแฝงไปด้วยความรุนแรง ฉากวาบหวิว บ้างก็เพราะ ต้องการให้การดำเนินเรื่องนั้นมีอรรถรสมากขึ้น ทำให้อ่านสนุกมากขึ้น (แม้ว่าบางทีอาจใส่เยอะจนน่ารำคาญก็เถอะ)
  ด้วยเหตุนี้ การ์ตูนจึงกลายมาเป็นวัตนธรรมประจำตัวของคนญี่ปุ่นเป็นสิ่งบันเทิงที่ดูได้ทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือเด็กก็สามารถอ่านได้ และ การ์ตูนของญี่ปุ่นนั้น นอกจากจะมีเนื้อเรื่องที่หลากหลายแล้ว ก็ยังมีการจัดเนื้อหาของการ์ตูนให้เหมาะสมกับกลุ่มคนแต่ละวัยด้วย อย่าง เด็กๆก็ต้องเป็นพวก โดราเอม่อน โปเกม่อน ดิจิม่อน เป็นต้น ส่วนวัยรุ่น ถึง ผู้ใหญ่นั้นก็จะเป็นการ์ตูนที่เพิ่มระดับความรุนแรงขึ้นมาหน่อย รวมถึงมีฉากวาบหวิวมากขึ้นอีกด้วย 

  พอพูดถึงการ์ตูนญี่ปุ่น ก็ลองย้อนมามองถึงการ์ตูนไทยในปัจจุบัน ซึ่งการที่จะทำให้การ์ตูนไทยได้รับความนิยมจากผู้อ่านได้มากพอๆกับการ์ตูนญี่ปุ่น หรือ ชาติอื่นๆ ก็คงจะต้องใช้เวลานานพอสมควร ตราบใดที่ กลุ่มผู้ใหญ่ในบ้านเรายังมองว่าการ์ตูนเป็นโลกของเด็กๆ ต้องคอยปรับทัศนคติเกี่ยวกับ การ์ตูน ว่า เป็นสิ่งบันเทิงของคนทุกเพศทุกวัยอยู่บ่อยๆ โดยผู้แต่งสามารถใช้จินตนาการให้เต็มที่เพื่อที่จะสร้างสรรค์การ์ตูนไทยที่มีเนื้อหาเฉพาะตัว

จะเอาเป็นแนวผจญภัย แอ็คชั่น อิงประวัติศาสตร์ กีฬา ทำอาหาร ฯลฯ โดยจะเสริมฉากแบบไหนก็ได้ และ อ่านได้ ทุกเพศทุกวัย เพียงแต่ว่า เราอย่ายัดเยียดความเป็นไทยเราให้มากเกินไป เอาพอเหมาะพอควร และให้คอยคำนึงถึงความเหมาะสมกับสภาพสังคมปัจจุบันของเราด้วย โดยเฉพาะ ฉากลามก ถ้าพูดกันตามตรง การ์ตูนไทย ยังไม่เหมาะสมที่จะมีพวกฉากเซอร์วิสสักเท่าไหร่ ผิดกับญี่ปุ่นที่เขาสามารถแต่งได้ก็เพราะ สังคมเขาเปิดกว้าง ค่อนข้างจะเปิดเผยในสาธารณะ ไม่เหมือนกับของไทยเรา ที่ยังคงอยู่ในกรอบศีลธรรม ซึ่ง ทุกวันนี้ก็มีข่าวอาชญากรรมทางเพศ และ การ์ตูนก็มักเป็นสาเหตุหลักอันดับต้นๆที่มักโดนโทษอยู่บ่อยๆว่าเป็นต้นเหตุของอาชญากรรม ทั้งๆที่พวกเขาอาจลืมไปว่า มีสื่ออื่นๆพวก ละคร นสพ.ฉบับวันอาทิตย์ นิตยสาร ก็ยังลงภาพเหล่านี้อยู่เหมือนกัน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นสื่อไหน มันก็มีผลต่อเยาชนไทยทั้งสิ้น แต่ต้องขึ้นกับการอบรมสั่งสอนเลี้ยงดูของคนทางบ้านว่ามีมากน้อยแค่ไหน รวมถึงวิจารณญาณของผู้รับสื่ออีกด้วย ซึ่งที่ยังเป็นปัญญาอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะ รัฐยังไม่มีการจัดระเบียบของสื่ออย่างชัดเจน

เพชรพระอุมา การ์ตูนจากนิยายที่ขายดีทุกยุคทุกสมัย
ผลงานของ อ.จุก เบี้ยวสกุล นักวาดการ์ตูนไทยที่ได้รับการยกย่องว่า
มีสไตล์การแต่งเรื่องและวาดภาพที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง

   ซึ่งการจัดเรตของสื่อนั้น จริงๆก็อยากจะให้ทำ แต่คงยังไม่เหมาะสมกับสังคมบ้านเรานักในตอนนี้ เพราะ การจัดเรตสื่อนั้น มันมีผลต่อการพัฒนาการ์ตูนไทยด้วยเหมือนกัน เพราะ การจัดเรตของสื่อให้เหมาะสมกับวัยของผู้รับสื่อนั้น จะทำให้การ์ตูนไทยมีหลายเรื่องหลายแนว และ เน้นกลุ่มคนอ่านเฉพาะกลุ่มอายุมากขึ้น โดยการ์ตูนที่มีเนื้อหาเบาๆไม่มีฉากวาบหวิวรุนแรงก็ให้เด็กๆ(หรือ วัยอื่นๆ)อ่านได้ ส่วนการ์ตูนที่เนื้อหารุนแรงนั้นก็ให้ผู้ใหญ่เขาอ่านไป แต่อาจต้องหามาตราการป้องกันไม่ให้เด็กๆเขาเลือกซื้อการ์ตูนแนวผู้ใหญ่ โดยเฉพาะ การ์ตูนที่มีเนื้อหาลามกมอมเมาเยาวชน นั้นได้ ซึ่งถ้าจะว่ากันตรงๆ ในบ้านเราคงต้องใช้เวลาอีกนานหลายปีเลยทีเดียวหล่ะ

  กล่าวโดยสรุป ทิศทางของการ์ตูนไทยจะมีหนทางที่สดใสขึ้น ถ้าทุกคนช่วยกัน คือ รัฐบาลจะต้องสนับสนุนกลุ่มคนในอาชีพสายการ์ตูนให้มากขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ให้เป็นอาชีพที่แน่นอนมั่นคง และ ต้องเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับ การ์ตูน ว่านั้นเป็นสิ่งบันเทิงสำหรับคนทุกเพศทุกวัย เช่นเดียวกับ หนัง หรือ ละคร และ ต้องมีการจัดระเบียบสื่อให้เหมาะสมกับวัยด้วย ส่วนคนทำอนิเมชั่นหรือคนเขียนการ์ตูนจะต้องพัฒนา สร้างตัวละครให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ให้เป็นที่จดจำของคนทั่วไป ในแง่เนื้อเรื่องนั้นไม่จำเป็นต้องยึดติดกับความเป็นไทยมากนัก แต่ ต้องทำเนื้อเรื่องให้น่าสนใจจริงๆ ส่วนคนอ่านการ์ตูนอย่างเราๆ ก็ต้องช่วยกันอุดหนุนการ์ตูนฝีมือคนไทยด้วยเช่นกัน


kartoon-discovery.com
Jan 2006

 


 
free hit counter javascript