รอบรู้เรื่องญี่ปุ่น #6.......เซ็นโงคุ สงครามระหว่างแคว้น

 ในสมัยอดีต ญี่ปุ่นเคยมีความขัดแย้งภายในแผ่นดินเดียวกันมาก่อน ซึ่งสืบเนื่องมาจากปัญหาทางด้านการเมืองที่เสื่อมถอยลง จึงทำให้บรรดากลุ่มคนหลากกลุ่มจึงตัดสินใจตั้งตัวเป็นใหญ่ และมีการต่อสู้แย่งชิงระหว่างแคว้นกัน จนลามไปสู่สงคราม ความไม่สงบในแผ่นดินญี่ปุ่นที่กินเวลานานนับ 100 กว่าปี หรือที่เรียกกันว่า ยุคเซ็นโงคุ นั่นเอง แม้ว่าในยุคดังกล่าว จะเป็นยุคที่ผู้คนในญี่ปุ่นจะใช้ชีวิตอย่างลำบากยากแค้น แต่อย่างน้อยในยุคนี้ได้ถือกำเนิดนักรบ ซามูไรผู้มีชื่อเสียงหลายท่าน เลยทีเดียว

  โดยในบทความนี้ เราได้บอกเล่าความเป็นมาเกี่ยวกับยุคสมัยนี้ เพื่อเป็นการให้ความรู้ รวมถึง ได้สะท้อนเกี่ยวกับเรื่องราวของสงครามความขัดแย้งระหว่างคนหลายกลุ่ม ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดนอกจากความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งเข้ากับสถานการณ์ที่ได้เกิดขึ้น ณ บ้านเรา เมื่อไม่นานมานี้

  เกริ่นนำ
  เซ็นโงคุ คือ ยุคสงครามกลางเมืองของญี่ปุ่น ที่เกิดขึ้นช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1477 -1615 ซึ่งชื่อของยุคนี้เป็นคำที่นักประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นได้ตั้งชื่อให้ โดยอิงมาจากยุคจ้านกว๋อ (477-222 ปีก่อนค.ศ.) ในประวัติศาสตร์จีน ซึ่งยุคเซ็นโงคุ กับ ยุคจ้านกว๋อนั้น มีลักษณะคล้ายๆกัน คือ มีการทำสงครามระหว่างแคว้นเพื่อรวมแผ่นดินจีนเป็นปึกแผ่น ซึ่งยุคเซ็นโงคุ นั้น ได้นำไปสู่การรวบรวมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จภายใต้การปกครองของโชกุนตระกูลโตกุกาว่าในภายหลัง

  จุดเริ่มต้น
  จุดเริ่มต้นของก่อนจะเข้าสู่สงครามกลียุคนั้น เริ่มจากสมัยมุโรมาจิ ที่ญี่ปุ่นอยู่ภายใต้การปกครองของโชกุนตระกูลอาชิคางะ ที่มีจุดศูนย์กลางด้านการปกครอง และ เศรษฐกิจที่เมืองเกียวโต ซึ่งในช่วงนั้นเอง การค้าขายระหว่างญี่ปุ่นกับจีน อยู่ในช่วงเฟื่องฟู และมีการกระจายทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง กอปรกับมีการพัฒนาด้านเกษตรกรรมและการค้าขนาดย่อมด้วย จึงนำไปสู่ความต้องการอยากเป็นอิสระของบรรดาแว่นแคว้น ตลอดจนกลุ่มคนจากชนชั้นต่างๆในสังคม ทว่าในช่วงต้นคริสศตวรรษที่ 15 ญี่ปุ่นประสบปัญหากับภัยธรรมชาติ อย่าง แผ่นดินไหว รวมถึง ต้องเผชิญกับสภาวะอดอยาก จึงทำให้บรรดาชาวนาต่างก็ประสบปัญหากับการติดหนี้ก้อนโต และ ต้องจ่ายภาษีให้กับรัฐเป็นจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงโชกุน อาชิคางะ โยชิมาสะ ผู้ปกครองญี่ปุ่นในสมัยนั้น เอาแต่สรรหาความสำราญจนละเลยกิจการบ้านเมือง ด้วยปัญหานานับประการ จึงนำไปสู่อำนาจการปกครองของพวกเขาเริ่มเสื่อมถอย เลยไม่ได้รับการยอมรับจากบรรดาไดเมียวจากแคว้นต่างๆ โดยเฉพาะ แคว้นที่อยู่ห่างไกลจากเกียวโต ซึ่งแม้ว่าเกียวโตจะเป็นนครหลวงของญี่ปุ่น และ เป็นเมืองที่ประทับของสมเด็จพระจักรพรรดิ แต่จักรพรรดิกลับไม่มีอำนาจทางการเมืองมากนัก เพราะเป็นเพียงหุ่นเชิดของไดเมียวที่มีอำนาจ

  สงครามโอนิน
  และจากปัญหาด้านเศรษฐกิจตกต่ำ รวมถึงความขัดแย้งในเรื่องของรัชทายาทผู้สืบทอดในตำแหน่งโชกุนนี่เอง จึงนำไปสู่สงครามโอนิน ซึ่งถือเป็นการเปิดฉากของยุคเซ็นโงคุ สงครามแห่งความขัดแย้ง โดยชนวนที่ทำให้เกิดสงครามครั้งนี้ มาจาก โฮโซกาว่า คัตซึโมโตะ ผู้แทนโชกุน (เคนเร)สมัย อาชิคางะ โยชิมาสะ ยังดำรงตำแหน่งโชกุน ได้วางแผนให้ อาชิคางะ โยชิมิ น้องชายของโชกุนโยชิมาสะ สืบทอดตำแหน่งโชกุนคนต่อไป แต่ทว่า ยามานะ ซูเซน ผู้มีศักดิ์เป็นพ่อตาของโฮโซกาว่า ต้องการจะให้ อาชิคางะ โยชิฮาสะ บุตรชายของโชกุนโยชิมาสะ เป็นโชกุนแทน จึงทำให้เกิดความขัดแย้งกันขึ้น สงครามโอนินจึงเริ่มต้นเมื่อปี 1467 โชกุนประกาศว่าหากฝ่ายไหนเริ่มก่อน จะถือเป็นกบฎทันที แม้ว่าฝ่ายโฮโซกาว่าจะเป็นผ่ายเริ่มก่อน แต่พวกเขาก็สามารถเกลี้ยกล่อมให้โชกุนยอมเชื่อว่าอีกฝ่ายหนึ่งเริ่มก่อน โชกุนจึงประกาศให้ยามานะเป็นกบฏ ทั้งสองฝ่ายต่างมุ่งหวังสร้างความเสียหายให้กับอีกฝ่ายด้วยการเผาบ้านเรือน ทำให้เมืองเกียวโตพินาศย่อยยับ บรรดาชาวบ้านต่างก็อพยพหนีออกนอกเมือง

  จากสงครามที่เกียวโตได้ระอุขึ้นนั่นเอง จึงทำให้สงครามได้ลุกลามขึ้นรอบๆบริเวณเกียวโต และยังได้ลามไปทั่วแผ่นดินญี่ปุ่น บรรดาไดเมียวจากแคว้นต่างๆจึงได้ตั้งตนเป็นอิสระ ในปี 1471 บรรดาพระสงฆ์นิกายแดนบริสุทธิ์ ได้รวมตัวกับกองทัพของแคว้นคางะ ซึ่งเรียกว่ากลุ่มอิกโกะ ต่อมาได้รวมตัวกับ กลุ่มชาวบ้านที่ถูกทางรัฐขูดรีด พร้อมกับซามูไรระดับล่าง ที่คอยบุกเข้าเมืองหลวงเพื่อปล้นสดมภ์ของชาวเมืองเป็นหลัก และทั้งสองกลุ่มนี้ได้รวมตัวกันเป็น กบฎอิกโก-อิกกิ ซึ่งต่อมาได้เข้าทำการยึดครองจังหวัดคางะ และเมืองยามาชิโร่ และในที่สุดก็ตั้งเป็นรัฐบาลเอกเทศขึ้นปกครองพื้นที่ดังกล่าว และกลายเป็นกองทัพอิสระที่น่ากลัวที่สุดในเวลานั้น

  แม้ว่าโฮโซกาว่า และ ยามานะ ต่างเสียชีวิตในค.ศ. 1473 แต่สงครามยังคงดำเนินต่อไป จนเกิดเหตุการณ์ต่างๆดังนี้:

  * 1546: โฮโจ อุจิยาสุ ได้รับชัยชนะจากสงคราม คาวาโงเอะ ได้ปกครองภูมิภาคคันโต
  * 1555: โมริ โมโตนาริ ผู้ได้รับชัยชนะจากสงครามมิยาจิม่า ได้เป็นผู้ครองภูมิภาคจูโงคุ
  * 1560: สงครามโอเคฮาซาม่า สงครามที่ อิมางาว่า โยชิโมโตะ ประสบความพ่ายแพ้แก่ โอดะ โนบุนางะ
  * 1568: โอดะ โนบุนางะ ยกกองทัพบุกเข้าเกียวโต เพื่อหยุดสงครามการเมือง
  * 1570: สงครามอาเนงาว่า

  ในช่วงเวลาดังกล่าว มีการริเริ่มใช้ ปืนกลไฟ จากโปรตุเกส รวมถึง มีการเผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาโธลิคจาก มิชชันนารี Francis Xavier รวมถึงมีการก่อตั้งอาร์คบิชอปแห่งเอโดะเป็นครั้งแรกในญี่ปุ่นสงครามที่เกิดขึ้นนี้ สร้างความเสียหายแก่เมืองเกียวโตครั้งนี้อย่างร้ายแรงยากเกินกว่าจะฟื้นฟูไหว อีกทั้งศึกสงครามยังได้ขยายเป็นวงกว้าง ไดเมียวของแต่ละแคว้นแต่ละตระกูล ต่างก็ตั้งตนเป็นใหญ่ มีความมุ่งหวังจะขยายอำนาจของตน ทว่าในช่วงปลายสงครามนี้ ได้ถือกำเนิดบุคคลสำคัญ ที่เป็นตัวต่อสำคัญทำให้ญี่ปุ่นรวมเป็นหนึ่งเดียว และเหตุการณ์เหล่านี้อยู่ในยุคย่อย อาซึจิ-โมโมยาม่า ตามที่เราจะกล่าวต่อไป


3 บุคคลสำคัญ ผู้รวมญี่ปุ่นเป็นปึกแผ่น
(จากซ้ายไปขวา) โอดะ โนบุนางะ,โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ และ โตคุงาว่า อิเอยาสึ

  ยุคย่อย อาซึจิ-โมโมยาม่า
  ถือเป็นช่วงปลายสงครามที่มีความสำคัญ นับตั้งแต่การที่ โอดะ โนบุนางะ ขึ้นมามีอำนาจเต็มตัว จวบจนกระทั่งการรวบรวมอำนาจทางการเมืองเบ็ดเสร็จของตระกูลโตกุงาว่า ในช่วงปี 1573-1603 เป็นช่วงที่โนบุนางะ กับ โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ ได้สร้างความหวั่นเกรงไปทั่ว นับตั้งแต่การล่มสลายของตระกูลอาชิคางะ ซึ่งชื่อของยุคย่อยนี้ เอามาจากปราสาทอาซึจิ ปราสาทที่ประทับของโนบุนางะ (ปัจจุบัน ตั้งอยู่ที่เมืองอาซึจิ จังหวัด ชิงะ) มารวมกับ ปราสาท โมโมยาม่า หรือ ปราสาท ฟูชิมิ ปราสาทที่ประทับของฮิเดโยชิ ที่ตั้งอยู่ที่เมืองเกียวโต ยุคนี้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่การบุกเข้ามาเกียวโตของกองทัพโนบุนางะ พร้อมกับแต่งตั้งโชกุนคนที่ 15 ,การที่ โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ สืบอำนาจต่อจากโนบุนางะ จนกระทั่ง โตกุงาว่า อิเอยาสึ ได้รับชัยชนะในสงครามเซคิงาฮาระ

  *โอดะ โนบุนางะ
  โดยช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นช่วงที่ไดเมียวจากแคว้นต่างๆ ต่างก็ตั้งตนเป็นอิสระ และมีอำนาจมากพอที่จะสร้างความได้เปรียบ หรือ ยึดอำนาจจากรัฐบาลมุโรมาจิได้ โดย อิมางาว่า โยชิโมโตะ ได้พยายามทำการยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลมุโรมาจิ เมื่อปี 1560 แต่ก็ต้องพบกับความอับอายเมื่อพ่ายแพ้แก่พวกโนบุนางะในสงครามโอเคฮาซาม่า ในปี 1562 ตระกูลโตกุงาว่า ที่อยู่ทางฝั่งตะวันออกของดินแดนของโนบุนางะ ได้ตั้งตนเป็นอิสระจากตระกูลอิมางาว่า และได้จับมือเป็นพันธมิตรกับโนบุนางะ ปี 1565 ตระกูลมัตซึนางะ กับ มิโยชิ พยายามก่อรัฐประหารโดยการสังหาร โชกุนโยชิเทรุ โชกุนองค์ที่ 13 ของอาชิคางะ แล้วจึงแต่งตั้ง โยชิฮิเดะ ลูกพี่ลูกน้องของโชกุนโยชิเทรุ สืบทอดในตำแหน่งโชกุนแทน ทว่า ทางฝั่งรัฐบาลที่นำโดย โฮโซกาว่า ฟูจิทากะ นั้นไม่ยอมง่าย เลยเจรจากับโนบุนางะ เพื่อช่วยสนับสนุน โยชิอากิ น้องชายคนเล็กสุดของโชกุนโยชิเทรุ ขึ้นเป็นโชกุนแทน

  ขณะเดียวกัน โนบุนางะ ที่เป็นเจ้าผู้ครองแคว้นโอวาริในขณะนั้น ได้เป็นพันธมิตรกับ ตระกูลอาไซ แห่งแคว้นโอมิ และได้ผนวกแคว้นมิโนะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพวกเขา ต่อมาเขาได้ยกทัพมายังเกียวโต และ บังคับให้ตระกูลมัตซึนางะยอมจำนน พร้อมบีบให้พวกมิโยชิต้องปล่อยแคว้นเซ็ตซึออกมา เขาจึงสามารถเข้ายึดเกียวโต พร้อมแต่งตั้ง โยชิอากิ ให้กลายเป็นโชกุนคนที่ 15 ของอาชิคางะ จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้โนบุนางะได้รับตำแหน่งเป็นผู้แทนโชกุน และทำให้เขามีความทะเยอะทะยานตั้งใจที่จะยึดครองพื้นที่ในเขตภูมิภาคคิไนอย่างเหนียวแน่น ซึ่งคนที่มาต่อต้าน ไม่ว่าจะเป็นไดเมียว พระสงฆ์ หรือ พ่อค้านั้น ถูกโนบุนางะกำจัดหมดอย่างไม่ปราณี อย่างไรก็ตาม ในสมัยของโนบุนางะ นอกจากจะมีการใช้แผนกลยุทธ์การรบแบบใหม่,การเข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์โดยมิชชั่นนารีตะวันตกแล้ว ก็ได้มีการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ,ยกเลิกการกีดกันทางการค้าจากการผูกขาดโดยศาลเจ้า และ กลุ่มสมาคมต่างๆ เพื่อเป็นการยกระดับการทำตลาดเสรีมากขึ้น

  ปี 1573 เขาได้กำจัดพรรคพวกพันธมิตรของตนเองอย่าง ตระกูลอาซากุระ กับ ตระกูลอาไซ ทำให้ได้ดินแดนทางฝั่งเหนือมาครอบครอง แถมเขายังหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับกองทัพของ ทาเคดะ ชินเง็น (ฉายา แม่ทัพไร้พ่าย) ซึ่งภายหลังชินเง็นได้ป่วยตายทั้งๆที่กองทัพเขากำชัยชนะจากโตกุงาว่า และบุกเข้าไปยังดินแดนของโนบุนางะ หลังจากการตายของชินเง็น ยังคงมีไดเมียวหลายคนที่ยังต่อต้านโนบุนางะ เพียงแต่ไดเมียวเหล่านั้นไม่ได้อยู่รอบๆเกียวโต จึงไม่มีผู้ใดสามารถคุกคามทางการเมืองได้ ซ้ำยังถูกกลืนเป็นส่วนหนึ่งของโนบุนางะอีกด้วย อีกทั้งศัตรูของโนบุนางะไม่ได้มีแค่ไดเมียว แต่ยังรวมถึงบรรดาพระสงฆ์ที่เข้าร่วมกับกลุ่มอิกโกอิกกิ อย่าง นิกาย โจโดชินชู ที่นำโดย เคนเนียว ซึ่งกว่าที่โนบุนางะจะขับไล่พวกของเคนเนียวได้นั้นต้องใช้เวลาถึง 11 ปี แต่ก็ต้องแลกกับการจราจลที่สร้างความเสียหายครั้งใหญ่แก่ดินแดนของโนบุนางะ ซึ่งเรียกสงครามนี้ว่า สงครามฮองอันจิ อย่างไรก็ตาม แม้เขาจะพยายามกำจัดศาสนาพุทธ แต่เขากลับยอมให้ศาสนาคริสต์ รวมถึงวิทยาการต่างๆ จากมิชชันนารีจากยุโรปเข้ามาเผยแพร่ในดินแดนของเขา

  ปี 1576 -1579 โนบุนางะ ได้ก่อสร้างปราสาทอาซึจิ ริมทะเลสาบบิวะ ซึ่งเป็นปราสาท 7 ชั้นที่ยากจะเข้าถึง อีกทั้งยังสั่งให้แม่ทัพไปยกทัพไปกำราบแคว้นที่อยู่ห่างไกลออกไป:

  - ชิบาตะ คัตซึอิเอะ ไปจัดการกับตระกูลอุเอซึงิ ที่แคว้น เอ็ตจุ
  - ทาคิงาว่า คาซึมาสึ เผชิญหน้าที่ แคว้น ชินาโนะ ที่มี ทาเคดะ คัตซึโยริ ลูกชายของชินเง็นคุมอยู่ ซึ่งต่อมาก็ปราบตระกูลทาเคดะ สำเร็จ เมื่อปี 1576
  - ฮาชิบะ ฮิเดโยชิ หรือ โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ ไปจัดการตระกูลโมริ ที่เขตจูโงคุ ทางตะวันตกของเกาะฮอนชู

  ปี 1582 ฮิเดโยชิ ได้ขอร้องให้โนบุนางะช่วยเหลือในการกำจัดเหล่าผู้ต่อต้าน ทว่า ในขณะที่โนบุนางะกำลังจะไปช่วยนั้น เขากลับถูกสังหารคาวัดฮอนโนจิ โดย อาเคจิ มิตซึฮิเดะ แม่ทัพผู้ไม่จงรักภักดีนั่นเอง

  * โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ

  จากการตายของโนบุนางะ ก็ทำให้ไม่มีผู้สืบทอดอำนาจแทนเขาได้เลย ขนาด โนบุทาดะ ที่เป็นลูกชายของเขายังถูกลอบสังหารเช่นกัน อย่างไรก็ดี จากการที่ โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ ได้กำราบ มิตซึฮิเดะ ลงอย่างรวดเร็ว เขาก็ได้ความชอบธรรม ขอกุมอำนาจสืบจากโนบุนางะแทน และได้รับความเห็นชอบจากหลายๆคน ซึ่งรวมถึง คนที่เคยต่อต้านเขาด้วย ทำให้เขาได้ขึ้นชั้นจากทหารธรรมดาๆกลายมาเป็นแม่ทัพผู้มีอำนาจสูงสุดแห่งตระกูลโอดะ อีกทั้งยังเสนอให้ ซัมโปชิ หรือ โอดะ ฮิเดโนบุ เป็นผู้สืบทอดของโนบุนางะ แทน โดยที่เขาทำหน้าที่เป็นผู้อารักขา

  หลังจากชัยชนะที่มีต่อชิบาตะ ในศึกชิซึงาทาเกะ เมื่อปี 1583 และ ศึกโคมากิ กับ นางาคุเตะ ที่เขาร่วมรบกับ โตกุงาว่า อิเอยาสึ นี่เอง ทำให้เขามีอำนาจแผ่กระจายกระจายไปทั่ว และ คุมเกียวโตโดยสมบูรณ์ ทำให้บรรดาไดเมียวที่ต่อต้านต่างก็ยอมจำนนไปตามๆกัน เช่น ตระกูล โจโซคาเบะ ไดเมียวแห่งชิโคคุ, ตระกูลชิมาซึ ไดเมียวแห่งคิวชู เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เขาได้รับการอุปการะจากตระกูลฟูจิวาระ ทำให้เขาได้นามสกุล โทโยโทมิ และได้ตำแหน่ง คัมปาคุ ในการควบคุม พลเรือนและทหาร ทั่วญี่ปุ่น ในปีต่อมา เขาได้เป็นพันธมิตรกับไดเมียวตระกูลใหญ่ 3 ตระกูล และช่วยทำสงครามในการรวมชิโคคุ กับ คิวชู ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน จนทำให้ในปี 1590 ฮิเดโยชิ เป็นผู้นำกองทหารจำนวนนับ 200,000 นาย ซึ่งมากที่สุดในยุคนั้น ในการกำราบตระกูลโฮโจ ผนวกดินแดนเกาะฮอนชูฝั่งตะวันออก ได้สำเร็จ ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ไดเมียวที่เหลือ ต่างก็ยอมจำนนต่อกองทัพของฮิเดโยชิ แผ่นดินญี่ปุ่นกลับมาเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง

  สิ้นสุดยุคเซ็นโงคุ
  หลังจากที่ โอดะ โนบุนางะ ได้ครองแคว้นโอวาริ (ปัจจุบัน คือ จ.ไอจิ) ขยับขยายอำนาจไปยังตอนกลางของญี่ปุ่น จวบจนกระทั่ง โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ ที่ก้าวจากทหารเดินเท้าธรรมดา มาเป็นแม่ทัพคนสำคัญของโนบุนางะ และ สามารถควบคุมไดเมียวที่ต่อต้านเขาได้หลายคน จนสามารถกุมพลเรือนและทหารเป็นจำนวนมาก ทว่า หลังจากที่ฮิเดโยชิ ตายไปเมื่อปี 1598 แผ่นดินญี่ปุ่นกลับลุกเป็นไฟอีกครั้ง ไดเมียวส่วนหนึ่งต่างก็ตั้งตนเป็นอิสระอีกครั้ง ในช่วงที่บ้านเมืองกำลังกลียุคอีกครั้งนึงนั้น จึงเป็นโอกาสอันดี ที่แม่ทัพคนสำคัญอย่าง โตกุงาว่า อิเอยาสึ ขึ้นมามีอำนาจเต็มตัว

  หลังจากการจากไปของฮิเดโยชิ เขานั้นไม่มีผู้สืบทอดอำนาจที่เหมาะสมเลย อย่างไรก็ดี เขายังมีกลุ่มคนที่จงรักภักดีอย่าง ตระกูลโตกุงาว่า,มาเอดะ,อุคิตะ,อุเอซึงิ และ โมริ ที่ช่วยกันดูแลบ้านเมือง จนกระทั่ง ฮิเดโยริ ลูกชายของเขาเติบโตเป็นหนุ่ม แต่เหตุการณ์ก็มามีจุดเปลี่ยนตรงที่ การตายของ มาเอดะ โทชิอิเอะ หนึ่งในคนสนิทของฮิเดโยชิ เมื่อปี 1599 ทำให้อิเอยาสึถูก อิชิดะ มิตซึนาริ กล่าวหาว่าเป็นคนไม่จงรักภักดีต่อตระกูลโทโยโทมิ และเหตุการณ์นั้นก็รุนแรงมากขึ้นจนนำไปสู่สงครามกลางทุ่ง เซคิงาฮาระ ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างเปิดศึกเพื่อชิงอำนาจในการปกครองแผ่นดินญี่ปุ่น โดยมีจุดประสงค์ต่างกัน คือ ฝ่ายมิตซึนาริ ต้องการจะคืนอำนาจการปกครองให้กับ ฮิเดโยริ บุตรชายของ ฮิเดโยชิ ส่วนอิเอยาสึนั้นต้องการจะตั้งตนเป็นใหญ่แทน โดยการรบในครั้งนี้ ด้วยกลยุทธที่แยบยลกว่าของฝ่ายอิเอยาสึ รวมถึง การที่กองทัพฝ่ายมิตซึนาริดันหักหลังกันเอง ทำให้ อิเอยาสึ ได้รับชัยชนะโดยเด็ดขาด พร้อมกับกำจัดศัตรูเสี้ยนหนามเขาที่ประกอบไปด้วย มิตซึนาริ,เหล่าขุนนางและทหารที่ภักดีต่อฮิเดโยชิ รวมถึงฮิเดโยริที่สูญเสียชีวิตไปพร้อมๆกับปราสาทโอซาก้า อันเป็นการสิ้นสุดยุคเซ็นโงคุที่กินเวลานานถึง 138 ปี ซึ่งต่อมา อิเอยาสึ ได้สถาปนาตนเองเป็นโชกุน และย้ายศูนย์กลางการปกครองไปที่เอโดะ โดยที่สมเด็จพระจักรพรรดิยังคงประทับอยู่ที่เกียวโตเช่นเดิม โดยตระกูลโตกุงาว่า ปกครองญี่ปุ่นเรื่อยมา จนสิ้นสุดลงในสมัยการปฏิวัติเมจิ เมื่อปี 1868 อันเป็นการจบสิ้นการปกครองระบอบโชกุนในญี่ปุ่น.....

 

  การ์ตูน เกม ที่พูดถึงเนื้อหาเกี่ยวกับยุคนี้
  เท่าที่สืบค้นข้อมูลมา พบว่า มีอยู่หลายเกมที่ดัดแปลงมาจากประวัติศาสตร์ยุคเซ็นโงคุ ในขณะที่การ์ตูนนั้น มีอยู่เพียงบางเรื่อง(ส่วนใหญ่จะเน้นพูดถึงตัวละครที่มาจากบุคคลในยุคเซ็นโงคุ หรือไม่ก็ ดัดแปลงชื่อจากบุคคลที่มีอยู่จริงในยุคนั้น ทั้งๆที่ แนวการ์ตูนบางเรื่องนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับยุคนี้เลย หรือไม่ก็เนื้อเรื่องดำเนินในยุคนั้น แต่ไม่ได้พูดถึงบุคคลในประวัติศาสตร์เลย) เลยหยิบตัวอย่างมาเพียงบางส่วนเท่านั้น

 

  Sengoku Basara
  จากเกมส์ดังของค่าย CAPCOM จำนวนหลายภาค แต่เพิ่งมีการดัดแปลงเป็นอนิเมเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ซึ่งเรื่องนี้ก็เต็มไปด้วยบุคคลสำคัญในยุคนี้หลายคน แถมแต่งองค์ทรงเครื่อง มีอาวุธค่อนข้างแฟนตาซี ผิดกับประวัติศาสตร์จริง อีกทั้งยังมีเวอร์ชั่นหนังสือการ์ตูนชุด Sengoku Basara Ranse Ranbu มีจำนวน 3 เล่มจบ

  Samurai Deeper Kyo
สำหรับซามูไรระเบิดพลังมิตรภาพ(ช่วงหลังๆ)เรื่องนี้ แม้เรื่องราวตามท้องเรื่องจะเกิดขึ้นหลังสงครามเซคิงาฮาระ และเน้นการต่อสู้-ตามหา-แก่งแย่ง ร่างของเคียวนัยน์ตายักษ์ซะเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องนี้ได้พูดถึงบุคคลสำคัญในยุค เซ็นโงคุด้วย ไม่ว่าจะเป็น จอมมารฟ้า โอดะ โนบุนางะ, โตกุงาว่า อิเอยาสึ, ซานาดะ ยูคิมุระ &10 ผู้กล้าซานาดะ,ซารุโทบิ ซาสึเกะ,ดาเตะ มาซามุเนะ (บงเท็นมารุ) เป็นต้น ซึ่งแต่ละคนนั้น ต่างก็มีความสามารถเหนือมนุษย์แทบทั้งนั้น หรือไม่ก็กลายเป็นปีศาจไปซะเอง!! อย่างไรก็ตาม การมาเข้ามาเรื่องนี้ในบ้านเรา ก็ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นการ์ตูนขวัญใจวัยรุ่นในยุคนั้น แถมหนุ่มๆแต่ละคนก็หล่อเท่ห์ ทำเอาคนอ่านสาวถึงกับเคลิ้ม.....

  Vagabond
ผลงานการ์ตูนดีกรีรางวัลโคดันฉะ และอีกหลายรางวัลของ อ.ทาเคฮิโกะ อิโนะอุเอะ ผู้วาดสแลมดังค์ ที่ว่าด้วยเรื่องราววิถีชีวิตซามูไรของ มิยาโมโตะ มุซาชิ ที่ร่อนเร่ไปทั่วทุกหนแห่ง เพื่อเป็นนักดาบอันดับ 1 ในปฐพี และ ในระหว่างการเดินทางของเขา เขาได้พบกับ ซาซากิ โคจิโร่ ที่ออกเดินทางร่อนเร่ และ มีจุดมุ่งหมายแบบเดียวกับเขา ในช่วงเวลาสั้นๆ ซึ่งในครั้งหนึ่ง มุซาชิ ได้พบกับ โคจิโร่ และทั้งสองเคยร่วมรบในศึกสงครามกลางทุ่งเซคิงาฮาระมาแล้ว

  Tenjho Tenge
  หรือ เหนือฟ้า ใต้พิภพ ข้าเจ๋ง สำหรับการ์ตูนเด็กนักเรียนต่อยตี ฉีกเสื้อผ้า เน้นอึ๋ม เรื่องนี้ มีเนื้อเรื่องช่วงนึงที่ทะลุมิติไปยังยุคเซ็นโงคุด้วย (เนื่องจากฉบับรวมเล่มลิขสิทธิ์บ้านเราดันไม่ออกต่อ เลยไม่สามารถอธิบายได้ละเอียด ใครที่อ่านถึงตอนนี้ ก็ช่วยๆเล่ามาด้วยนะครับ)

  Yoroiden Samurai Trooper
  ฝรั่งเรียกเรื่องนี้ว่า Ronin Warriors แม้จะเป็นการ์ตูนแอ็คชั่นคอนเซ็ปต์ชุดเกราะเหมือนกับเซนต์เซย่า แต่ตัวละครหลักในเรื่องนี้ ต่างได้คอนเซ็ปต์นักรบในยุคเซ็นโงคุด้วย ไม่ว่าจะเป็น ซานาดะ เรียว (ยูคิมูระ),ดาเตะ เซจิ (มาซามุเนะ),โมริ ชิน (โมโตนาริ) และ ฮาชิบะ โทมะ (โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ)

  Sengoku Strays
  ลงตีพิมพ์ประจำในนิตยสารรายเดือน Gangan Wing ของค่าย Square Enix เรื่องราวของ คาซาเนะ สาวชมรมเคนโด้ ที่ได้ทะลุมิติไปยังยุคเซ็นโงคุ ในขณะที่เธอกำลังขัดดาบโบราณเล่มนึงอยู่ และที่นั่น เธอได้สัมผัสกับแผ่นดินญี่ปุ่นกลียุค สมัยที่ โอดะ โนบุนางะ กำลังเรืองอำนาจ

  Sengoku Rance
  จะบอกว่าเป็น Koihime Musou ในเวอร์ชั่น ยุคเซ็นโงคุ ก็ไม่ผิดนักหรอก เพราะบุคคลสำคัญๆในยุคเซ็นโงคุนั้น กลับกลายเป็นผู้หญิงน่ารักๆไปซะหมด !!! ซึ่งก็ไม่แปลกเพราะเกมนี้เป็นหนึ่งในเกมซีรี่ย์ตระกูล Rance เกมแนวผู้ใหญ่ของค่าย Alice Soft

  Onimusha
  เป็นเกมแนวแอ็คชั่นผจญภัยที่ผลิตโดย Capcom ซึ่งจัดเป็นเกมที่ขายดีที่สุดเป็นอันดับ 5 ของค่ายเกมนี้ แม้ว่าเกมนี้จะอิงจากประวัติศาสตร์ยุคนี้ก็จริง แต่ก็มีบางส่วนที่ผิดแผกไปบ้าง กับการไล่ล่าตามฟันกองทัพปีศาจโนบุนางะ ของ ซามาโนะสุเกะ อาเคจิ ที่ได้พระเอกหนุ่ม ทาเคชิ โชริมาจิ เป็นคนพากย์เสียงให้ด้วย

  Samurai Warriors
  เป็นเกมวิดีโอที่สร้างและพัฒนาโดย Koei ที่หยิบนำเอา บรรดาขุนพลจากยุคเซ็นโงคุ เป็นตัวดำเนินเรื่อง มีรากฐานมาจากเกม Dynasty Warriors มีอยู่ด้วยกันหลายภาค

  Warriors Orochi
  เป็นเกมที่หยิบนำตัวละครเอกจาก Dynasty Warriors กับ Samurai Warriors มาแจมร่วมกัน พูดง่ายๆก็คือ เป็นการนำขุนพลยุคเซ็นโงคุไปผสมโรงกับ บรรดาขุนพลและกุนซือในยุคสามก๊กของจีน

  Kessen
  เป็นเกมซีรี่ย์แนววางกลยุทธ์ ที่เน้นเรื่องราวสงครามระหว่างฝ่ายอิเอยาสึ กับ มิตซึนาริ (ผู้ปกป้องตระกูลโทโยโทมิ) เป็นหลัก ผลิตโดยค่าย Koei เช่นกัน แมตัวละครในเกมยังใช้ไอเท็มคาถาเว่อร์ๆได้เหมือนกัน

  Ninja Scroll
  อนิเมนินจาที่ถูกทำเป็นหนังอนิเมจอเงินเมื่อปี 1993 จากนั้นจึงถูกนำไปดัดแปลงเป็นอนิเมทางทีวีในอีก 10 ปีต่อมา ก่อนที่จะถูกดัดแปลงเป็นอนิเมจอเงิน โดย Madhouse กับเรื่องราวของ คิบางามิ จูเบย์ นินจาหนุ่มที่ต้องรักษาสิ่งของล้ำค่าไม่ให้พวกฮิรุโกะ กับ คิมอนชู คว้าไปได้ ส่วนในหนังจอเงิน มีการพูดถึงหัวหน้ากลุ่มปีศาจคิมอน ที่ทำงานให้กับสกุลโทโยโทมิ ที่เป็นปรปักษ์กับรัฐบาลโตกุงาว่า และหวังจะทำลายพวกโตกุงาว่าด้วย

  Nintama Rantaro
  สำหรับอนิเมยุคเก่าขวัญใจคุณหนูๆมาอย่างยาวนานเรื่องนี้ ดัดแปลงมาจาก Rakudai Ninja Rantaro ผลงานการ์ตูนแก๊กของ อ.โซบี อามาโกะ ถึงในเรื่องจะบอกว่าเกิดขึ้นในช่วงยุคเซ็นโงคุก็เถอะ แต่เนื้อหาของการ์ตูนเรื่องนี้กลับไม่เครียดแต่อย่างใด เพราะเป็นเรื่องฮาๆวุ่นๆของนักเรียนนินจา 3 คน ที่ก่อเรื่องวุ่นวายทุกตอน ซึ่งพวกเขาทั้ง 3 นี้ถูกเรียกว่า นินทามะ (ซึ่งมาจากคำว่า นินจา และ ทามาโกะ ที่แปลว่าไข่ มารวมไว้เข้าด้วยกัน) และล่าสุดนั้น เรื่องนี้ถูกนำไปดัดแปลงเป็นหนังคนแสดงแล้ว

  อินุยาฉะ
  สำหรับการ์ตูนตามหาเศษลูกแก้วสี่วิญญาณสุดยืดยาด และ ยาวที่สุดในบรรดาผลงานของอ.รูมิโกะ ทาคาฮาชิ เรื่องใดๆ เรื่องนี้ ก็กรณีเดียวกับเรื่องบนคือ แม้ว่าสาวน้อยคาโงเมะ จะโดดลงจากบ่อน้ำทะลุมิติไปยังยุคเซ็นโงคุก็เถอะ แต่เรื่องนี้กลับไม่ ได้พูดถึงบุคคลในประวัติศาสตร์ยุคซ็นโงคุเลย มีเพียงแต่บรรดาปีศาจที่มาอาศัยอยู่ร่วมกันกับมนุษย์ในยุคดังกล่าว ซึ่งบรรยากาศนั้นก็ไม่ต่างไปจากยุคเซ็นโงคุ"ของจริง" เลย กว่าที่อินุยาะจะจัดการกำราบเหล่ามารร้ายสำเร็จจนความสงบกลับคืนมานั้น ต้องใช้เวลาถึง 56 เล่มด้วยกัน!!

  Fire Tripper
  หรือ Honoo Torippa เป็น OVA ที่ดัดแปลกมาจากเรื่องสั้นชื่อเดียวกันของ อ.รูมิโกะ ทาคาฮาชิ ออกวางขายเมื่อปี 1985 เรื่องราวของเด็กสาวผู้หนึ่งผู้ถูกลูกหลงจากเหตุการณ์แก๊สระเบิด พอเธอตื่นขึ้นมาพบว่า เธอได้ทะลุมิติอยู่ท่ามกลางยุคสงครามเซ็นโงคุ และในระหว่างที่เธอกำลังจะถูกทำมิดีมิร้ายนั้น เธอได้รับการช่วยเหลือจากชายหนุ่มผู้หนึ่งซึ่งเป็นโจรปกป้องหมู่บ้าน เรื่องราวความรักระหว่างเด็กสาวยุคปัจจุบัน กับ ชายหนุ่มยุคอดีต จึงได้เริ่มต้น ซึ่งเรื่องนี้สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้ อ.รูมิโกะ แต่ง อินุยาฉะ ขึ้นมา

  Sengoku no Mikazuki
  เรื่องนี้ใครไม่รู้จักก็ไม่แปลก เพราะเป็นผลงานสั้นของอ.โนบุฮิโระ วาสึกิ ผู้แต่ง ซามูไรพเนจร นั่นเอง ซึ่งเขาแต่งเรื่องนี้สมัยที่เขายังเป็นผู้ช่วยนักเขียนการ์ตูน เรื่องราวของ ฮิโกะ เซย์จูโร่ ซามูไรจากยุคเซ็นโงคุ ที่กลายเป็นทหารเอกคนสำคัญของแคว้นคิตะคาตะ จากการที่ถูกกองทัพจากแคว้นนางุโมะรุกราน ระหว่างทำศึกนั้น เขาได้ช่วยเหลือ อิชชินตะ ชาวนาหนุ่มที่ถูกเกณฑ์เป็นทหาร ซึ่งทั้งคู่ต่างก็ตกหลุ่มรักหญิงสาวที่มีชื่อว่านัตสึเหมือนกัน (แต่เป็นคนละคนกัน) โดยทั้งคู่ได้ร่วมกันทำศึกจนได้รับชัยชนะ และ สมหวังเรื่องความรักในที่สุด


อ้างอิงจาก: http://en.wikipedia.org/ คีย์เวิร์ด sengoku period ทั้งหน้าภาษาอังกฤษ และ ภาษาไทย,
คีย์เวิร์ด muromachi,People of the Sengoku period in popular culture,Jidaigeki


kartoon-discovery.com
June 2010


 
free hit counter javascript