รู้เขา รู้เรา การ์ตูนอนิเมชั่นชาติอาเซียน


ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2558 เป็นปีสำคัญของประเทศในละแวกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ที่กำลังจะมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economics Community - AEC) ขึ้น อย่างเป็นทางการ แน่นอนว่ามาถึงตอนนั้นก็มีอะไรเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่างรอบด้าน ที่จะต้องหันมาใกล้ชิดกับบรรดาประเทศกลุ่มนี้กันมากยิ่งขึ้น ไม่เว้นแม้แต่วงการอนิเมชั่นด้วย!!!! ซึ่งยอมรับว่า ใครหลายคนในที่นี้ ก็ไม่ค่อยจะได้รับรู้เรื่องราววงการอนิเมชั่นของประเทศเหล่านี้กันซะเท่าไหร่ ไหนๆก็ไหนๆแล้ว บทความนี้ก็ขอนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับวงการอนิเมชั่นของบรรดาประเทศกลุ่มอาเซียนให้ทุกคนได้รับทราบกัน ตามข้อมูลที่เราได้ค้นหามาพอสังเขป ซึ่งก็พอช่วยเป็นการเปิดโลกทรรศน์ให้เราได้รู้ความเป็นมาเป็นไป รวมถึงความเคลื่อนไหวปัจจุบันของวงการอนิเมชั่นในอาเซียนครับ

ข้อมูลภาพประกอบในบทความนี้ ก็ตามเครดิตที่ห้อยท้ายในแต่ละประเทศ รวมถึงภาพจาก Wikipedia Google ครับ (ขอบคุณเจ้าของภาพตัวจริงด้วยครับผม!!)

 


มาเลเซีย

วงการอนิเมชั่นของมาเลเซีย ประเทศเพื่อนบ้านทางใต้ของเรานั้น หากจะว่ากันจริงๆ ถือว่าทางเขามีการพัฒนากันมาอย่างต่อเนื่อง โดยอนิเมชั่นของแดนเสือเหลืองนั้น พัฒนามาจากศิลปะการเชิดหุ่นกระบอกที่เรียกว่า wayang kulit (คล้ายๆหนังตะลุงของภาคใต้บ้านเรา) ต่อมา การละเล่นดังกล่าวได้ถูก Lotte Reiniger นักสร้างหนังชาวเยอรมันนำไปประยุกต์ทำเป็นหนังอนิเมชั่นเยอรมันชุด The Adventures of Prince Achmed ซึ่งดัดแปลงมาจากนิทานบทหนึ่งของอาหรับราตรี ออกฉายเมื่อปี 1926

ต่อมาในปี 1946 มาเลเซียในยุคที่ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ได้มีการจัดตั้งหน่วยงานภาพยนตร์ของมาเลเซีย ( Filem Negara Malaysia) ขึ้น เพื่อทำหน้าที่ผลิตหนังสารคดีและประชาสัมพันธ์ต่างๆจากรัฐบาลท้องถิ่น จนกระทั่งในปี 1961 ได้มีดีไซเนอร์จำนวนหนึ่ง มารวมตัวกันภายใต้ชื่อ Anandam Xavier คอยรับหน้าที่ทำหนังอนิเมชั่นโดยเฉพาะ และได้ผลิตซีรี่ย์หนังอนิเมชั่นเรื่องสั้นเรื่องแรกของมาเลเซีย ชุด Hikayat Sang Kancil และได้มีการผลิตอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 1978 หลังจากนั้นมาเลเซียก็เข้าสู่ยุคหนังอนิเมเรื่องสั้นที่มีมาต่อเนื่อง จากผลงานการกำกับของ Hassan Abd. Muthalib อาทิ Sang Kancil dan Monyet (1984) ,Gagak Yang Bijak (1985) ,Arnab Yang Sombong (1986),"Singa Yang Haloba"(1986) และ Sang Kancil dan Buaya (1987) อีกทั้ง เขายังมีผลงานในการทำอนิเมชั่นฟุตเทจตอนเปิดหนังท้องถิ่นต่างๆอีกด้วย

Hikayat Sang Kancil

วงการอนิเมชั่นมาเลเซีย เข้าสู่ภาวะเฟื่องฟูสุดๆ ในช่วงยุค 80 เมื่อมีการจัดตั้งสตูดิโออนิเมชั่น 2 แห่งของที่นั่น ได้แก่ FilmArt (1984) กับ Lensamation (1987) การมาของสตูดิโอทั้งสองแห่งนี้เอง เลยทำให้สายอาชีพอนิเมชั่นในมาเลเซีย ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง มีการจัดตั้งโรงเรียนสอนอนิเมชั่น พร้อมหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง จนกระทั่ง ในปี 1995 มาเลเซีย ได้ผลิตอนิเมชั่นทีวีซีรี่ย์ เรื่องแรกในประวัติศาสตร์ของเขา กับ Usop Sontorian

Usop Sontorian

ปัจจุบัน วงการอนิเมชั่นของมาเลเซีย มีการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง จนภาพรวมนั้น น่าจะไปไกลกว่าเพื่อนบ้านอาเซียนด้วยกันเสียอีก ส่วนหนึ่งที่อุตสาหกรรมอนิเมชั่นมาเลเซียมาถึงตรงนี้ได้นั้น ก็มาจาก Tun Mahathir bin Mohamad นายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ของมาเลเซีย ที่ได้นำเอาการพัฒนาอุตสาหกรรมอนิเมชั่น มาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศให้ทันสมัย โดยมีการนำเอาเทคโลโนยีดิจิตอลมาปรับใช้ในการผลิตอนิเมชั่น กอปรกับการได้ Kamn Ismail นักคอมฯกราฟิกยุคบุกเบิกของมาเลเซีย มามีส่วนร่วมด้วย จนกระทั่ง ได้หนังอนิเมชั่น CG เรื่องแรกของมาเลเซียชุด Nien Resurrection ออกฉายเมื่อปี 2000 (แต่ถึงกระนั้น ก็มีอนิเมชั่น 3D ออกฉายทางทีวีช่วงปลายยุค 90 กับ Keluang Man ซึ่งเป็นผลงานของ Ismail เช่นกัน) จากการมาของหนังอนิเมชั่น CG นี้เอง เลยทำให้วงการอนิเมชั่นของมาเลเซียค่อนข้างบูมสุดๆ ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา และได้มีผลงานอนิเมชั่นสัญชาติมาเลเซีย ออกสู่สายตาชาวโลกอย่างต่อเนื่อง อาทิ Saladin: The Animated Series ทางช่อง Al Jazeera Children,Upin & Ipin , Bola Kampung , BoBoiBoy , Kampung Boy เป็นต้น นอกจากนี้ ก็มีอนิเมชั่นบางเรื่องอย่าง Anak-anak Sidek, Edi & Cici และ Sang Wira ที่ได้รับอิทธิพลมาจากอนิเมชั่นญี่ปุ่นมามากพอสมควร ส่วนหนึ่งนั้น มาจากการที่อนิเมเตอร์ท้องถิ่นต่างได้รับการฝึกฝนจากอนิเมเตอร์ชาวญี่ปุ่นอีกที

การที่วงการอนิเมชั่นมาเลเซีย มาได้ถึงขนาดนี้ ก็ต้องยกเครดิตให้แก่รัฐบาลมาเลเซียที่ให้การสนับสนุนโดยตลอด ซึ่งได้มีการจัดตั้งองค์กรที่เกี่ยวข้องอย่าง องค์กรพัฒนาสื่อมัลติมีเดีย-ศูนย์สร้างสรรค์อนิเมชั่นมาเลเซีย (MAC3) คอยสนับสนุนด้านเงินทุนให้เหล่าอนิเมเตอร์ แล้วก็ ANIMAS (สมาคมอนิเมชั่นมาเลเซีย) องค์กรไม่แสวงผลกำไรของรัฐบาลที่คอยให้การช่วยเหลือในด้านการโปรโมทอนิเมชั่นจากคนท้องถิ่นอีกด้วย

Upin & Ipin อนิเมชั่นสัญชาติมาเลเชีย ที่เป็นที่รู้จักในสากลโลกมากที่สุด

ที่มาข้อมูล : http://en.wikipedia.org/wiki/Malaysian_animation


ฟิลิปปินส์

ประเทศหมู่เกาะแห่งนี้ ก็มีชื่อเรียกผลงานการ์ตูน-อนิเมชั่นของตนเอง ในสไตล์ "ปินอย" ซึ่งก็มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน โดยได้รับอิทธิพลมาจากชาติเจ้าอาณานิคมอย่าง อเมริกา เป็นหลัก โดยฟิลิปปินส์ มีการตีพิมพ์หนังสือการ์ตูนเป็นของตนเอง (ภาษาถิ่นเรียก komiks) ครั้งแรกช่วงยุค 20 จากผลงานเรื่อง Kenkoy ที่เป็นการแต่งขึ้นโดย Romualdo Ramos และ วาดภาพโดย Antonio "Tony" Velasquez ซึ่งตีพิมพ์ในรูปแบบการ์ตูนช่องลงในนิตยสารภาษาตากาลอก อย่าง Liwayway ซึ่งการ์ตูนเรื่องนี้ก็ได้รับความนิยมอย่างสูงในฟิลิปปินส์ จนถือเป็นไอค่อนเด่นอีกอย่างหนึ่งในด้านวัฒนธรรมการ์ตูนฟิลิปปินส์

Kenkoy - คอมิคส์สไตล์อเมริกันสุดขึ้นชื่อของฟิลิปปินส์ (ภาพจาก pinoymanila.com)

ฟิลิปปินส์ ก็มีนักเขียนการ์ตูนผู้มีชื่อเสียงคือ Francisco Coching , Alex Niño,Lauro Alcala(Larry Alcala / Alfredo P. Alcala) โดยเฉพาะคนหลังนั้น เคยมีผลงานการวาดการ์ตูนให้กับสนพ.การ์ตูนคอมิคส์ดังของสหรัฐฯ ทั้ง DC Comics, Dark Horse Comics, และ Marvel Comics.

ในส่วนผลงานอนิเมชั่นแดนตากาลอกนั้น ได้ริเริ่มกันอย่างจริงจังเมื่อช่วงต้นยุค 80 โดยมี Burbank Animation, Inc. คือบริษัทอนิเมชั่นแห่งแรกของประเทศ ถึงกระนั้น ก็มีอนิเมเตอร์นาม Gerry Garcia ซึ่งเป็นผู้ที่ถูกขนานนามว่า บุรุษผู้บุกเบิกวงการอนิเมชั่นของฟิลิปปินส์ ซึ่งก็เป็นแบบนั้นจริงๆ เพราะเขามีผลงานอนิเมชั่นอยู่หลายเรื่อง อาทิ Panday อนิเมชั่นทางทีวีเรื่องแรกของฟิลิปปินส์ ออกฉายเมื่อปี 1986 โดยดัดแปลงมาจากหนังสือการ์ตูนคอมิคของ Carlo J. Caparas อีกทั้งยังมีผลงานการสร้าง Adarna หนังอนิเมชั่นเรื่องยาวเรื่องแรกของประเทศอีกด้วย โดยออกฉายบนโรงหนังที่ฟิลิปปินส์ครั้งแรกเมื่อปลายปี 1997 แล้วก็ Urduja หนังอนิเมชั่นเรื่องที่สองของเขา ซึ่งเป็นหนังอนิเมชั่นที่มีการนำเทคโนโลยีดิจิตอลมาผสมผสานกับเทคนิคการทำอนิเมชั่นดั้งเดิม

Ibong Adarna / Adarna: The Mythical Bird (ภาพจาก sketchpride.blogspot.com)

)

Urduja (ยังกะ โพคาฮอนตัส)

แม้ว่าอนิเมชั่นฟิลิปปินส์จะมีการพัฒนาอย่างจริงจังเพียง 30 ปี แต่ปัจจุบันนั้น มีสตูดิโอผลิตอนิเมชั่นอยู่หลายแห่งตั้งอยู่ในฟิลิปปินส์ ทั้งสตูดิโอท้องถิ่น กับ สตูดิโอสาขาจากประเทศแม่ รวมกันถึง 50 แห่ง เช่น Asian Animation, Fil-Cartoons, Toei Animation Philippines, Roadrunner ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ ABS-CBN Corporation), Toon City Animation Inc., Tuldok Animation Studios เป็นต้น ซึ่งบทบาทอุตสาหกรรมอนิเมชั่นของฟิลิปปินส์นั้น ก็เน้นหนักไปทางการทำ outsource คอยผลิตอนิเมชั่นของต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งฟิลิปปินส์นั้น จัดเป็น outsource ผลิตอนิเมรายใหญ่เป็นอันดับสอง รองจากอินเดีย โดยลูกค้าส่วนใหญ่ของสตูดิโออนิเมชั่นฟิลิปปินส์นั้น มาจากสหรัฐฯ กับ ยุโรปเสียส่วนใหญ่ ซึ่งบริษัทอนิเมชั่นของอเมริกาหลายแห่ง ทั้ง Disney, Marvel, Warner Brothers, Hanna Barbera, Cartoon Network, Universal Studios ต่างนิยมไปจัดตั้งสตูดิโอสาขาที่ฟิลิปปินส์เป็นจำนวนมาก ก็เพราะ ฟิลิปปินส์มีวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกับอเมริกัน รวมถึง มีอนิเมเตอร์มากความสามารถอยู่เยอะ ค่าแรงก็ยังถูกมากอีกต่างหาก

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมอนิเมชั่นของฟิลิปปินส์ ได้รับการดูแลโดย สภาอนิเมชั่นแห่งฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานสารสนเทศกับสมาคมดำเนินธุรกิจแห่งฟิลิปปินส์ (IBPAP) อีกที อีกทั้งหน่วยงานดังกล่าว ยังเป็นเจ้าภาพจัดงาน Animahenasyon งานเทศกาลอนิเมชั่นของฟิลิปปินส์เป็นประจำทุกปีอีกด้วย

ที่มาข้อมูล : http://en.wikipedia.org/wiki/Filipino_cartoon_and_animation



เวียตนาม

อนิเมชั่นของเวียตนาม ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรก เมื่อปี 1959 จากการที่อนิเมเตอร์ 2 คน อย่าง Lê Minh Hiền กับ Trương Qua ต่างเคยไปศึกษางานด้านอนิเมชั่นที่สหภาพโซเวียตมาแล้ว ก่อนที่ทั้งคู่จะกลับมาสร้างหนังอนิเมชั่นเรื่องแรกในประวัติศาสตร์ชาติญวนอย่าง Trời sắp mưa เมื่อปี 1959 โดยได้รับการสนับสนุนจากโซเวียต จากนั้น ทั้งสอง ได้รวมกลุ่มกับอนิเมเตอร์สายเลือดใหม่อีก 2 คน อย่าง Ngô Mạnh Lân กับ Hồ Quảng ในการจัดตั้งสตูดิโออนิเมชั่นเวียตนามขึ้นเป็นแห่งแรก และได้ผลิตหนังอนิเมชั่นเรื่องแรกของสตูดิโอกับ Đáng đời thằng Cáo เมื่อปี 1960 อย่างไรก็ตามเนื้อหาอนิเมชั่นของเวียตนามในสมัยนั้น ก็ออกแนวโฆษณาชวนเชื่อ ตามแบบฉบับลัทธิคอมมิวนิสต์ ซะเป็นส่วนใหญ่ และมีอยู่หลายประเภท อาทิ อนิเมชั่นแบบเพ้นท์ติ้ง,เชิดหุ่นกระบอก,ดินน้ำมัน,คัตเอ้าท์,กระดาษ และ CG

Đáng đời thằng Cáo

ปัจจุบัน อนิเมชั่นของเวียตนาม มีการผลิตอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยมีการทำหนังอนิเมชั่น ป้อนทีวี-โรงหนัง มากกว่า 20 เรื่องต่อปีด้วยกัน ซึ่งโดยรวมนั้น อนิเมชั่นเวียตนาม ก็จะคล้ายๆกับอนิเมชั่นบ้านเรา คือ เน้นทำอนิเมชั่น 3D CG เอาใจผู้ชมวัยเด็กเป็นหลักมากกว่า และที่น่าสนใจก็คือ ในปี 2010 นั้น เวียตนามได้ผลิตหนังอนิเมชั่น 3D เรื่องยาวเรื่องแรกของพวกเขา กับ Người con của Rồng เป็นอนิเมชั่นความยาว 1 ชม. ที่จัดทำขึ้น เพื่อฉลองครบ 1,000 ปี การก่อตั้งกรุงฮานอย เมืองหลวงของพวกเขา (ในขณะนั้น เวียดนามนิยมสร้างหนังอนิเมชั่นที่มีขนาดสั้น ความยาวราว 10-15 นาที เท่านั้น)

Người con của Rồng (เห็นภาพแล้วนึกถึง Avatar The Last Blender)

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมอนิเมชั่นเวียตนาม กำลังประสบปัญหา ในแง่ของกลุ่มผู้สร้างยังขาดความคิดสร้างสรรค์ ขาดทักษะการเขียนบท รวมไปถึง นโยบายด้านวัฒนธรรมที่ค่อนข้างจะเข้มงวดของรัฐบาลเวียตนาม จนไม่สามารถที่จะฉีกแนวไปได้มากกว่านี้

ที่มาข้อมูล :

http://en.wikipedia.org/wiki/Vietnamese_animation , http://ru.wikipedia.org/wiki/Мультипликация_Вьетнама,
  http://www.thanhniennews.com/commentaries/vietnam-animation-films-plagued-by-lack-of-imagination-6324.html



กัมพูชา

สไตล์การ์ตูนของชนชาติเขมรนั้น ก็คล้ายๆกับไทยเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ การ์ตูนแนวสยองขวัญ 5 บาท ที่บ้านเค้าก็มีเหมือนกับเรา รวมไปถึง การ์ตูนล้อเลียนเสียดสีการเมืองนั้น ก็ออกสไตล์ใกล้เคียงกับบ้านเราเช่นกัน

ขณะที่อุตสาหกรรมอนิเมชั่นของกัมพูชานั้น ได้มีการพัฒนากันอย่างจริงจังเพียงไม่กี่ปี หลังจากนำเข้าอนิเมชั่นจากรัสเซีย อเมริกา เป็นหลัก โดยมีการจัดตั้งสตูดิโออนิเมชั่นในเขมรมากขึ้นๆ ไปพร้อมๆกับ โรงเรียนสอนทำอนิเมชั่น ซึ่งอนิเมชั่นของเขมรส่วนใหญ่จะสร้างขึ้นโดยกลุ่ม NGO และมีเนื้อหานำเสนอในด้านการศึกษาและประวัติศาสตร์มากกว่า โดยต้นปี 2014 ได้เกิดความฮือฮาขึ้นในวงการอนิเมชั่นเขมร จากการที่หนังอนิเมชั่นเรื่องสั้นกึ่งสารคดีชุด The Missing Picture ได้ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ในสาขาหนังต่างประเทศยอดเยี่ยม โดยอนิเมชั่นดังกล่าว เป็นอนิเมชั่น stop motion ดินน้ำมัน ที่เป็นเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ของผกก. Rithy Panh ในวัยเด็ก ในช่วงที่กัมพูชาอยู่ภายใต้การปกครองของเขมรแดง

The Missing Picture

ถึงกระนั้น ก็ยังมีงานอนิเมชั่นเขมรเรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ โดยเฉพาะงานอนิเมชั่น 3 มิติ ที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนเขมร สมัยนครวัด แล้วก็ การ์ตูนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งถือว่าทำออกมาได้ดีเลยทีเดียวแหละ

อนิเมชั่นพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

ที่มาข้อมูล : http://www.theguardian.com/film/2014/jan/02/missing-picture-review , http://www.web-cambodia.com/en/article/Cambodian_Animation-36062.html


สิงคโปร์

อนิเมเด่นประจำชาตินี้ ก็อาจไม่ค่อยคุ้นเคยในสายตาชาวโลกเท่าไหร่ แต่ถึงกระนั้น สิงคโปร์ ก็เป็นประเทศหนึ่งที่มีสตูดิโอผลิตอนิเมชั่นค่อนข้างเยอะ ทั้งสตูดิโอท้องถิ่น และ สตูดิโอสาขาจากต่างแดน มีบทบาทหลักๆ คือการเป็น Hub เป็น Outsource ให้กับการ์ตูนอนิเมชั่นของญี่ปุ่น และ รายการทีวีเด็กของฝั่งตะวันตก เรื่องต่างๆ

ในส่วนอนิเมชั่นท้องถิ่นนั้น มีการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง และนับจากที่ Lucasfilm มาเปิดสตูดิโอดิจิตอลที่สิงคโปร์ เมื่อปี 2005 นั้น ก็ทำเอาอุตสาหกรรมอนิเมชั่นในสิงคโปร์นั้นตื่นตูม มีการเปิดโรงเรียนสอนทำอนิเมชั่นในสิงคโปร์มากมาย (ในจำนวนนั้น มีโรงเรียนอนิเมชั่นที่เปิดสอนหลักสูตรโดยสตูดิโออนิเมชั่นชั้นนำของญี่ปุ่น ด้วยเช่นกัน) รวมถึง สายอาชีพอนิเมเตอร์ของที่นั่น เป็นที่ต้องการของตลาดมากเช่นกัน ซึ่งสตูดิโอของที่นั่น ต่างมีโปรเจ็คอนิเมชั่นมากมายถึงสิบกว่าโปรเจ็คด้วยกัน และพวกเขาตั้งเป้าว่าจะเป็นประเทศผู้ผลิตอนิเมชั่นแบบชั้นนำเต็มรูปแบบในอนาคต พัฒนาอาชีพอนิเมเตอร์ ให้เป็นอาชีพที่มีรายได้สูง ไม่เป็นอาชีพค่าจ้างต่ำ อย่างที่ใครๆคิด

สิงคโปร์นั้น ได้ผลิตอนิเมชั่นซีรี่ย์ 3D CG ทางทีวี ชุดแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศ กับ Dream Defenders เมื่อปี 2010 และเคยคว้ารางวัลอนิเมชั่น 3D ยอดเยี่ยม ของ Asia Image Apollo Awards เมื่อปี 2013 โดยอนิเมชั่นของสตูดิโอ Tiny Island Productions ของสิงคโปร์ชุดนี้นั้น ได้ถูกนำไปจัดจำหน่ายเผยแพร่ไปทั่วโลกโดย Dreamworks Classic

อนึ่ง Tiny Island Productions นั้น ยังเป็นสตูดิโอพันธมิตร ของ Shellhut Entertainment ผู้ผลิตอนิเมชั่น Shelldon ของไทย ด้วยเช่นกัน ซึ่ง Shelldon นั้น ออกฉายที่สิงคโปร์ เมื่อปี 2012

Dream Defenders

ที่มาข้อมูล : http://www.nytimes.com/2010/11/15/technology/15iht-animate.html?pagewanted=all&_r=0 , http://www.tinyisland.net/press.html



อินโดนีเซีย

แม้จะเป็นประเทศที่มีประชาการมากที่สุด (และขนาดประเทศใหญ่สุด) ในภูมิภาคอาเซียน แต่อุตสาหกรรมอนิเมชั่นของอินโดนั้น เพิ่งมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลา 10 กว่าปี โดยในปี 2003 พวกเขาได้ผลิตหนังอนิเมชั่น 3D กึ่ง live action ชุด Janus, Prajurit Terakhir (Janus, The Last Warrior) ขึ้น แต่ตัวหนังก็ไม่ได้มีเสียงตอบรับที่ดีเท่าไหร่ จนถือเป็นบทเรียนสำคัญในการปรับปรุงคุณภาพอนิเมชั่นของอินโดนีเซียให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบท และการนำเสนอ ที่จะต้องเข้าถึงผู้ชมให้มากขึ้น

Janus, Prajurit Terakhir

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน อนิเมชั่นอินโดนีเซียก็มีโปรเจ็คระดับนานาชาติที่มากขึ้น โดยได้รับการยอมรับจากบริษัทอนิเมชั่นของอเมริกัน,ญี่ปุ่น และ ยุโรป อีกทั้ง ในประเทศ ได้มีเวทีประชันฝีมือการทำอนิเมชั่นอีกหลายรายการ รวมถึงมีอนิเมเตอร์บางส่วนไปทำงานให้กับสตูดิโอของมาเลเซียด้วย เลยทำให้อนิเมเตอร์ชาวอินโด มีทักษะ มีฝีมือที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งเมื่อปี 2014 ที่ผ่านมา อินโดนีเซียได้ออกฉายหนังอนิเมชั่น 2D เรื่องแรกของเขา กับ Battle of Surabaya

Battle of Surabaya

Aksi Didi Tikus อนิเมชั่น 3D ขึ้นชื่อของแดนอิเหนา

ในส่วนวงการการ์ตูนอินโดฯ นั้น พวกเขาจัดเป็นชาติหนึ่งที่ชื่นชอบการ์ตูนอนิเมชั่นญี่ปุ่นมากอีกประเทศหนึ่งในอาเซียน และได้มีส่วนร่วมกับสนพ.การ์ตูนญี่ปุ่นอย่างเนืองๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการหยิบเอา Dragon Zakura ผลงานการ์ตูนติวข้อสอบของ อ.โนริฟุสะ มิตะ มาดัดแปลงในรูปแบบของอินโดนีเซีย โดยมีการเปลี่ยนบรรยากาศให้เข้ากับสังคมวัฒนธรรม วงการการศึกษาบ้านเขามากที่สุด

Kelas Khusus Naga - Dragon Zakura หรือ นายซ่าท้าเด็กแนว ฉบับอินโดนีเซีย (ภาพจาก Kaskud.co.id)

ที่มาข้อมูล : http://www.antaranews.com/en/news/83241/indonesian-animation-goes-international


บรูไน

ประเทศเล็กๆ(แต่ร่ำรวยทรัพยากรน้ำมัน) ชาติหนึ่งของอาเซียน ก็มีการพัฒนาอุตสาหกรรมอนิเมชั่นแค่ไม่กี่ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ เทคโนโลยีการทำอนิเมชั่น 3D CG ที่ทางรัฐบาลบรูไนได้เน้นหนัก จนกระทั่ง บรูไนก็ได้ผลิตอนิเมชั่นซีรี่ย์ 3 มิติ จากฝีมือของพวกเขาเป็นเรื่องแรก กับ Sam The Inventorbot เมื่อปี 2014 และพวกเขายังพยายามหาช่องทางในการนำอนิเมชั่นเรื่องนี้ออกฉายยังต่างประเทศด้วยเช่นกัน

และจากการที่อนิเมเตอร์ท้องถิ่นของบรูไน มีศักยภาพมากพอสมควร เลยทำให้ สตูดิโอท้องถิ่นได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือจาก CyberChicken สตูดิโออนิเมชั่นชั้นนำของเกาหลีใต้ด้วยเช่นกัน

Sam The Inventorbot

ที่มาข้อมูล : http://www.bt.com.bn/business-national/2014/03/19/brunei%E2%80%99s-3d-animation-series-breaks-cover-new-trailers,
http://www.bru-innovedu.com/koreans-see-potential-and-passion-in-brunei-animators-2/


เมียนมาร์

หลังจากเมียนมาร์ หรือ พม่า ได้มีการเปิดประเทศในทุกช่องทาง เมื่อไม่กี่ปี เลยทำให้งานอนิเมชั่นของที่นั่นเริ่มมีการพัฒนาขึ้นด้วยเช่นกัน คือ มีการจัดตั้งสตูดิโออนิเมมากขึ้น มีการเรียนการสอนอนิเมชั่นมากขึ้น และจากการที่ผลงานอนิเมชั่นของพม่าสามารถคว้ารางวัลการประกวดหนังอนิเมชั่นอาเซียน เมื่อปี 2014 นี้เอง ก็คงทำให้วงการอนิเมชั่นพม่าได้รับการจับตามองจากบรรดาเพื่อนบ้านอาเซียนมากขึ้น เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม จากบทสัมภาษณ์ของ Linn Htet Maw ผกก.วิชวลเอฟเฟ็คจาก Don't Let The Creativity Fall เจ้าของรางวัลชนะเลิศจากการประกวดรายการดังกล่าว ได้พูดถึงวงการอนิเมชั่นในพม่าว่า หลังจากวงการอนิเมชั่นของพวกเขาเข้าสู่ภาวะถดถอยเมื่อปี 2002-2003 โดยรวมนั้นก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างเท่าที่ควร ซึ่งโชคดีที่พวกเขามีงานจากโฆษณาทางทีวี เลยทำให้อนิเมเตอร์อย่างพวกเขาอยู่รอดมาได้ มีผลทำให้พวกเขาสามารถทำอนิเมชั่นในเวอร์ชั่นที่ยาวกว่าเดิม และจัดทำอนิเมชั่นชุดนี้ออกเผยแพร่เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวอาเซียน ซึ่งอนิเมชั่นดังกล่าวได้สะท้อนปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ที่เกิดขึ้นในพม่า

ตัวอย่างอนิเมชั่นจากเมียนมาร์ :

https://www.youtube.com/watch?v=O-Zev_zUEDw

https://www.youtube.com/watch?v=cXc15sBiQg0

https://www.youtube.com/watch?v=B1lbJcj9hkw

and more (ใน youtube)

ที่มาข้อมูล : http://www.bangkokpost.com/tech/computer/431446/myanmar-wins-big-at-asean-animation-contest-2014


ลาว

ประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีอะไรหลายๆอย่างคล้ายกับบ้านเรานั้น ก็ไม่ค่อยมีข้อมูลเกี่ยวกับงานอนิเมชั่นของประเทศนี้มากนัก เท่าที่ค้นข้อมูลเจอบนโลกอินเตอร์เน็ตนั้น ก็มีหนังอนิเมชั่นสั้นที่เป็นการรณรงค์สิ่งแวดล้อม

อนิเมชั่นปลูกฝังการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของเด็กชาวลาว จาก http://multilingualbooks.com/wp/cartoons/cartoons-in-lao/

นอกจากนี้ ก็มีโปรเจ็คอนิเมชั่นของ "เซียงเมี่ยง" ที่ดัดแปลงมาจากนิทานพื้นบ้านของท้องถิ่น ของอนิเมเตอร์ชาวลาว-อเมริกัน ที่ตอนนี้มีการระดมเงินทุนในการสร้างหนังอนิเมชั่นชุดนี้ บนเว็บไซต์ kickstarter อีกด้วย

โปรเจ็ค "เซียงเมื่ยง" โดย Nor Sanavongsay

ที่มาข้อมูล : https://www.kickstarter.com/projects/nawdsign/lao-childrens-book-xieng-mieng-adventures




kartoon-discovery.com
Oct 2014


 
free hit counter javascript