รำลึกอนิเมเปี่ยมด้วยความรัก ความทรงจำ ของ Kyoto Animation |
18 ก.ค. 2019 จัดเป็นวันหนึ่งที่ได้สร้างความเศร้า ความสะเทือนใจ ให้แก่คออนิเมทั่วโลก จากการที่ สตูดิโอ Kyoto Animation / KyoAni สตูดิโออนิเมยักษ์ใหญ่แห่งเมืองเกียวโต ผู้สร้างสรรค์ผลงานอนิเมดังในหลายๆเรื่อง ถูกลอบวางเพลิงโดยผู้ไม่หวังดี ณ บริเวณอาคารสตูดิโอ 1 ของพวกเขา และจากเหตุการณ์ดังกล่าว มีผู้เสียชีวิต 36 คน ในจำนวนนี้ก็เป็นอนิเมเตอร์ฝีมือดีเยี่ยม ที่ได้ฝากผลงานอนิเมไว้มากมาย จากเหตุการณ์ดังกล่าว ได้สร้างความสะเทือนใจแก่แฟนๆอนิเม พร้อมกับหวั่นเกรงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมากับสตูดิโอแห่งนี้ ซึ่งขณะนี้ KyoAni ต่างได้รับความช่วยเหลือ ด้านเงินบริจาค จากบรรดา ผู้เกี่ยวข้องกับวงการอนิเม รวมไปถึง แฟนๆอนิเมจากทั่วโลก อย่างไม่ขาดสาย โดยตลอดระยะเวลากว่า 38 ปี ของ KyoAni พวกเขาได้ฝากฝังผลงานอนิเมของพวกเขาออกสู่สายตาผู้ชม ตั้งแต่ อนิเมซีรี่ย์ที่พวกเขาได้ร่วมงานกับสตูดิโอแห่งอื่นในช่วงที่สตูดิโอยังตั้งไข่ ยันกลายสภาพเป็น สตูดิโอหลักในการผลิตผลงานอนิเมเรื่องดังขึ้นชื่อ นับตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมา อย่างที่แฟนๆทราบกันเป็นอย่างดีว่า อนิเมของสตูดิโอแห่งนี้ มีเนื้อหาเกี่ยวกับวัยรุ่นวัยเรียน นำเสนออารมณ์อรรถรสอย่างหลากหลาย เต็มเปี่ยมไปด้วยเสียงหัวเราะ ร้องไห้ แล้วก็ความรัก จนสามารถเข้าถึงคนทุกเพศทุกวัย และสร้างความประทับใจให้ใครต่อใครมิรู้ลืม เพื่อเป็นการรำลึกถึงความประทับใจต่างๆนานา ที่มีต่ออนิเมค่าย KyoAni เราจึงขอทบทวนอนิเมซีรี่ย์ดังของค่ายนี้ เพื่อเป็นการทบทวนความทรงจำกันอีกครั้ง ตามลิสต์ข้างล่างนี้ รวมถึง ขอไว้อาลัยให้แก่ดวงวิญญาณผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ครั้งนี้ไปสู่สุขคติ ,ขอเป็นกำลังแต่ผู้ที่รอดชีวิต จงลุกขึ้นสู่ชีวิตต่อไปอย่างเข้มแข็ง และขอขอบคุณที่ได้สร้างสรรค์ผลงานอนิเมชั้นเยี่ยมออกสู่สายตาชาวโลก....
Full Metal Panic? Fumoffu (2003) หนึ่งในซีรี่ย์อนิเมของ Full Metal Panic ที่ KyoAni ได้มารับหน้าที่สานต่ออย่างเต็มตัว ต่อจาก Gonzo โดยผกก.Yasuhiro Takemoto ซึ่งอนิเมชุดนี้จัดเป็นผลงานอนิเมเรื่องแรกของ KyoAni ในฐานะที่เลื่อนขั้นกลายเป็นสตูดิโอผู้ผลิตหลัก จากเดิมที่เคยเป็นสตูดิโอสายซัพพอร์ต คอยช่วยเหลือสตูดิโอเจ้าอื่นมานาน Fumoffu เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นต่อจากอนิเมชุดแรกสุดของ FMP โดยหยิบเอาเสียงร้องของตุ๊กตาหมียักษ์ Bonta-kun มาสค็อตประจำซีรี่ย์ มาตั้งเป็นชื่อภาค (ซึ่งเจ้า Bonta-kun ยังโผล่ในนิยายเรื่องอื่นๆของ Gatoh ผู้แต่ง FMP ด้วย ดั่งเช่น Amagi Brilliant Park) โดยจะเน้นนำเสนอในอารมณ์ผ่อนคลาย เน้นฮา และ ฉากโรแมนติคระหว่าง Sousuke Sagara ทหารหนุ่มแห่งกองกำลัง Mithril กับ Kaname Chidori สาวม.ปลายเลือดร้อน ที่มีมากกว่าภาคแรก หลังจากจบภาคนี้ KyoAni ยังสร้างอนิเมชุดต่อไปของ FMP กับภาค The Second Raid เมื่อปี 2005
Air (2005) อนิเมซีรี่ย์จากเกมวิชวลโนเวลดังของค่าย Key ซึ่งถือเป็นซีรี่ย์แรกของ Key ที่ KyoAni นำมาจัดทำเป็นอนิเมทีวี ซึ่งการมาของเรื่องนี้ได้สร้างความประทับใจให้แก่ใครต่อใคร ซึ่งต้องยกเครดิตให้กับการกำกับของ Tatsuya Ishihara โดยเรื่องนี้เป็นเรื่องราวการตามหา "หญิงสาวบนท้องฟ้า" ของ Yukito Kunisaki จนนำไปสู่ความสัมพันธ์อันหลายรูท ระหว่าง 1 หนุ่ม กับ 3 สาว ณ เมืองชายทะเล
Suzumiya Haruhi no Yuutsu / The Melancholy of Haruhi Suzumiya (2006) มาถึงอนิเมดัดแปลงจากนิยายของ Nagaru Tanigawa ที่เรียกว่าสร้างปรากฏการณ์ความดังประจำค่าย KyoAni เลยก็ว่าได้ สำหรับ Haruhi สาวน้อยสุดไฮเปอร์ เจ้าของสมญานาม "พระเจ้า H" ผู้ไม่แคร์สื่อใดๆ นอกจากกลุ่มคนประหลาดเหนือโลก ทั้ง มนุษย์สังเคราะห์ , เอสเปอร์ , ผู้มาจากอนาคต บลาๆๆ และเธอได้ชักชวนเหล่าคนประหลาดเหล่านี้ มาอยู่ร่วมชายคาเดียวกับเธอ ภายใต้ชมรม SOS ของโรงเรียน โดยมี Kyon เด็กหนุ่มธรรมดาๆ คอยดูแลเธอโดยไม่ห่าง .....และจากการนำเสนออย่างสุดแหวกแนวนี้เอง ก็ทำให้เรื่องราวของเรื่องนี้ถูกหยิบยกเป็นประเด็นถกเถียงกัน กลายเป็นอนิเมที่โด่งดังมากที่สุดในช่วงเวลานั้น เท่านั้นไม่พอ การมาของอนิเมเรื่องนี้ ได้สร้างชื่อเสียงให้แก่ Aya Hirano ผู้พากย์เสียงเป็น Haruhi จนมีผลงานการพากย์อนิเมมากมาย รวมถึง เพลงประกอบอนิเมเรื่องนี้ ก็ได้รับความนิยมมากมายไม่แพ้กัน ทั้ง God Know และ Hare Hare Yukai โดยเฉพาะเพลงหลังนั้น มีคนแห่กันเต้นเลียนแบบ อัดคลิปลง youtube กัน ไม่หวาดไหว และจากความสำเร็จของอนิเมซีรี่ย์เมื่อปี 2006 นี่เอง KyoAni ก็ไม่ทำให้สาวกพระเจ้า H ผิดหวัง ด้วยการทำอนิซีรี่ย์ชุดใหม่ เมื่อปี 2009 ซึ่งก็เป็นทั้งรีรันตอนเก่าแบบรีเมค + ตอนใหม่ และที่สำคัญ ยังมาพร้อมกับ 'endless eight' สุดยอดบทวนลูปที่ทำเอาแฟนๆได้ดูกันจนเอียนกันไปข้างหนึ่ง!!!!!!!!!
Kanon (2006) KyoAni ได้หยิบเอาวิชวลโนเวลของค่าย Key มาดัดแปลงเป็นอนิเมซีรี่ย์อีกครั้ง แต่ครั้งนี้ เป็นการนำเอา Kanon ฉบับอนิเม ที่แต่เดิมถูกสร้างขึ้นโดย Toei Animation เมื่อปี 2002 มาต่อยอดปรับปรุงใหม่ จนได้อนิเม Kanon เวอร์ชั่น 2006 ที่มีการอัพเกรดคุณภาพงานให้ดีขึ้นกว่าเดิม และใช้นักพากย์คนเดิมจากเวอร์ชั่นปี 2002 เสียเป็นส่วนใหญ่ รวมถึง ได้ชมกันยาวๆถึง 24 ตอนด้วยกัน (เวอร์ชั่นแรก ฉาย 13 ตอน) ซึ่งเวอร์ชั่น 2006 นี้ ได้ Tatsuya Ishihara ผู้เคยสร้างผลงานจากการกำกับอนิเมจากค่าย Key อย่าง Air มารับหน้าที่กำกับเรื่องนี้ โดยมี Fumihiko Shimo เป็นผู้เขียนบท ซึ่งเนื้อหานั้น คล้ายๆกับเกมต้นฉบับ คือ เป็นเรื่องราวของ Yuichi Aizawa หนุ่มม.ปลาย ผู้กลับไปยังเมืองที่เขาเคยมาเยือนเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ในครั้งนี้ เขาได้พบกับสาวน้อยมากหน้าหลายตา 5 คน ซึ่งพวกเธอเหล่านี้ ก็ทำให้เขาทยอยฟื้นคืนความทรงจำ เมื่อ 7 ปีก่อน ทีล่ะเล็กล่ะน้อย
Lucky Star (2007) KyoAni ได้หยิบเอาผลงานการ์ตูนแก๊กสี่ช่อง แนวสาวๆน่ารักปล่อยมุกเปิ่นๆ ของ อ.Kagami Yoshimizu มาจัดทำให้กลายเป็นอนิเมซีรี่ย์ที่ปลุกกระแสท้องถิ่นนิยมอย่างแท้จริง จนกลายขวัญใจของบรรดาโอตาคุสายสาวน้อยโมเอะไปไม่น้อย ในช่วงเวลานั้น!!!! อีกทั้งยังทำให้ เมืองคุกิ จ.ไซตามะ (ที่ถูกใช้เป็นฉากในการ์ตูน) กลายเป็นเมืองที่มีเศรษฐกิจเติบโตมากที่สุดในปีนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับศาลเจ้า Washinomiya ที่สองพี่น้องฝาแฝด Hiiraki ในเรื่อง มารับจ๊อบเป็นมิโกะประจำศาลเจ้าแห่งนี้ จึงทำให้ศาลเจ้าแห่งนี้กลายเป็นสถานที่ยอดนิยมของเหล่าโอตาคุ แล้วก็ คออนิเม ทั่วสารทิศญี่ปุ่น ต่างพากันมาแสวงบุญ ในช่วงปีใหม่ เท่านั้นไม่พอ เพลงเปิดอนิเมของเรื่องนี้อย่าง Motteke! Sailor Fuku! ก็จัดเป็นหนึ่งในเพลงอนิเมยอดนิยมที่ชักชวนบรรดาแฟนๆพากันอัดคลิป สวมชุดนักเรียนปกกะลาสี พร้อมเต้นตามตัวละครในเรื่องด้วยเช่นกัน สำหรับอนิเมเรื่องนี้ ได้ผกก.เกรียนคีย์บอร์ดแห่งวงการอย่าง Yutaka Yamamoto หรือ Yamakan มากำกับเรื่องนี้ในช่วง 4 ตอนแรก ก่อนจะส่งต่อหน้าที่นี้ให้กับ Yasuhiro Takemoto รับหน้าที่กำกับต่อจนจบเรื่อง
Clannad (2007) วิชวลโนเวลดังของค่าย Key เรื่องที่ 3 ต่อจาก Air , Kanon ที่ได้ KyoAni และ ผกก. Tatsuya Ishihara รับหน้าที่สร้างและกำกับ โดยจัดทำเป็น 2 ซีซั่น ฉายยาวจนถึงปี 2009 ประกอบด้วย Clannad กับ Clannad After Story อนิเมทั้ง 2 ซีซั่นนี้ ได้นำเสนอเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างหนุ่มสาว ที่มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่วัยเรียน จนถึง วัยผู้ใหญ่ แล้วก็นำมาซึ่งฉากซึ้ง ฉากเศร้า เรียกน้ำตากันมิหวาดไหว กับความเป็นตัวอับโชคของ Tomoya Okazaki พระเอกประจำเรื่อง ที่ต้องสูญเสียคนรักของตัวเองไปทีล่ะคน แต่ถึงกระนั้น ก็ได้นำพาไปสู่การผจญภัยเพื่อเปลี่ยนแปลงโชคชะตาชีวิต ก่อนจะจบลงอย่างแฮปปี้ทั้งพ่อแม่ลูก ในที่สุด จากความประทับใจและสะเทือนใจที่เกิดขึ้น ก็ทำให้แฟนๆอนิเมหลายต่อหลายคน ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผกก. Ishihara ผู้เหมากำกับงานอนิเมจากค่าย Key ทั้ง 3 เรื่อง ให้กับ KyoAni เหมาะเหมงกับเกมค่าย Key จริงๆ!!!!
K-On! (2009) มาถึงอนิเมใหม่ประจำปี 2009 ของสตูดิโอ ทางสตูดิโอได้เลือกให้ อนิเมเตอร์หญิง Naoko Yamada ขึ้นแท่นเป็นผกก. มารับหน้าที่คุมโปรเจ็คอนิเมซีรี่ย์ K-On! ก๊วนดนตรีแป๋วแหวว ที่ดัดแปลงมาจากมังงะแก๊กสี่ช่องของ Kakifly ที่ว่าด้วยเรื่องราวชีวิตประจำวันสุดเรื่อยเปื่อย จิบน้ำชายามบ่าย ของสาวๆชมรมดนตรีของโรงเรียน ด้วยสไตล์การกำกับของ Yamada ที่เข้าใจในธรรมชาติของเด็กสาววัยรุ่น ผสมผสานกับตัวละครฉบับอนิเมอันสุดแสนน่ารัก อันเป็นเอกลักษณ์ โดนใจทุกเพศทุกวัย ที่ออกแบบโดย Yukiko Horiguchi (ภายหลัง ลายเส้นอนิเมดังกล่าว ถูกแฟนๆพากันแซวว่า เป็นแม่แบบ "K-On! Engine" ซึ่งได้ถูกนำไปใช้กับอนิเมเรื่องหลังๆบางเรื่องของสตูดิโอ) ซึ่งก็เพียงพอแล้ว ที่จะทำให้อนิเมเรื่องนี้ กลายเป็นอนิเมกระแสมาแรงอย่างสุดๆ ทั้งญี่ปุ่นและไทย ในช่วงเวลานั้น ส่งผลให้ สินค้าต่างๆจากเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็น สินค้าคาแร็คเตอร์ , อัลบั้มเพลงประกอบในเรื่อง ต่างก็ขายดีอย่างเทน้ำเทท่า รวมถึงบรรดาสาวๆตัวหลักในเรื่อง ทั้ง Yui , Mio , Ritsu , Tsumugi และ Azusa ต่างเป็นที่รู้จักของคออนิเม จนส่งผลทำให้ฉบับมังงะของ Kakifly ที่แต่เดิมไม่ค่อยมีใครพูดถึง ต่างก็มีแต่คนถามหากันทั่ว และยังสร้างแรงบันดาลใจให้คออนิเมบางส่วนอยากจะลองเล่นดนตรีเหมือนพวกเธอเหล่านี้ จากความสำเร็จอย่างล้นหลามจากอนิเมชุดแรก ทำให้ทางสตูดิโอ ได้เดินหน้าให้พวกเธอได้ร้องเล่นดนตรีต่อ กับในอนิเมซีซั่น 2 (K-On!! - 2010) แล้วก็หนังอนิเมจอเงินชุด K-On! Movie ช่วงปลายปี 2011
Nichijou (2011) KyoAni และ ผกก. Tatsuya Ishihara ได้หยิบเอาผลงานการ์ตูนแก๊กบั่นทอนเซลสมอง ของ อ. Keiichi Arawi อย่าง Nichijou สามัญขยันรั่ว มาดัดแปลงเป็นผลงานอนิเมของตัวเอง ซึ่งเวอร์ชั่นอนิเมนี้ ทาง KyoAni ยังคงนำเสนอความวุ่นวายอย่างเหวอๆที่เกิดขึ้นกับชาวเมืองโทคิซาดาเมะ +จัดการขยี้มุกตลกได้อย่างดีเยี่ยม ไม่แพ้มังงะต้นฉบับ เพียงแต่ในฉบับอนิเม จะให้หุ่นยนต์สาว Nano เป็นตัวเดินเรื่อง เพื่อให้เห็นความพยายามของเธอในการเข้าร่วมชั้นเรียนกับเด็กนักเรียนคนอื่นๆ
Hyouka ปริศนาแห่งความทรงจำ (2012) Hyouka ปริศนาแห่งความทรงจำ ผลงานวรรณกรรมแนววัยรุ่น-สืบสวนเรื่องดังของ Honobu Yonezawa ก็ได้ฤกษ์ถูกจัดทำในรูปแบบอนิเมทีวีเต็มตัว หลังจากตีพิมพ์มาตั้งแต่ปี 2001 ซึ่งอนิเมทีวีจำนวน 22 ตอน ชุดนี้ ได้ผกก. Yasuhiro Takemoto รับหน้าที่กำกับ และ Shoji Gatoh ผู้เขียนนิยาย Full Metal Panic รับหน้าที่เขียนบท โดยมี Futoshi Nishiya รับหน้าที่ออกแบบตัวละครให้ฉบับอนิเม (โดยยึดลายเส้นสไตล์ "K-On! Engine") โดยนำเสนอเรื่องราวการไขปริศนาที่เกิดขึ้นในโรงเรียนของ Hotaro Oreki หนุ่มหน้าง่วงแห่งชมรมวรรณกรรม ซึ่งเขานั้นก็ได้ Eru Chitanda สาวใสลุคคุณหนูผู้ช่างสงสัยในทุกเรื่อง คอยเป็นผู้ช่วยเขา ในการคลี่คลายปริศนาต่างๆ และอนิเมเรื่องนี้ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ช่วยปลุกกระแสท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับเมืองฮิดะ , เมืองทาคายามะ ใน จ.กิฟุ เมืองที่ใช้ดำเนินเรื่องราวในต้นฉบับนิยาย-อนิเม ที่มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย
Chūnibyō demo Koi ga Shitai! (2012) หรือ รักสุดเพี้ยนของยัยเกรียนหลุดโลก! ผลงานอนิเมเรื่องแรก ที่มาจากผลงานส่งเข้าประกวด Kyoto Animation Award ของพวกเขา กับนิยายไลท์โนเวลสุดเพี้ยน ดีกรีรางวัลชมเชย KAA ครั้งแรก ของ Torako (เนื้อเรื่อง), และ Nozomi Ōsaka (ภาพ) ที่ได้ ผกก. Tatsuya Ishihara มารังสรรค์เรื่องราวของคู่หนุ่มสาวสุดเพ้อฝัน ผู้ป่วยเป็นโรค "จูนิเบียว" หรือ โรค ม.2 อย่าง Yuuta กับ Rikka ให้มีชีวิตชีวาบนหน้าจอ ผสมโรงกับความเพี้ยนแบบ WTF จนฮากลิ้งไปข้าง พร้อมกับตามลุ้นเรื่องราวความสัมพันธ์ของเขาและเธอที่ไม่เหมือนใคร ตลอด 2 ซีซั่น ยัน OVA ......ซึ่งเรื่องนี้ ได้มีการจัดทำฉบับหนังโรง อีก 2 ชุด ประกอบด้วย Takanashi Rikka Kai: Gekijō-ban Chūnibyō Demo Koi ga Shitai! (2013) กับ Eiga Chūnibyō demo Koi ga Shitai! Take on Me ซึ่งเป็นหนังที่มีเนื้อหาใหม่ทั้งหมด ในปี 2018
Tamako Market (2013) "ตลาดป่วน ก๊วนทามาโกะ" ผลงานอนิเมออริจินอลของสตูดิโออีกเรื่อง ที่ได้ ผกก.สาว Naoko Yamada , คาแร็คเตอร์ดีไซเนอร์ Yukiko Horiguchi แล้วก็ทีมสต๊าฟอนิเมจาก K-On! ยกชุด มารับหน้าที่ผลิต (จึงไม่แปลกใจที่ลายเส้นของเรื่องนี้ ยังคงมาอีหรอบ "K-On! Engine" เช่นเคย) ซึ่งผลงานเรื่องนี้ ยังคงเป็นแนวเฮฮา ฮีลลิ่ง ผ่อนคลายจิตใจ ไม่แพ้ K-On! เลย โดยมาในบรรยากาศครื้นเครงสไตล์ย่านการค้าตลาดสด ผสมผสานกับเรื่องราวสุดโรแมนติคของหนุ่มสาววัยรุ่น ลูกเจ้าของร้านโมจิ ระหว่าง Tamako กับ Mochizo ที่เอาแต่เขินอายบิดตัวกันไปมา ตั้งแต่อนิเมซีรี่ย์ ยันหนังอนิเมของเรื่องนี้ชุด Tamako Love Story นำเสนอผ่าน Dera เจ้านกพูดได้สุดประหลาด ที่กลับกลายเป็นสัตว์เลี้ยงของ Tamako ในเวลาต่อมา ต่อมา เรื่องนี้ได้รับการเขียนในรูปแบบนิยาย โดย Mutsuki Ichinose และได้ Horiguchi เป็นผู้วาดภาพประกอบ
Free! (2013) อนิเมหนุ่มนักว่ายน้ำสุดฮิตระบือไกลในหมู่สาวๆ ที่ดัดแปลงมาจากนิยายชุด High Speed ของ Kōji Ōji ซึ่งเป็นนิยายดีกรีรางวัลชมเชยของ Kyoto Animation Award ครั้งที่ 2 ...จากการมาของเรื่องนี้ ก็เป็นการพิสูจน์ว่า KyoAni สามารถทำอนิเมขายตัวละครชายหนุ่มให้ปังได้ ไม่แพ้ อนิเมขายตัวละครสาวน้อยจำนวนหลายเรื่องของสตูดิโอเลย!!! ซึ่งส่วนหนึ่ง ต้องยกเครดิตให้กับ ผกก.Hiroko Utsumi ที่ได้ขึ้นแท่นกำกับอนิเมของสตูดิโออย่างเต็มตัว เป็นเรื่องแรก รวมถึงได้ Futoshi Nishiya มาแจ้งเกิดอย่างจริงๆจังๆ กับงานออกแบบตัวละครให้กับเรื่องนี้ โดยนำเสนอเรื่องราวความสัมพันธ์ของ Haruka ที่มีต่อเพื่อนฝูงของเขา ทั้ง Makoto,Nagisa และ Rin ซึ่งเคยอยู่ทีมว่ายน้ำตอนประถมร่วมกัน แต่พอ ม.ปลาย กลับมีเพียง Rin ที่เลือกเดินในอีกเส้นทางหนึ่ง และมอง Haruka คือคู่แข่งสำคัญ ขณะที่ ฝั่ง Haruka เอง ได้ตั้งชมรมว่ายน้ำที่ รร.Iwatobi และได้เพื่อนซี้เก่าแก่อย่าง Makoto กับ Nagisa รวมถึง Rei มาร่วมทีมว่ายน้ำของโรงเรียน คอยชิงชัยความเป็นจ้าวสระ กับทีมว่ายน้ำของ Rin จากความสำเร็จอันล้นหลามของอนิเมซีรี่ย์หนุ่มจ้าวสระชุดนี้ ก็เลยได้มีการต่อยอดกันต่อ กับอนิเมซีรี่ย์ชุด Free! - Eternal Summer , Free! - Dive to the Future รวมถึง หนังอนิเมชุด Free! Timeless Medley (2017), Free! Take Your Marks (2017) แม้แต่ นิยายต้นฉบับของเรื่องนี้อย่าง High Speed ได้รับการดัดแปลงเป็นหนังอนิเมชุด High Speed! Free! Starting Days เมื่อปี 2015 อีกด้วย อนึ่ง Free! - Dive to the Future จัดเป็นผลงานเรื่องสุดท้ายของ Nishiya ก่อนจะจบชีวิตในเหตุลอบวางเพลิง สตูดิโอ 1
Kyokai no Kanata (2013) อนิเมแนวแฟนตาซี เหนือธรรมชาติ เจือปนความเพี้ยน ตามสไตล์ของค่ายนี้ ดัดแปลงมาจาก ผลงานนิยายดีกรีรางวัลชมเชย Kyoto Animation Award ปี 2011 ของ Nagomu Torii (เนื้อเรื่อง) กับ Tomoyo Kamoi (ภาพ) โดยฝีมือการกำกับของ Taichi Ishidate ต่อมาถูกนำไปต่อยอดในรูปแบบ OAV แล้วก็ หนังอนิเมอีก 2 ภาค นำเสนอเรื่องราวของหนุ่มม.ปลาย Akihito ที่ได้ช่วยชีวิต Mirai เด็กสาวเพื่อนร่วมชั้น ที่พยายามจะฆ่าตัวตาย แต่ Mirai กลับแทงเขาด้วยด้วยการใช้ดาบที่ก่อตัวมาจากเลือดของเธอ ทว่า Akihito กลับไม่เป็นอะไร เพราะเขาเป็นลูกครึ่งอสูรอมตะ ซะนี่ ในขณะที่ Mirai เป็นนักรบแห่งโลกวิญญาณที่คอยปกป้องมนุษย์ ให้รอดพ้นจากพวกอสูร และจากความจริงที่ปรากฏขึ้น ทำให้ทั้งคู่เรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยที่ Akihito อาสาช่วยเหลือภารกิจปราบอสูรของ Mirai ด้วย
Amagi Brilliant Park (2014) ผลงานนิยายจากฝีมือปลายปากกาของ Shoji Gatoh (Full Metal Panic) อีกเรื่อง ที่ได้รับการจัดทำในรูปแบบอนิเมโดยสตูดิโอแห่งนี้ โดย ผกก. Yasuhiro Takemoto ซึ่งเรื่องนี้ ให้โทนที่ผ่อนคลายกว่า FMP มาในธีมของการปกป้องสวนสนุก (แน่นอนว่า มีเจ้าหมี Bonta-kun มาสค็อตประจำผลงานของ Gatoh ปรากฏตัวในเรื่องนี้ด้วย) กับเรื่องราวของ Seiya หนุ่มสุดเพอร์เฟค ที่ถูก Isuzu หญิงสาวลึกลับ ชักชวน(กึ่งบังคับ)ให้ไปสวนสนุก Amagi Brilliant Park ที่กำลังประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก ส่อเค้าจะปิดตัวถาวร ซึ่งที่นั่นเอง ก็พบว่า พนักงานของสวนสนุกแห่งนี้ ต่างเป็นผู้ลี้ภัยจาก Maple Land ดินแดนแห่งเวทมนตร์ และยอดผู้เข้าสวนสนุก ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับการรวบรวมพลังเวทมนตร์ของพนักงานสวนสนุกด้วย ด้วยเหตุนี้ จึงกลายเป็นงานอันหนักอึ้งของ Seiya ในฐานะของผู้จัดการสวนสนุก (ได้รับการแต่งตั้งโดย Latifah Fleuranza เจ้าหญิงแห่ง Maple Land ผู้เป็นเจ้าของสวนสนุกตัวจริง) ที่จะต้องทำทุกอย่าง เพื่อไม่ให้สวนสนุกนั้นปิดตัว
Hibiki! Euphonium / Sound! Euphonium (2015) ปี 2015 KyoAni ได้หวนกลับมาทำอนิเมแนวเน้นตัวละครสาวๆ + ธีมดนตรี อีกครั้ง แต่ครั้งนี้แตกต่างไปจากเดิม เพราะ ไม่ได้มาแนวเฮฮาใสๆ แต่กลับเน้นธีมดราม่า จัดเต็มเรื่องราวชีวิต วัยเรียน วัยรุ่น ของเหล่าสาวๆชมรมดนตรี อย่างเข้มข้นกว่าเดิม โดยดัดแปลงมาจากนิยายของ Ayano Takeda ที่ใส่อารมณ์ความเป็นท้องถิ่นของเกียวโต ซึ่งเข้าแก๊ปกับ KyoAni พอดี โดยผลงานอนิเมเรื่องนี้ ได้ Tatsuya Ishihara เป็นผกก. ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของสาวๆชมรมดนตรีเครื่องเป่าแห่งโรงเรียน Kitauji รวมถึง อ.ที่ปรึกษาชมรมคนใหม่ ที่ต้องพยายามอย่างหนัก ในการพาทีมดนตรีของโรงเรียน ผ่านเข้ารอบในระดับประเทศอีกครั้ง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะนอกจากคนในชมรมจะต้องแข่งขันแก่งแย่งการเป็นผู้เล่นตัวจริงแล้ว สมาชิกในชมรมบางคน ยังต้องประสบกับภาระเรื่องของการเรียน การสอบเข้ามหาวิทยาลัย ด้วยเช่นกัน จากความสำเร็จของเรื่องนี้ จึงได้รับการทำต่อ กับอนิเมซีซั่น 2 แล้วก็ หนังอนิเมจำนวนอีกหลายภาค รวมถึง หนังอนิเมชุด Liz and the Blue Bird อีกด้วย
Musaigen no Phantom World / Myriad Colors Phantom World (2016) KyoAni ได้หยิบเอาไลท์โนเวลแนวแฟนตาซีของ Soichiro Hatano (เนื้อเรื่อง) กับ Shirabi (ภาพ) มาดัดแปลงเป็นอนิเมซีรี่ย์ ซึ่งฉบับอนิเมของเรื่องนี้ ไม่ได้มาใสๆอย่างที่คิด จากการที่ ผกก. Tatsuya Ishihara ได้จัดหนักจัดเต็มแฟนเซอร์วิสอย่างสุดๆ กับเรื่องราวที่เกิดขึ้นบนโลกอนาคต ที่ผู้คนทั้งโลกติดเชื้อไวรัสประหลาด จนได้รับพลังพิเศษที่เรียกว่า "Phantom" เข้า แม้พลังที่ว่ามานี้ ไม่ได้มีพลังอันตรายใดๆ แต่ถึงกระนั้น Haruhiko Ichijo และผองเพื่อน แห่งชมรมไล่ล่า Phantom ของโรงเรียน ก็ยังคงเฝ้าระวังการมีอยู่ของ Phanthom ต่อไป
Miss Kobayashi's Dragon Maid (2017) อนิเมซีรี่ย์เนื้อหาเบาๆ ของน้องเมดมังกร กะ เจ้าของ จากผลงานการ์ตูนต้นฉบับที่เขียนโดย Coolkyoushinja กับเรื่องราวของ Kobayashi พนักงานสาวออฟฟิศที่ได้พบเจอกับมังกรตนนึงที่หน้าบ้าน ทันใดนั้นเอง มังกรตนนั้น ได้แปลงร่างเป็นเด็กผู้หญิงสวมชุดเมด นาม Tohru และได้อาศัย พร้อมกับขยันสร้างเรื่องวุ่นวาย ให้คุณ Kobayashi อยู่เนืองๆ ในฐานะของสาวรับใช้ประจำบ้าน เท่านั้นไม่พอ การมาของ Tohru ได้นำพาผองเพื่อนไม่ได้รับเชิญอย่าง มังกรตนอื่นๆ , พระเจ้า และ สิ่งมีชีวิตอื่นๆ คอยมาเยือนบ้านเธออย่างไม่ขาดสาย อนิเมเรื่องนี้ จัดเป็นผลงานการกำกับอนิเมซีรี่ย์เรื่องสุดท้ายในชีวิตของ Yasuhiro Takemoto หลังจาก Takemoto จากไป ก็ส่งผลต่อโปรเจ็คอนิเมทีวีซีซั่น 2 ของเรื่องนี้ ที่ได้มีการประกาศมาซักพักนึง กำลังตกอยู่ในสถานภาพที่ไม่แน่นอน
Koe no Katachi / A Silent Voice / รักไร้เสียง (2017) ผกก. Naoko Yamada ที่สร้างชื่อมาจากการกำกับอนิเมซีรี่ย์เนื้อหารีแล็กซ์ จาก K-On! , Tamako Market ก็ได้รับงานที่ถือว่าท้าทายครั้งหนึ่งในชีวิต กับหนังอนิเมเนื้อหาเครียด เน้นดราม่าชีวิตวัยรุ่น สะท้อนปัญหาการกลั่นแกล้ง ที่ดัดแปลงมาจากผลงานมังงะของ อ.Yoshitoki Oima ซึ่งตีแผ่เรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างคู่หนุ่มสาว Shoya Ishida กับ Shoko Nishimiya ที่ได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่สมัยที่ทั้งคู่เป็นเพื่อนร่วมชั้นตอนประถมด้วยกัน โดย Nishimiya เป็นเด็กสาวหูหนวกที่เพิ่งย้ายเข้ามาใหม่ เธอจึงตกเป็นเป้าให้ Ishida กับผองเพื่อน รุมกันกลั่นแกล้งเธอสารพัด แบบเลยเถิด ซะจนล่วงรู้ถึงอาจารย์ประจำชั้น กลายเป็นจุดเปลี่ยน ทำให้ Ishida ตกเป็นเป้าถูกกลั่นแกล้งโดยเพื่อนร่วมชั้นแทน ในตลอดชั้นประถม และด้วยเหตุนี้ ทำให้เขากลายเป็นคนปิดกั้นตัวเอง ไม่ยอมเข้าหาใคร มองหน้าใครต่อใครมีกากบาทแปะเต็มหน้าไปหมด จนในที่สุด เขาได้พบเจอกับ Nishimiya อีกครั้ง เมื่อตอน ม.ปลาย ซึ่งเขาได้ใช้โอกาสการพบเจอกับเธอครั้งนี้ ด้วยการขอโทษขอโพย และสานสัมพันธ์ฉันท์มิตรกับเธอ อย่างจริงๆจังๆ ...จากนั้น เรื่องราวก็ได้ดำเนินให้ทั้งคู่ ได้พบเจอกับเพื่อนสมัยเด็กๆอีกครั้ง พร้อมกับทำให้ Ishida เริ่มกลับมาเปิดใจให้กับคนอื่นๆอีกครั้ง รวมถึงซีนบอกรักอันไม่เหมือนใครของพระนางคู่นี้ แม้ว่า ตัวหนังอนิเม จะถูกวิจารณ์อย่างหนักในแง่ของการดำเนินเรื่อง และ บทสรุป ที่ค่อนข้างจะห้วนเกินไป เมื่อเทียบกับมังงะต้นฉบับ แต่เรื่องนี้ก็สามารถทำรายได้จากการฉายทั่วโลกถึง 33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยกัน
Violet Evergarden (2018) นิยายดีกรีรางวัลชนะเลิศ Kyoto Animation Award เรื่องแรก และ เรื่องเดียวของสตูดิโอ ในขณะนี้ ของ Kana Akatsuki (เนื้อเรื่อง) และ Akiko Takase (ภาพ) ก็ได้รับการจัดทำเป็นอนิเมซีรี่ย์ งานภาพสวยเด่น เรื่องหนึ่งของสตูดิโอ โดย ผกก.Taichi Ishidate เมื่อปี 2018 โดยนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ Violet หญิงสาวรูปงาม ไร้ความรู้สึก (มองผ่านๆ นึกว่า Saber จาก Fate/ Stay Night ) เธอผู้นี้เคยเป็นทหารในกองทัพ คอยถูกใช้ให้เป็นเครื่องมือในการทำลายล้างในศึกสงคราม ก่อนจะมาผันตัวเอง ทำอาชีพเป็น Auto Memory Dolls หรือ "ตุ๊กตาความทรงจำอัตโนมัติ" ประจำบริษัทไปรษณีย์ คอยรับหน้าที่พิมพ์จดหมายต่างๆ ให้กับผู้ว่าจ้าง ในช่วงสงครามสงบลง ซึ่งนอกจากจะปฏิบัติหน้าที่เป็น Doll แล้ว เธอยังคงพยายามตามหาความหมายที่แท้จริงของคำว่า "ชั้นรักเธอ" คำพูดสุดท้ายที่ Gilbert ทหารหนุ่มผู้เลี้ยงดูเธอ ได้เอ่ยไว้กลางสนามรบ ด้วยเรื่องราวดราม่าอันแสนสุดซึ้ง ทำให้เรื่องนี้ ได้รับการจัดทำต่อ ในรูปแบบ OVA , หนังอนิเมไซด์สตอรี่ และ หนังอนิเมเนื้อหาใหม่ทั้งหมด ตามลำดับ ... โดย หนังอนิเมไซด์สตอรี่ของเรื่องนี้ ยังคงฉายบนโรงที่ญี่ปุ่น ในเดือน ก.ย. 2019 ตามกำหนดการเดิม แม้ว่า สตูดิโอ 1 ของพวกเขาจะได้รับความเสียหายอย่างหนัก จากเหตุลอบวางเพลิงก็ตาม
Tsurune: Kazemai Koko Kyudo-bu (2018) อนิเมทีวีซีรี่ย์ของสตูดิโอ ที่หวนกลับมาเน้นขายตัวละครชาย+มาในธีมกีฬา เช่นเดียวกับ Free! เพียงแต่เรื่องนี้ เปลี่ยนบรรยากาศจากสระน้ำ ไปเป็นสนามเป้า(ยิงธนู) แทน ซึ่งเรื่องนี้ได้ Takuya Yamamura รับหน้าที่กำกับ โดยดัดแปลงมาจากนิยายชื่อเดียวกัน ดีกรีรางวัลพิเศษของ Kyoto Animation Award ปี 2016 ของ Kotoko Ayano (เนื้อเรื่อง) กับ Chinatsu Morimoto (ภาพ) กับเรื่องราวของ Minato Narumiya เมื่อตอน ม.ต้น แต่จากความพ่ายแพ้ในการแข่งขันล่าสุด ก็ทำให้เขาเกิดอาการ Target Panic หรือ กลัวการยิงพลาดเป้า จนทำให้เขาตัดสินใจวางมือจากการยิงธนู ต่อมา ในตอนม.ปลาย เขาได้พบเจอกับชายลึกลับกำลังยิงธนูกลางป่า ประกอบกับ ถูกเพื่อนสมัยเด็กชักชวนให้เข้าร่วมชมรมธนูอีกครั้ง นั่นก็ทำให้เขาตัดสินใจกลับมาแข่งยิงธนูอีกครั้ง และตั้งเป้าพาทีมคว้าชัยในระดับจังหวัด
kartoon-discovery.com
|