ปี 2018 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป ได้เกิดเหตุการณ์ต่างๆเกิดขึ้นมากมาย โดยรวมนั้น จัดเป็นปีที่ค่อนข้างจะคึกคัก เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทั้งปรากฏการณ์"ออเจ้า" พาย้อนยุคสมัยตามแม่การะเกด , ปรากฏการณ์ไอด้อลบูมทั่วบ้านทั่วเมืองจนถึงทำเนียบ ไปกับน้องๆ BNK48 และ "คุ้กกี้เสี่ยงทาย" รวมถึง ช่วงเวลาที่ทั่วโลกร่วมเชียร์บอลโลก 2018 ไปพร้อมๆกับการตามลุ้น และให้กำลังใจ น้องๆกับโค้ช ทีมหมูป่า ที่ติดถ้ำนานกว่า 10 กว่าวัน รวมไปถึง ดราม่าวุ่นวายสารพัด ทำนอง "ประเทศกรูมี" ทั้งยิงเสือดำเอย , หวย 30 ล้านอลเวงมันทั้งปี , ขวานป้าพิฆาตรถ-ตลาดข้างๆ , ทำผิดแล้วหงายการ์ด "รู้เท่าไม่ถึงการ" +"ลูกชั้นเป็นคนดี" ฯลฯ จวบจนกระทั่ง ปลายปี บรรยากาศการเมืองเริ่มจะคึกคัก เตรียมพร้อมสู่การเลือกตั้งที่กำลังจะกลับมา(มั้ง) เป็นต้น
ในส่วนของข่าวคราวในวงการการ์ตูน รอบปี 2018 ก็มีเรื่องราวต่างๆเกิดขึ้นหลายอย่าง ก็เลยถือโอกาสขอเก็บรวบรวมเรื่องราวที่เกิดขึ้น ในวงการการ์ตูนประจำปี 2018 มาสรุปกันให้ได้รับทราบพอสังเขป ในตอนแรกนี้ จะเป็นการสรุปข่าวและเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในวงการการ์ตูนตลอดทั้งปี 2018
ส่วนตอนสอง จะเป็นการสรุป LC - อนิเม และ สื่อที่เกี่ยวข้องในบ้านเรารอบปี 2018 ครับ เรื่องราวจะเป็นอย่างไรนั้น เราไปทบทวนกันเลยครับ!!!
สำนักข่าว K-D News (kartoon-discovery.com)
สามารถอัพเดทข่าวสารเว็บเราได้ผ่าน Twitter และ Facebook
หากนำข่าวจากเราไปเผยแพร่ที่อื่น รบกวนใส่เครดิตให้กับทางเราด้วยครับ ขอบคุณครับ
เหตุการณ์ ปรากฏการณ์ ข่าวสำคัญ วงการการ์ตูนประจำปี 2561
# 20 ปี Shaman King : การกลับมา ภายใต้บ้านหลังใหม่ ของราชันย์ปาหมอน
พูดถึงการ์ตูน Shaman King ราชันย์แห่งภูต แล้ว หลายคนคงจะนึกถึง ฉากจบ "ปาหมอน" ในตำนาน ที่ทำเอาหลายคนได้แต่ปวดใจ สาปส่ง หรือ หยิบเอาไปแซว ขยี้กันไม่เลิก จนถึงทุกวันนี้ แม้ว่า อ. Hiroyuki Takei ผู้แต่งเรื่องนี้ จะได้เปลี่ยนแปลงตอนจบแบบใหม่ ที่ดีกว่าเดิม ในฉบับ Kanzenban หรือ Ultimate Edition แล้วก็ตาม ...... แต่ อ. Takei ยังคงสานต่อเรื่องราวการต่อสู้ของ Yoh และ พรรคพวก ต่อไป ทั้งมังงะภาคต่อ และ มังงะภาคแยกอีกสารพัด ชนิดที่ไม่สนต่อกระแสความนิยมปัจจุบันที่ซาไปนานแล้ว จนเวลาผ่านล่วงเลยไป จนครบ 20 ปี ในปี 2018 นี้เอง
จากการที่มังงะเรื่องนี้มีอายุครบ 20 ปี นี่เอง ก็เลยเกิดข่าวฮือฮาขึ้นต้อนรับปีจอ 2018 นั่นคือการประกาศโปรเจ็คใหม่ล่าสุดของ Shaman King ไปพร้อมๆกับการย้ายต้นสังกัดใหม่ สู่ สนพ. Kodansha จากเดิมที่เคยตีพิมพ์ให้กับ สนพ. Shueisha ต้นสังกัดของนิตยสารการ์ตูน Shonen Jump ที่เคยตีพิมพ์เรื่องนี้มาอย่างยาวนาน ซึ่งในภายหลัง ได้มีการเปิดเผยว่า โปรเจ็คใหม่ที่ว่านี้ก็คือ มังงะภาคใหม่ชุด Shaman King The Super Star ที่ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Shonen Magazine Edge ฉบับ มิ.ย. 2018 ที่ออกวางขายเมื่อ 17 พ.ค. 2018 อย่างไรก็ตาม นิตยสารดังกล่าว ได้นำร่องการมาของภาคนี้ ด้วยมังงะตอนสั้นจำนวน 3 ตอน ใน Shonen Magazine Edge ฉบับ พ.ค. 2018 เท่านั้น ไม่พอ เรื่องนี้ยังเขียนภาคแยกเพิ่มเติม ชุด Shaman King Gaiden: Red Crimson ลงในนิตยสารหัวเดียวกัน โดยจะเป็นเรื่องราวของ Tao Jun พี่สาวของ Tao Ren เป็นหลัก
Shaman King The Super Star & Shaman King Gaiden: Red Crimson
จากการที่ Shaman King ได้ย้ายต้นสังกัดใหม่ ก็ส่งผลกระทบต่อ มังงะ Shaman King ฉบับ Ultimate Edition ที่ต้องงดจัดจำหน่ายในบ้านเราไปด้วย ...... ซึ่งเราก็ได้แต่เฝ้าคอยข่าวคราวความคืบหน้าที่เกิดขึ้นกับเรื่องนี้ จากทาง SIC กัน (หากตีพิมพ์-วางขายใหม่ คาดว่า คงจะตีพิมพ์ใหม่ทั้งหมด)
# ๙ ศาสตรา : อนิเมชั่นไทยแหวกล้ำ สู่กระแสปากต่อปาก พากันชม
วงการการ์ตูนไทยในรอบปีจอ 2018 แม้โดยรวมจะยังคงเงียบๆไม่หวือหวานัก ถึงกระนั้น ก็เกิดความคึกคักในช่วงต้นปี นั่นคือ การมาของ "๙ ศาสตรา" หนังอนิเมชั่นฝีมือคนไทย โดย เอ็กซ์ฟอร์แมท ฟิล์มส์ ที่เข้าฉายบนโรงหนังต้อนรับวันเด็ก เมื่อ 11 ม.ค. 2018 ซึ่งหนังดังกล่าวก็ได้สร้างความสนใจ และ จับตามองในหมู่คอการ์ตูนบ้านเรา ในแง่ของตัวหนังที่มีการประโคมว่า ใช้ทุนสร้างมากถึง 230 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในบรรดาหนังอนิเมชั่นไทยเรื่องใดๆ รวมถึงการนำเสนอภาพกราฟิก 3 มิติ ในหนัง ที่ออกมาดูดี ไปพร้อมกับ เรื่องราวที่ออกแนวแฟนตาซี ผจญภัย ผสมผสานกับ ศิลปะแม่ไม้มวยไทย เข้าไป และจากการที่ตัวหนังฟีดแบ็คออกมาดีเยี่ยม เลยทำให้เกิดกระแสปากต่อปากชวนกันไปดู ส่งผลให้ ตัวหนังสามารถกวาดรายได้ทะลุ 100 ล้านบาทอย่างรวดเร็ว และ กลายเป็นหนังไทยเรื่องแรกของปี 2018 ที่สามารถทำรายได้ถึง 100 ล้าน
นอกจากฉากแอ็คชั่นที่ได้รับคำชมเยอะแล้ว รูปโฉมของแม่นางเสี่ยวหลาน (ตอนปล่อยผม) ก็ได้รับคำชื่นชมจากคอหนังมากด้วย เช่นกัน!!!!
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่หนังการ์ตูนคนต่อสู้กับกองทัพยักษ์ เรื่องนี้ กำลังมีกระแสอยู่นั้น ตัวหนังได้รับความสนใจจาก จีน และประเทศต่างๆ ในการนำหนังเรื่องนี้ เข้าฉายในต่างประเทศ ทำให้หลายฝ่ายต่างลุ้นให้ตัวหนังสามารถทำรายได้ต่างประเทศได้เยอะๆ แต่จนแล้วจนรอด ตัวหนังกลับไม่ประสบความสำเร็จจากการฉายที่ต่างประเทศ เท่าไหร่นัก เลยทำให้ หนังเรื่องนี้ยังไม่สามารถสร้างกำไรได้ มีแต่ขาดทุนยับไม่ต่างจากอนิเมชั่นไทยเรื่องที่ผ่านๆมา ซึ่งหนังการ์ตูนไทยยังคงต้องฝ่ากำแพง ในเรื่องการตอบรับจากผู้ชม รวมไปถึง บท รายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ แล้วก็ การนำเสนอ ที่ถือเป็นจุดบอดของอนิเมชั่นไทยเสมอมา
ถึงกระนั้น ๙ ศาสตรา ได้รางวัลเกียรติยศเป็นการส่งท้ายปี ด้วยการเป็นหนังไทย 1 ใน 5 เรื่อง ที่สามารถคว้ารางวัลภาพยนตร์ไทยสร้างสรรค์แห่งปี พ.ศ. ๒๕๖๑ จากกระทรวงวัฒนธรรม
นอกจาก ๙ ศาสตรา แล้ว ในปีนี้ เราก็มีหนังอนิเมชั่นไทยอีก 1 เรื่อง เข้าฉายบนโรง ช่วงกลางปี นั่นคือ ครุฑมหายุทธหิมพานต์ ถึงแม้ว่า ตัวหนังจะได้นักแสดงหนุ่ม ณเดชน์ คูกิมิยะ มาพากย์เสียงในบทตัวเอกก็แล้ว แต่ตัวหนังนั้น กลับมีกระแสตอบรับที่จางเอามากๆ
# Dragon Ball Super : เห่อบรรลือโลก ไปกับศึกตัดสินชี้ชะตาโลก!!
Dragon Ball จัดเป็นซีรี่ย์การ์ตูนฮิตมหาชนของผู้คนทั่วโลก ไม่ว่าเรื่องนี้จะมีการจัดทำต่อกี่ภาคต่อกี่ภาค ยังคงได้รับการตอบรับจากแฟนๆทั่วโลกเช่นเคย........เช่นเดียวกับ Dragon Ball Super ซีรี่ย์อนิเมชุดล่าสุดของ Dragon Ball ที่ออกฉายช่วงปี 2015 -2018 จัดเป็นอนิเมอีกภาคที่ได้รับความนิยมจากผู้ชมทั่วมุมโลกไม่แพ้ภาคก่อนๆหน้า ซึ่งในช่วงท้ายของอนิเมชุดนี้ เราก็ได้เห็นปรากฎการณ์ความคลั่งไคล้ในระดับโลก โดยเฉพาะแถบละตินอเมริกา ต้องบอกว่าบ้าคลั่งเอามากๆ ซะจน มีการฉายอนิเม Dragon Ball Super สดบนจอยักษ์กลางแจ้ง กันในหลายเมือง ตามประเทศต่างในแถบนี้ อาทิ Juárez, Querétaro, San Luis Potosí,Santiago, Veracruz ในเม็กซิโก แล้วก็ Machala (เอกวาดอร์) , San Miguel (เอล ซัลวาดอร์) แล้วก็ประเทศ นิการากัว เป็นต้น ซึ่งอีเว้นต์รับชมอนิเมสดๆ กลางแจ้ง ได้สร้างความสนใจให้กับแฟนการ์ตูนๆแถบนี้เป็นอย่างมาก จนพากันปิดเมือง ตั้งหน้าตั้งตาเป็นสักขีพยานในการต่อสู้กันระหว่าง Goku กับ Jiren ในตอนที่ 130 ของ Dragon Ball Super ร่วมกัน ซึ่งมีบรรยากาศครึกครื้น ไม่ต่างจากการชมคอนเสิร์ต หรือ ดู-เชียร์กีฬาสดๆ ในสนามแข่งขัน เลยทีเดียว!!!!!!
อย่างไรก็ตาม กิจกรรมฉายตอนรองสุดท้ายของ Dragon Ball Super ที่เกิดขึ้นในหลายๆเมือง แถบละตินอเมริกานั้น ส่วนใหญ่เป็นการออกฉายอย่างละเมิดลิขสิทธิ์จาก Toei Animation แทบทุกที่ ถึงกระนั้น มีเพียงเมือง Juárez ของเม็กซิโก เท่านั้น ที่ได้รับอนุญาตจาก Toei ให้ออกฉาย Dragon Ball Super ให้ชาวเมืองได้รับชมสดๆ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งตรงนี้ ต้องยกเครดิตให้กับ นายกเทศมนตรีของเมือง Juárez ที่ลงทุนไปเจรจาเรื่องนี้กับทาง Toei จนสร้างความฟินให้แก่แฟนๆ Dragon Ball ที่นั่น เลยทีเดียว
แม้ว่าเรื่องราวการต่อสู้ที่เกิดขึ้นใน Dragon Ball Super จะจบลง พร้อมกับโมเม้นต์น่าจดจำหลายอย่าง ทั้ง Goku โหมด Ultra Instinct , Frieza กลับใจร่วมสู้กับพวก Goku , หมายเลข 17 เท่ห์ตั้งแต่ต้นจนจบ , Bulma เปลี่ยนเสียงคนพากย์ เป็นการส่งท้าย เป็นต้น แต่แฟนๆ ยังคงติดตามการต่อสู้กับพวกเขาต่อไป ในหนังอนิเม Dragon Ball Super : Broly หนังอนิเมชุดที่ 20 ของ Dragon Ball (แต่เป็นหนังอนิเมภาคแรก จาก Dragon Ball Super) ที่เป็นการรวมพลังกันสู้ของ Goku กับ Vegeta ในการต่อกรกลับ Broly ชาวไซย่าผู้แข็งแกร่งที่สุด ที่ปรากฏตัวขึ้นอีกคำรบ ตัวหนังเพิ่งออกฉายที่ญี่ปุ่นไปเมื่อ 14 ธ.ค. 2018 และสามารถทำรายได้ทะลุพันล้านเยนอย่างไว แค่ 3 วัน แรก เท่านั้น รวมถึง ยอดขายตั๋วที่ทะลุเกิน 1 ล้านใบ อย่างไว ไม่ถึงสัปดาห์ ..... อซึ่งมีแนวโน้มสูงที่ตัวหนังจะทุบสถิติรายได้-ยอดตั๋วของหนังอนิเม Dragon Ball ทุกภาค.....แม้ว่า เรื่องราวของ Dragon Ball ในอนาคต จะออกมาเป็นอย่างไร แต่เชื่อว่า Goku ยังคงฝึกฝนตัวเองต่อไป และ เรื่องราวของ Dragon Ball จะไม่มีวันจบสิ้นลง ตามที่ Masako Nozawa ผู้พากย์เสียงเป็น Goku ตั้งแต่เด็กยันโต เคยให้สัมภาษณ์ไว้
ในส่วนแฟนๆ Dragon Ball บ้านเรา นอกจากจะได้ติดตามชม Dragon Ball Super เป็นการส่งท้ายปี 2018 แล้ว ก็ยังได้สัมผัสกับฉบับมังงะของอนิเมชุดนี้ รวมถึง มังงะภาคแยกสุดฮาอย่าง "เกิดใหม่เป็นยามุชา โช๊ะเด๊ะ" อีกด้วย
# ดราม่าอีหรอบ "ปลาหมอ ตายเพราะ 'twitter'" ของ คนการ์ตูน-ไลท์โนเวล ยุค 4.0!!!!
twitter จัดเป็นสื่อโซเชียลที่ได้รับความนิยมจากผุ้คนเป็นวงกว้าง และได้รับความนิยมในหมู่ชนชาวญี่ปุ่น ทุกวัย ทุกสาขาอาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ คนวงการการ์ตูน อนิเม ไลท์โนเวล ที่ใช้ twitter เป็นช่องทางในการสื่อสารกันระหว่าง พวกเขา กับ แฟนๆ ที่สะดวกและรวดเร็ว..อย่างไรก็ตาม ขึ้นชื่อว่าสื่อโซเชียล ย่อมมีการเข้าถึงอย่างกว้างขวาง จากแฟนๆได้โดยง่าย ซึ่งทำให้แฟนๆ หรือ ผู้ติดตาม สามารถมองเห็นลักษณะความคิดของตัวเจ้าของผลงานนั้นๆ ผ่านทางตัวอักษร หรือ รูปภาพที่โพสต์ และหากเจ้าของผลงานคนใด ขาดความระมัดระวัง หรือ ยั้งคิด ในเรื่องของการสื่อสาร หรือ แสดงความเห็น ก็อาจส่งผลเสียต่อหน้าที่การงานของตัวเอง เช่นกัน โดยในรอบปีที่ผ่านมา คนวงการการ์ตูน- ไลท์โนเวล ญี่ปุ่น ส่วนหนึ่ง ต่างประสบกับดราม่า twitter ทำพิษ พาจน จนส่งผลเสียแก่ตัวเอง :
เริ่มจาก ประเด็นที่ถือว่าร้อนแรงที่สุดประจำปีนี้ จากการที่ Mine ผู้แต่งไลท์โนเวลแนวต่างโลกชุด Nidome no Jinsei wo Isekai de หรือ [New Life+] Young Again in Another World ถูกแฟนๆพบว่า เขาได้โพสต์ข้อความในเชิงดูถูกเหยียดหยามชาวจีนและเกาหลี บน twitter รวมถึง ยังได้แฝงความดูถูกนี้ลงในเนื้อหานิยายเรื่องนี้ของเขา และจากดราม่าที่เกิดขึ้น ก็ส่งผลกระทบหลายด้านต่อผลงานเขา เริ่มจาก ฉบับอนิเมทีวีของเรื่องนี้ ได้ถูกยกเลิก จากการที่นักพากย์คนหลักของเรื่องนี้ ประกาศถอนตัวจากโปรเจ็คอนิเมเรื่องนี้ทั้งหมด รวมไปถึง ไลท์โนเวลต้นฉบับ ก็งดตีพิมพ์อย่างไม่มีกำหนดตามไปด้วย (ยกเว้นฉบับมังงะ ที่มีการตีพิมพ์ต่อไป) ขณะที่ Mine ผู้แต่งไลท์โนเวลชุดนี้ ได้ออกมารับผิดชอบตัวเองจากเรื่องที่เกิดขึ้น ด้วยการลบบัญชีของ twitter ของเขาออกไป
จากข่าวข้างต้น ก็มีคนในวงการออกมาวิพากษ์วิจารณ์หลายคน หนึ่งในนั้นก็มี Masao Shiro ผู้แต่งมังงะ Taekwondoer Park มังงะแนวเสียดสีเกี่ยวกับเชื้อชาติ รวมถึง Yutaka Yamamoto หรือ Yamakan ผกก.อนิเม Wake Up, Girls!, Kannagi ที่ร่วมออกโรงวิจารณ์ดราม่านี้อย่างเผ็ดมันส์บน twitter....อย่างไรก็ตาม จากการที่ทั้งคู่นี้ได้วิจารณ์กันอย่างเลยเถิด โดย Shiro ทวีตถึงเรื่องนี้ในเชิงของการเยาะเย้ยทับถม Mine ส่วน Yamakan ก็โบ้ยความผิดไปที่พวกโอตาคุ กับ ชาวจีน อีก ก็เลยส่งผลให้บัญชี twitter ของทั้งคู่ถูกลบออกไป...โดยเฉพาะของ Yamakan นั้น เจอแบนทั้งบัญชีส่วนตัว และ สตูดิโอ Twilight เล่าเอา Yamakan ถึงกับเซ็ง พร้อมประกาศว่า จะสื่อสารกับแฟนๆ ผ่านช่องทางอื่น แทน twitter
ส่วนดราม่า twitter อื่นๆ ของคนวงการการ์ตูน-อนิเม ประกอบด้วย Kazuyoshi Yaginuma ผกก.อนิเมซีรี่ย์ Netojū no Susume / Recovery of an MMO Junkie ถูกสตูดิโอ Signal.MD ประกาศตัดหาง จากการที่เขาได้ทวีตข้อความในเชิงต่อต้านชาวยิว , Yūdai Natsume นักแสดงหนุ่มจาก Ensemble Stars! ถูก Omnia บริษัทเอเจนซี่ ยกเลิกสัญญา จากกรณีที่ เขาได้โพสต์ข้อความไม่เหมาะสม ในเชิง "ดูถูกดูหมิ่นผู้หญิง กับ การเลือกปฏิบัติ" บน twitter ส่วนตัว
ขณะที่ บัญชี twitter ของ Bkub Okawa ผู้แต่งมังงะ Pop Team Epic ถูกแบนในช่วงสั้นๆ จากการที่เขาได้โพสต์ภาพละเมิดลิขสิทธิ์ เช่นเดียวกับ twitter หลักของ Idolish7 ถูกแบนชั่วคราว จากความเข้าใจผิดของผู้ดูแล twitter เกี่ยวกับข้อมูลวันเกิด
จากข้างต้น ก็เป็นอุทธาหรณ์สำหรับใครหลายๆคน ที่ต้องพึงระวังในการโพสต์หรือแสดงความคิดเห็นต่างๆลงบน twitter หรือ สื่อโซเชี่ยลอื่นๆ กันมากกว่าเดิม เพราะหากถูกจับได้ว่าโพสต์แสดงความเห็นออกมาอย่างไม่ดีงาม อาจส่งผลถึงโปรเจ็ค หน้าที่การงานของตัวเองในภายภาคหน้า ทั้งๆที่ อุตส่าห์ได้รับโอกาสดีๆ มารออยู่ตรงหน้าแล้วแท้ๆ.......
# Tohru "Zero" Amuro ตัวละครอนิเมสุดฮ็อตประจำปี 2018
ตัวละครจากการ์ตูนอนิเม ที่ปรากฏตัว ผ่านสายตาผู้ชม ในรอบปี 2018 ก็มีเสน่ห์ที่แตกต่างกันไป ตามแต่ความนิยมชมชอบของแต่ละคน หนึ่งในนั้น ก็มีตัวละครอนิเมที่เราจะหยิบขึ้นมาพูดถึงเป็นพิเศษในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากความอ็อตฮิตของเขาที่สั่งสมมาจากมังงะต้นฉบับ ยันจนถึง หนังอนิเมภาคล่าสุดที่ฉายในปีนี้ .... ใช่แล้ว เรากำลังพูดถึง ชายหนุ่มคนหนึ่ง ผู้ต้องรับบทเป็นคน 3 บุคลิก อย่าง Furuya Rei หรือเป็นที่รู้จักและจดจำ(มากกว่า) ในชื่อของ Amuro Tohru แล้วก็ Bourbon นั่นเอง
Furuya Rei เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจคนหนึ่งจากเรื่อง ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน ผู้ซึ่งปฏิบัติภารกิจในการตามสืบเรื่องราวของพวกองค์กรชุดดำ และเพื่อที่จะทำภารกิจให้แนบเนียน เขาจึงต้องแฝงกายในองค์กรชุดดำ ในนามของ Bourbon ถึงกระนั้น และเพื่อไม่ให้คนนอกจับพิรุธได้ เขาจึงต้องสร้างตัวตนอีกตัวตนหนึ่ง ในนามของ Amuro Tohru พนักงานประจำร้านคาเฟ่ Poirot (ปัวโรต์) ที่อยู่ด้านล่างของสนง.นักสืบ Mori Kogoro และไหนๆที่ทำงานก็อยู่ใกล้กันๆ Amuro จึงตัดสินใจสวมบทบาทเป็นนักสืบฝึกหัดของ Kogoro อีก 1 ตำแหน่ง
จากการที่เขาต้องมารับบทเป็นคน 3 คน 3 คาแร็คเตอร์ รวมถึงเบื้องลึกเบื้องหลังของเขาที่ค่อนข้างจะลึกลับ (มากับความสงสัยที่ ทำไมถึงไม่ถูกชะตากับ Akai Shuichi นัก) ก็ทำให้เขากลายเป้นตัวละครที่มีมิติ น่าค้นหา ประกอบกับหน้าตาของเขานั้น จัดว่า หล่อเหลาได้มาตรฐานหนุ่มหล่อของเรื่องโคนันอีก ก็เลยทำให้เขากลายเป็นหนึ่งในตัวละครหนุ่มที่สาวๆคอ'เมะ หวีดหนักมากที่สุดแห่งปี
และด้วยความฮ็อตของ Amuro นี่เอง (ผสมโรงกับเรื่องราวของพวกชุดดำ) ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ Detective Conan: Zero's Executioner หรือ ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน : ปฏิบัติการสายลับเดอะซีโร่ หนังอนิเมชุดที่ 22 ของ ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน สามารถครองอันดับ 1 บน Box Office ญี่ปุ่น ถึง 7 สัปดาห์ติดกัน อีกทั้งตัวหนังยังทำสถิติรายได้สูงที่สุดของหนังอนิเมโคนันทุกภาค ด้วยรายได้มากถึง 9.1 พันล้านเยน ในญี่ปุ่น และ 11.2 พันล้านเยน จากการออกฉายทั่วโลก เท่านั้นไม่พอ ตัวหนังยังติดอันดับ 9 หนังอนิเมญี่ปุ่นรายได้สูงสุดตลอดกาล เช่นกัน
ไม่เพียงเท่านั้น Amuro ยังนำพาให้นิตยสาร Animedia ได้รับการตีพิมพ์เพิ่มเติม เป็นครั้งที่ 2 ของพวกเขา จากฉบับ มิ.ย. 2018 ที่ขึ้นปก Amuro กับ โคนัน รวมถึง นิตยสาร Shōnen Sunday S ได้รับการตีพิมพ์เพิ่มเติมรอบ 2 จากการที่นิตยสารดังกล่าว ตีพิมพ์มังงะ Detective Conan: Zero's Tea Time ซึ่งเป็นมังงะไซด์สตอรี่ของ Amuro โดยเฉพาะ (และบ้านเราจะได้อ่านฉบับแปลภาษาไทย เร็วๆนี้) รวมถึง Amuro ยังพาหนังอนิเมภาคล่าสุด ติด 2 อันดับแรกของคำยอดฮิตประจำปี 2018 ของ Gadget Tsūshin จากคำว่า Tōru Amuro และ Amuro's women (ผู้หญิงของ Amuro)
ความแรงของ Amuro นี้ อย่าว่าแต่ที่ญี่ปุ่นเลย เมืองไทยก็เช่นกัน เห็นได้จาก การที่ สาวๆ รวมถึง คออนิเมโคนัน พากันถ่ายรูปกับสแตนดี้ Amuro แถวโรงภาพยนตร์ มากกว่า ตัวละครคนใดๆในเรื่อง รวมถึง มีแฟนให้ความสนใจ ลิ้ม ชิมอาหาร และ เอาของแถม (โดยเฉพาะ Amuro) กันที่ ร้านคาเฟ่ธีมโคนัน (เปิดโดย Bake A Wish กับ Parco) ที่มาเปิดที่กทม. ในช่วงสั้นๆ ช่วงกลางปี 2018
# Precure : รวมพลังมิตรภาพ ความรัก ของเหล่าสาวน้อยเวทมนตร์ ครบขวบปีที่ 15
อนิเมแนวสาวน้อยเวทมนตร์ จัดเป็นสิ่งหนึ่งที่อยู่คู่กับสตูดิโอ Toei มานาน (นอกจาก Kamen Rider กับ Super Sentai) โดย Toei ได้ปลุกปั้นการ์ตูนแนวสาวน้อยเวทมนตร์มานาน และประสบความสำเร็จมาโดยตลอด ตั้งแต่ Sailor Moon ยัน Ojamajo Doremi (แม่มดน้อยโดเรมี) จนกระทั่ง ปี 2004 Toei ก็ได้ปั้นซีรี่ย์สาวน้อยเวทมนตร์เรื่องใหม่ ที่เป็นการสืบสานความสำเร็จต่อจาก 2 เรื่องก่อนหน้าอย่าง Precure หรือ Pretty Cure โดยเริ่มต้นกันด้วย Futari wa PreCure ซีรี่ย์อนิเมปฐมบทของ Precure ที่ออกฉายในปีดังกล่าว
ด้วยการรวมพลังต่อสู้กันของ Cure Black กับ Cure White สองสาวที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว แต่เข้ากันได้ราวกับหยินหยาง ได้สร้างความประทับใจแก่ผู้ชมไปทั่ว ไม่เพียงแค่บรรดาเด็กผู้หญิง ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ชมหลักแล้ว ยังรวมถึง บรรดาหนุ่มๆคอการ์ตูน ยัน โอตาคุสายสาวน้อย เลยทำให้ Cure Black กับ Cure White ได้สู้บนจอทีวีต่อไปกับ Futari wa PreCure Max Heart ซีรี่ย์ภาคต่อของพวกเธอ
Futari wa PreCure ซีรี่ย์ปฐมบท ขบวนการสาวน้อยเวทมนตร์ Precure
หลังจาก Cure Black กับ Cure White หมดหน้าที่ลง Toei ก็ยังคงสืบสานความดังของซีรี่ย์ PreCure กันอย่างต่อเนื่อง จนไม่น่าเชื่อว่า เวลาล่วงเลยไป ซีรี่ย์ PreCure ได้ก้าวสู่ปีที่ 15 แล้ว ในปี 2018 นี้!!!!! ปัจจุบัน ซีรี่ย์ Precure มีจำนวนสาวน้อยเวทมนตร์รวมกันมากถึง 55 คน จากอนิเมซีรี่ย์จำนวน 15 ภาค ด้วยกัน ซึ่งสาวๆทั้ง 55 คนนี้ ได้ปรากฏตัวร่วมกันในหนัง Eiga Hugtto! PreCure♡Futari wa PreCure All Stars Memories ซึ่งได้รับการบันทึกสถิติลง Guinness Book ในฐานะที่หนังเรื่องนี้ เป็นหนังอนิเมที่มีสายน้อยเวทมนตร์ปรากฏตัวมากที่สุด
และเนื่องในโอกาสอันดีงามที่เกิดขึ้นของเหล่าสาวน้อยเวทมนตร์ Precure พวกเธอจึงได้รับการเฉลิมฉลอง และ ได้รับข่าวดีหลายอย่าง ตลอดทั้งปี เริ่มจาก หนังอนิเม PreCure Super Stars! สร้างสถิติใหม่ของตัวเอง ด้วยการสามารถจำหน่ายตั๋วเข้าชมหนังล่วงหน้าได้มากถึง 60,000 ใบ จากการเปิดวางจำหน่าย 2 วัน , ตามด้วย โปรเจ็คละครทีวี Koe Girl! ที่ได้นักพากย์จากอนิเมเรื่องนี้ แสดงนำ , หนัง Eiga Hugtto! PreCure♡Futari wa PreCure All Stars Memories ทำสถิติรายได้เปิดตัววันแรกสูงกว่าหนังอนิเม Precure ทุกภาค
อย่างไรก็ตาม อนิเม Hugtto! PreCure อนิเมซีรี่ย์ชุดปัจจุบันของเรื่องนี้ ยังได้สร้างปรากฏการณ์ชวนตะลึงแก่ผู้ชม นั่นคือ การปรากฏตัวของ Cure Infini ซึ่งถือเป็น Precure เพศชายคนแรกในประวัติศาสตร์ 15 ปี ของ Precure!!!!! โดยปรากฏตัวในตอนที่ 42 ของอนิเมชุดนี้!!!!!!!! (ซึ่ง Precure ผู้ชาย นั้น มีสัญญาณว่าจะโผล่มาตั้งแต่อนิเมชุด Kirakira PreCure a la Mode แต่เอาเข้าจริง เป็นแค่ข่าวลือ ก่อนจะปรากฏตัวอย่างจริงๆจังๆ ใน Hugtto! PreCure)
Henri Wakamiya เจ้าหนุ่มหน้าหวาน ผู้สร้างประวัติศาสตร์เป็น Precure ผู้ชายคนแรกของซีรี่ย์ ในนาม Cure Infini
แม้ว่า Precure จะดำเนินเรื่องราวมาอย่างยาวนานหลายสิบภาค แต่ถึงกระนั้น เหล่าสาวน้อยเวทมนตร์กลุ่มนี้ ก็เคยประสบกับความยากลำบากเช่นกัน จากการเปิดเผยของ Atsushi Maekawa หัวหน้าคนเขียนบทจากอนิเม Fresh Precure (2009-2010) ที่ระบุว่า หากซีรี่ย์ดังกล่าวออกมาล้มเหลว ซีรี่ย์ Precure ก็จะมาถึงจุดจบลง ณ ตรงนั้น ทันที .... และจากการที่ Precure ดำเนินมาได้ถึงตรงนี้ ก็คงต้องขอบคุณแฟนๆที่ให้การสนับสนุน สาวๆ Precure อย่างสม่ำเสมอ ส่งผลให้ สาวๆ Precure ยังคงออกมาต่อสู้ รวมพลังมิตรภาพ ส่งมอบความรักให้แก่ผู้ชม บนจอทีวี ต่อไป.......
# Pop Team Epic & Cell at Work! : 2 เมะคนล่ะขั้ว มาแรงแห่งปีจอ
หากจะกล่าวถึงอนิเมญี่ปุ่นฮิตติดเทรนด์ในรอบปี 2018 นั้น โดยรวมแล้ว อนิเมแนวต่างโลก แนวแฟนตาซี ก็ยังคงเป็นเทรนด์ฮิตต่อไป (จนบางทีรู้สึกว่ามันเกร่อเอามากๆ) รวมไปถึง บรรดาอนิเมซีรี่ย์ที่เป็นภาค / ซีซั่นต่อมา ก็ยังคงได้รับการตอบรับจากแฟนๆอย่างดีเยี่ยม เช่นกัน ......แต่ถ้าหากจะหยิบยกอนิเมซีรี่ย์เรื่องเด่น ประจำปี 2018 เอามาพูดถึงกันในข่าวนี้ สำหรับเราแล้ว ก็ขอยกเอา 2 เรื่องนี้ ซึ่งเป็นอนิเมที่มีความแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว แต่กลับมีการพูดถึงในหมู่คออนิเมอย่างล้นหลามในรอบปีที่ผ่านมา นั่นคือ Pop Team Epic กับ Hataraku Saibou! / Cell at Work! หรือ เซลล์ขยันพันธุ์เดือด
Pop Team Epic เป็นอนิเมดัดแปลงจากมังงะแนวตลก 4 ช่องของ อ.bkub Ookawa ซึ่งขึ้นชื่อในหมู่ผู้ชมว่า เป็นเมะสุดกาว ไม่มีแก่นสารใดๆ นอกจาก การที่สองสาว Popuko กับ Pipimi ออกมาป่วน ล้อเลียน ชาวบ้านไปวันๆ และด้วยความกาวที่ไม่ต้องคิดอะไรมากมาย ประกอบกับฉบับอนิเมนั้น ทั้ง Popuko กับ Pipimi มีการสลับสับเปลี่ยนนักพากย์กันตลอดทั้งเรื่อง (บางตอนใช้ผู้ชายพากย์ด้วยนะเออ!!!) ชนิดที่เห็นแล้ว ได้ลั่น WTF!!!!! ไปตามๆกัน ซะจนกลายเป็นที่กล่าวขวัญในหมู่ผู้ชมตลอดปี เลยทำให้เกิดวลีฮิตจากเรื่องนี้มากมาย พากันพาเหรดติดอันดับคำยอดฮิตของ Gadget Tsūshin ในหลายอันดับ รวมถึง อนิเมเรื่องนี้ยังครองแชมป์คำค้นหายอดฮิต หมวดอนิเม ของ Yahoo! ประจำปี 2018 อีกด้วย!!!! .....อ้อ!!!! ความป่วนเกรียนของสองสาวนั้น ไม่จบลงเท่านี้ เพราะ จะมีอนิเมตอนพิเศษ ออกมาในวัน April 's Fool 2019 (ดีไม่ดี อาจมีอนิเมซีซั่นถัดมา ก็เป็นได้)
ส่วน เซลล์ขยันพันธุ์เดือด เป็นอนิเมดัดแปลงจากมังงะชื่อเดียวกันของ อ.Akane Shimizu จัดเป็นอนิเมแนว Edutainment ซึ่งเน้นศึกษาให้ความรู้แบบบันเทิง เกี่ยวกับระบบการทำงานของเซลล์ในร่างกายมนุษย์ นำเสนอผ่านตัวละคร เม็ดเลือดแดง , เม็ดเลือดขาว , เกล็ดเลือด ที่ออกแบบมาเป็นตัวคน ส่วนอวัยวะ ร่างกายต่างๆนั้น ก็เป็นสถานที่ตึกรามบ้านช่อง ซึ่งเรื่องนี้ได้นำเสนอขั้นตอนการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดในร่างกายให้เห็นภาพโดยง่าย ทั้ง สาวเม็ดเลือดแดงที่คอยขนออกซิเจน - สารอาหาร ไหลเวียนไปทั่วร่างกาย หรือ การต่อสู้ของเจ้าหนุ่มเม็ดเลือดขาวที่คอยป้องกันเชื้อโรคต่างๆ แล้วก็ พวกน้องๆ เกล็ดเลือด ที่คอยทำหน้าที่ซ่อมแซมร่างกายจากความเจ็บปวดต่างๆ เป็นต้น และด้วยการนำเสนอของเรื่องนี้ ที่ทั้งสนุกและได้ความรู้ ทำเอานึกถึงการ์ตูนฝรั่งแนวเดียวกันอย่าง "นิทานชีวิต" เลย (สำหรับคนที่อายุ 30+ ขึ้นไป) จึงไม่แปลกที่เรื่องนี้จะได้รับคำชมมากมาย ทั้งคออนิเมเอง รวมถึง นักวิจัย แล้วก็ คุณหมอ ด้วย เลยส่งผลทำให้ฉบับมังงะต้นฉบับเริ่มมีการพูดถึงมากขึ้นและขายดีเช่นกัน ซึ่งภายหลัง ทางสต๊าฟอนิเมเรื่องนี้ ก็ได้ใจบุญ ด้วยการแบ่งปันไฟล์ภาพจากอนิเม ให้บุคคล หรือ สถานศึกษาต่างๆ เอาไปใช้ได้ฟรี เพื่อใช้ประกอบการศึกษาต่างๆ
อนึ่ง จากความน่ารักของตัวละคร "เกล็ดเลือด" ที่ออกแบบให้กลายเป็นเด็กๆน่ารัก ชวนรู้สึกโมเอะ เหลือเกิน เลยทำให้น้องๆกลุ่มนี้ ได้รับการโหวตให้เป็นตัวละครอนิเมเสน่ห์แรงแห่งปี 2018 โดย Charapedia
น้องๆ "เกล็ดเลือด" จาก เซลล์ขยันพันธุ์เดือด
# เมืองฉากหลัง Love Live! Sunshine ประสบพบเจอเรื่องวุ่น พา Aqours ชงไปด้วย!!
สาวๆ ยูนิตไอด้อล Aqours แห่ง Love Live! Sunshine ก็ยังคงสานต่อความดังของซีรี่ย์ Love Live! ตามรอยรุ่นพี่ μ's จากอนิเมชุดแรก ได้อย่างต่อเนื่อง แถมยังทำให้ เมือง Numazu เมืองที่ถูกใช้เป็นฉากหลังของอนิเม Love Live! Sunshine มีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว ในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปี นับจากอนิเมฉายครั้งแรก เมื่อปี 2016 จนกลายเป็นการสร้างเงินสะพัดให้กับเมืองดังกล่าว
ในรอบปีที่ผ่านมา จะไม่มีอนิเมทีวีชุดใหม่ของ Love Live! Sunshine ออกมาเลยก็ตาม แต่ก็มีกิจกรรมโปรโมท หรือ อีเว้นต์คอนเสิร์ตที่เกี่ยวข้อง ออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ให้ได้ลืมเลือนกัน อย่างไรก็ตาม จากการที่เมืองดังกล่าว มีปริมาณนักท่องเที่ยวที่เข้ามาตามรอยอนิเมเรื่องนี้ มากขึ้น โดยนักท่องเที่ยวเหล่านี้ ก็ย่อมมากับกลุ่มคนที่ไร้มารยาท ไม่มีกาลเทศะ รวมไปถึง พวก hater หรือ anti เรื่องนี้ที่แอบเนียนมาด้วย(ทำไม) เช่นกัน จนกลายเป็นการสร้างความวุ่นวายให้แก่ผู้คนในท้องถิ่น รวมถึง เหล่าสาวๆ Aqours ต้องตกเป็นจำเลยจากเรื่องวุ่นวายที่เกิดขึ้น เช่นกัน ซึ่งในปีนี้ พวกเธอแล้วก็ชาวเมืองก็ต้องประสบกับเรื่องระทึกขวัญ จากการที่มีกลุ่มคนผู้ไม่หวังดีได้ฉีดสีสเปรย์พ่นลงบนฝาท่อลายสมาชิก Aqours ที่ประดับวางไว้ตามท้องถนนในเมือง Numazu จนได้รับความเสียหาย ทำให้ทางเมืองต้องตัดสินใจถอดฝาท่อดังกล่าวจนหมดเกลี้ยงในช่วงเวลาดังกล่าว เท่านั้นไม่พอ ก็มีแฟนอนิเมเรื่องนี้ ได้ขับรถอิตาฉะ (รถตกแต่งลาย) ลายตัวละคร Yō Watanabe จาก Love Live! Sunshine เข้าชน หญิงชราผู้หนึ่ง จนได้รับบาดเจ็บสาหัส ณ เมืองดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ความชงของสาวๆกลุ่มนี้ ยังไม่หมดลง เพราะ นอกจากคอนเสิร์ตของพวกเธอบางแห่ง จะเลื่อนการจัดออกไป เนื่องจากภัยธรรมชาติแล้ว ก็มี คอนเสิร์ตของพวกเธอ ที่จัดขึ้น ณ เมือง Tokorozawa จ.Saitama ช่วงมิ.ย. ถูกเด็กวัยรุ่นผู้หนึ่ง ได้ข่มขู่วางระเบิดคอนเสิร์ตดังกล่าวบนสื่อโซเชี่ยล แต่โชคยังดีที่จนท.ตำรวจรวบผู้ต้องหาได้ ทำให้คอนเสิร์ตดังกล่าวยังคงจัดขึ้นตามปกติ ไม่มีเหตุร้ายแรงเกิดขึ้น
โดยภาพรวม ในปีนี้จะเป็นปีไม่ดีของ Aqours ซักเท่าไหร่ .... ซึ่งหลักๆนั้นมาจากความปั่นป่วนวุ่นวายของบรรดาแฟนคลับ (ไม่ก็ Hater) เป็นหลัก และจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้บรรดาสมาคม องค์กรต่างๆ ในเมือง ได้ออกโรงเตือนบรรดานักท่องเที่ยว ให้ช่วยกันเคารพความเป็นส่วนตัวของผู้คนในท้องถิ่น แล้วก็ รักษาทรัพย์สินในเมืองไม่ให้ได้รับความเสียหายไปมากกว่านี้ อย่างไรก็ตาม จากการที่พวกเธอเหล่านี้ กำลังจะปรากฏตัวบนจอเงินกับหนังอนิเมชุด Love Live! Sunshine!! The School Idol Movie Over the Rainbow ที่จะออกฉายทั่วญี่ปุ่นรับปีใหม่ 2019 ...ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในปีศักราชใหม่ คงจะเป็นปีที่ดีของพวกเธอเหล่านี้นะ.........
# Gintama : ปิดตำนานซีรี่ย์ยุค 2000 ใน Shonen Jump
เป็นเรื่องปกติสำหรับวัฏจักรของนิตยสารการ์ตูน Shonen Jump ที่จะต้องมีซีรี่ย์เรื่องเก่าจบลง (ไม่ว่าจะโดนตัดจบ หรือ จบเองก็เถอะ) และมีเรื่องใหม่เข้ามาแทนที สลับกันไปมา โดยในหมู่เรื่องที่จบลงไปใน Jump ในปีนี้ เรื่องที่ทำเอาแฟนๆได้รู้สึกใจหายเป็นที่สุด คงจะหนีไม่พ้น คุณกิน และ สหายนักรับจ้างสารพัด แห่ง Gintama ที่ในที่สุด ได้ปิดตำนานตัวเองในนิตยสาร Jump หลังจากต่อสู้ไปพร้อมๆเรียกเสียงหัวเราะจากผู้อ่านมายาวนานถึง 14 ปี และแถมยังเป็นการปิดตำนานซีรี่ย์การ์ตูนยุคปี 2000 ของ Jump ไปในตัว จากการที่ คุณกินนั้น เป็นมังงะยุค 2000 เรื่องสุดท้าย ที่อยู่ยงคงกระพันใน Jump รายสัปดาห์ โดยพิมพ์มาตั้งแต่ปี 2004 จนถึงปี 2018 นี้
หากจะว่ากันจริงๆ คุณกิน มีสัญญาณว่าจะปิดฉากลงใน Jump มานานราว 1-2 ปี แต่ถึงกระนั้น เรื่องนี้ได้มีข่าวทำนองว่าจะจบออกมาจำนวนหนึ่ง แต่จนแล้วจนรอด ก็ยังคงสานต่อเรื่องราวไปเรื่อยๆ จนกระทั่ง มาจบลงในจัมป์ ฉบับที่ 42/2018 ที่ออกวางขายในวันที่ 15 ก.ย. 2018 แต่ถึงกระนั้น ตัวคุณกิน ได้ประกาศกร้าว ณ ตอนสุดท้ายในจัมป์ อันเป็นการเพิ่มความหวังให้กับแฟนคลับเรื่องนี้ ที่จะได้ติดตามพวกเขากันต่อไป ด้วยการย้ายไปตีพิมพ์เนื้อหาบทสรุป ในนิตยสาร Jump Giga ซึ่งเป็นนิตยสารรายฤดู โดยจะเริ่มตั้งแต่ ฉบับฤดูหนาว 2019 ที่จะวางขาย 28 ธ.ค. 2018 และจะตีพิมพ์ใน Giga อย่างต่อเนื่องเพียงแค่ 3 ตอนเท่านั้น!!!!...... ซึ่งแฟนๆของคุณกิน คงต้องติดตามต่อไปว่า เรื่องราวบทสรุปของพวกเขา จะจบลงอย่างสมบูรณ์ หรือ จะเป็นการโทรลผู้อ่านซ้ำๆหลายรอบ ของ อ.Hideaki Sorachi ผู้แต่งเรื่องนี้ !!! (555+) ที่จะได้ติดตามเรื่องราวของแก๊งนักรับจ้างสารพัดต่อ ณ ที่ใดที่หนึ่ง
ซึ่งมูลเหตุที่ Gintama ไม่อาจจะจบลงอย่างสมบูรณ์ใน Jump รายสัปดาห์ ได้นั้น อ. Sorachi ได้อธิบายเอาไว้ว่า ตัวเขาได้แจ้งต่อกองบก. Jump ล่วงหน้าว่า จะขอจบเรื่องนี้ (ซึ่งเป็นไปตามระบบการแจ้งจบซีรี่ย์ของ Jump ซึ่งต้องแจ้งล่วงหน้า 6 เดือน เพื่อที่ทาง บก.จะได้เตรียมการในการเสาะหาซีรี่ย์ใหม่ทดแทน) แต่เอาเข้าจริง อ.Sorachi ไม่สามารถที่จะเคลียร์เรื่องราวให้จบในรายสัปดาห์ได้ ตามแผนที่วางเอาไว้แต่แรก
ซีรี่ย์การ์ตูนอวสานเรื่องอื่นๆ ในปี 2018 :
BTOOOM! เกมระเบิดฝ่าวิกฤตมหาประลัย , ēlDLIVE , ReLife , Magi: ภาคการผจญภัยของ Sinbad , Watashi ga Motete Dousunda ( เมื่อสาววายกลายเป็นสาวฮ็อต ) , Dagashi Kashi ( โคตรเกรียนเซียนขนม ) , Masamune-kun no Revenge , Saiki Kusuo no Psi Nan (ไซคิ หนุ่มพลังจิตอลเวง) , Okusama ga Seito Kaichō! (ภรรยาของผมเป็นประธานนักเรียน) , Trinity Blood , Baki-Dou (บากิ จอมระห่ำ)(จบภาค) , Kuroko no Basuke Replace PLUS , PSYCHO BANK (บัตรมรณะ) , Tokiwa Bowl no Megami-sama (เทพลานโบวล์โทกิวะ) , Barakamon เกาะมีฮา คนมีเฮ , Tokyo Ghoul:re , Back Street Girls (ไอดอลสุดซ่า ป๊ะป๋าสั่งลุย) , Dokaben , Amaama to Inazuma (เมนูกรุ่น อุ่นไอรัก) , Citrus , High Score Girl , Life 2 , Shokuryō Jinrui (ฟาร์มขุนฅน) , Yondemasu yo Azazel-san,Suzumiya Haruhi-chan
# Kamen Rider ZI-O : ไอ้มดแดงบทสั่งลายุคเฮย์เซย์ ส่งไม้ต่อให้แก่ไอ้มดแดงยุคสมัยใหม่
ปีศักราช หรือ รัชสมัยเฮย์เซย์ของญี่ปุ่น กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 เม.ย. 2019 จากการที่ สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะแห่งญี่ปุ่น ทรงสละราชบัลลังก์ เลยทำให้ ปี 2018 นี้ จัดเป็นปีที่สำคัญของชาวญี่ปุ่น ในฐานะที่เป็นปีสุดท้ายที่ได้ใช้ศักราชเฮย์เซย์ครบทั้งปี จนทำให้หลายวงการในญี่ปุ่น พากันจัดทำโปรเจ็คพิเศษที่เป็นการทิ้งทวนยุคเฮย์เซย์ไปด้วยกัน หนึ่งในนั้น ก็มีซีรี่ย์ Kamen Rider หรือ ไอ้มดแดง ที่ได้จัดทำซีรี่ย์ชุดใหม่ที่เป็นการส่งท้ายยุคเฮย์เซย์ด้วย กับ Kamen Rider Zi-O
โดย Zi-O (หรือ จีโอ ตามการออกเสียงแบบญี่ปุ่น) จัดเป็นซีรี่ย์ไอ้มดแดงเรื่องที่ 20 ประจำยุคเฮย์เซย์ และเป็นเรื่องสุดท้ายของยุคนี้เช่นกัน!! ซึ่งได้นำเสนอเรื่องราวในคอนเซ็ปต์เกี่ยวกับกาลเวลาอีกครั้ง เช่นเดียวกับ Kamen Rider Decade เป็นเรื่องราวของหนุ่มวัยรุ่นยุคปัจจุบัน ได้พบกับหญิงสาวที่มาจากอนาคต อีก 50 ปี ผู้ซึ่งมาบอกเขาว่า เขาคือราชาแห่งกาลเวลา และหนุ่มผู้นี้จะแปลงร่างเป็น Kamen Rider Zi-O ไอ้มดแดงผู้สามารถเดินทางข้ามเวลาไปพบปะกับพวกไอ้มดแดงรุ่นพี่แห่งยุคเฮย์เซย์ ตั้งแต่ Kuuga ยันจนถึง Build ผ่านไทม์แมกชีนของหญิงสาวผู้นี้ และในเมื่อมามุกเดียวกับ Decade เลยทำให้ไอ้มดแดงภาคนี้สามารถแปลงร่างและใช้พลังของไรเดอร์รุ่นพี่จากยุคเฮย์เซย์ได้
ซึ่งทาง Toei ไม่ปล่อยให้ Zi-O ได้สั่งลายุคเฮย์เซย์ แค่ในรูปแบบซีรี่ย์เท่านั้น แต่ยังจัดทำหนังใหญ่ (ตามระเบียบ) ซึ่งเป็นการรวมพลังกันของไอ้มดแดงยุคเฮย์เซย์ทุกตน กับ Kamen Rider 20th Memorial Work: Heisei Generation Forever ที่เพิ่งฉายที่ญี่ปุ่นไปเมื่อ 22 ธ.ค. 2018
แม้ว่าไรเดอร์ซีรี่ย์นี้ ทางผู้สร้างตั้งใจจะให้เป็นการปิดตำนานไอ้มดแดงยุคเฮย์เซย์ทั้งปวง แต่จากการที่ซีรี่ย์ชุดนี้ออกฉายคร่อมไปยังปีรัชสมัยใหม่ของญี่ปุ่น (ซึ่งยังไม่มีการระบุชื่ออย่างเป็นทางการ) ด้วย ก็เลยทำให้ Zi-O จะป็นซีรี่ย์ไอ้มดแดงเรื่องแรกประจำรัชกาลใหม่ของญี่ปุ่น ด้วยเช่นกัน
พี่น้องผองเพื่อน ไอ้มดแดง ยุคเฮย์เซย์
# ภาพรวมร้ายและดีที่เกิดขึ้น ในอุตสาหกรรมมังงะ-อนิเมญี่ปุ่น 2018
มาถึงเรื่องราวของวงการอนิเมญี่ปุ่นในรอบปี 2018 นั้น ยังคงไม่ต่างจากปีก่อนๆนัก นั่นคือ พวกเขายังคงต้องเผชิญวิกฤติรอบด้าน ในเรื่องของรายได้ , กำไร ที่สนพ. กับ สตูดิโอ ได้รับ การต่อสู้กับปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์อันเรื้อรังมานาน รวมถึง ความพยายามในการแก้ไขปัญหาสภาพการทำงาน-ความเป็นอยู่ของคนในวงการ
นิตยสารการ์ตูน-สตูดิโออนิเม ล้มหายตายจาก , ปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่
ในรอบปี 2018 นี้ มีนิตยสารการ์ตูนจำนวนหนึ่ง ได้ประกาศปิดตัวลง โดยมีรายงานจาก Sankei News ว่า มีนิตยสารการ์ตูน จำนวนถึง 12 หัว ได้หยุดตีพิมพ์ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2018 โดยเหตุผลหลักๆที่ปิดตัวลง ก็มาจากยอดขายหนังสือที่ลดลง รวมถึง ความนิยมของสมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นช่องทางใหม่ในการอ่านการ์ตูน ที่สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยนิตยสารการ์ตูนที่ปิดตัวลงในปีนี้ ประกอบด้วย Manga Time Jumbo , Manga Time Family , Aria , Bessatsu Hana to Yume , Young Animal Arashi , YOU , Comic Birz เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ก็มีนิตยสารบางเจ้า ที่ได้ปรับตัวไปตามเทคโนโลยีสมัยใหม่ ด้วยการริเริ่มจัดทำในรูปแบบออนไลน์ หรือ ดิจิตอล อาทิเช่น Comic Ryu , Manga Time Kirara, Manga Time Kirara Carat, Manga Time Kirara Max รวมถึง Animage นิตยสารข่าวสารอนิเมที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น ตัดสินใจผลิตนิตยสารในรูปแบบดิจิตอลเป็นครั้งแรก
อย่าว่าแต่ นิตยสารการ์ตูนจะเจอสถานการณ์ย่ำแย่แล้ว สตูดิโอผู้ผลิตอนิเม ก็อ่วมหนักเช่นกัน โดยเฉพาะกับสตูดิโอที่ไม่สามารถจะปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันได้ ในปีนี้ ก็มีสตูดิโออนิเมต้องล้มหายตายจากไป ประกอบด้วย Production IMS และ amo ขณะที่ สตูดิโอ Fukushima Gainax ก็กลายเป็นอดีตสตูดิโออนิเมในสังกัดของ Gainax จากการที่พวกเขาถูกควบกิจการโดยกลุ่มบริษัท Kinoshita Group พร้อมกับรีแบรนด์ใหม่ ในชื่อของ Studio Gaina
การปรับเปลี่ยนของ Shonen Jump ฉบับอเมริกา
ทางฝั่งสนพ.Shueisha ผู้ผลิตนิตยสารการ์ตูนอันดับ 1 ในญี่ปุ่น อย่าง Shonen Jump ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของ Shonen Jump เวอร์ชั่นฉบับภาษาอังกฤษ (ที่สนพ. Viz Media ของสหรัฐ ได้รับสิทธิ์ตีพิมพ์-เผยแพร่ในอนิเมริกาเหนือ รูปแบบดิจิตอล) เสียใหม่ ให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ ที่จะให้แฟนๆได้สนับสนุนผลงานการ์ตูนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย นั่นคือ Jump เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ จะเผยแพร่มังงะซีรี่ย์ในเล่มตอนใหม่ล่าสุด ให้แฟนๆฝั่งตะวันตก ได้อ่านพร้อมกันกับคนญี่ปุ่น ในวันเดียวกัน ทั้งบนแอพ และ เว็บไซต์หลักของ Jump ที่สำคัญ แฟนสามารถอ่านได้ฟรี เฉพาะ 3 ตอนแรก และ 3 ตอนใหม่ล่าสุด ของแต่ละเรื่อง รวมถึง ยังมีการคิดค่าสมาชิกรายเดือน จำนวนเพียง 1.99 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับนักอ่านผู้ที่ต้องการอ่านมังงะตอนใหม่ล่าสุด รวมถึง ตอนเก่าๆย้อนหลังทุกตอนของมังงะเรื่องนั้นๆได้ รวมถึง ซีรี่ย์การ์ตูนเรื่องอื่นๆของ Viz Media ที่ไม่เคยลงใน Shonen Jump ฉบับภาษาอังกฤษ มาก่อน
การไฝ้วกับปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์
ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ จัดเป็นประเด็นใหญ่ ที่บรรดาผู้สร้าง , สนพ. รวมถึงรัฐบาลญี่ปุ่น ต่างสู่รบปรบมือกันมาอย่างยาวนาน ไม่มีทีท่าว่าจะหมดลงเสียที ซึ่งในปีสุนัขนี้ จัดเป็นปีที่รัฐบาลญี่ปุ่นเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหานี้เอามากๆ เริ่มต้นจากการร้องขอให้ผู้บริการอินเตอร์เน็ตเจ้าต่างๆ ในญี่ปุ่น ดำเนินการบล็อคเว็บที่เนื้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งวิธีดังกล่าว ก็ถูกนักกฎหมายออกมาค้าน โดยมองว่า สิ่งที่รัฐบาลทำ ถือเป็นการละเมิด พรบ.การประกอบธุรกิจโทรคมนาคม รวมถึง ยังเป็นการละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่ว่าด้วยสิทธิด้านการคมนาคมส่วนบุคคล อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่นยังไม่ยอมแพ้แต่เพียงเท่านี้ ด้วยการวางมาตรการที่จะแบนเว็บไซต์ประเภท leech sites ที่คอยเผยแพร่ลิงค์ หรือ เชื่อมโยงลิงค์ไปยังไฟล์ละเมิดลิขสิทธิ์ต่างๆ เท่านั้นไม่พอ พวกเขาเตรียมแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิใหม่ ที่จะมุ่งเป้าเล่นงานเว็บไซต์ประเภทดังกล่าว แล้วก็ หามาตรการลงโทษคนที่กระทำการดาวน์โหลดมังงะ , นิตยสาร , นิยาย , บทความ และ ภาพถ่ายจากอินเตอร์เน็ต ที่มีการอัพโลดอย่างผิดกฎหมายด้วย
ในส่วนของสนพ.การ์ตูน ได้มีการจัดแคมเปญประกาศจุดยืนต่อต้านละเมิดลิขสิทธิ์อย่างต่อเนื่อง ทว่า สนพ.Shogakukan กลับต้องเจอกับเรื่องหัวร้อนต่อเนื่อง เมื่อพบว่า มีคนนำผลงานมังงะของพวกเขาไปจัดทำในรูปแบบการสปอยบน Youtube ที่ตัดเอาคำพูดจากมังงะ มาใส่ไว้ในคลิป โดยไม่ได้รับอนุญาต
ในส่วนผู้สร้างสรรค์ผลงานการ์ตูน แม้พวกเขาจะยังคงสร้างสรรค์ผลงานการ์ตูนต่อไป แต่ด้วยประเด็นดังกล่าว ก็ได้สร้างความเจ็บปวดอย่างลึกๆ ให้กับพวกเขา เพราะมันทำให้พวกเขาต้องสูญเสียรายได้มากขึ้น ซะจนไม่อาจที่จะประกอบอาชีพเขียนการ์ตุนในการหาเลี้ยงชีพตนเองได้อีกต่อไป ซึ่งเคสที่ดังสุดในปีนี้ เห็นจะเป็น Kohske ผู้แต่งมังงะ Gangsta ได้ออกมาเรียกร้องให้หยุดการสแกน-เผยแพร่ผลงานของเธอ โดยไม่ได้รับอนุญาต พร้อมบอกอีกว่า เธอจะหยุดเขียนการ์ตูนทันที!!!! หากรายได้จากงานเขียนการ์ตูนไม่เพียงพอ
ทางออกสู่ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนในวงการ
ภาพจาก wsj.com
เรื่องสภาพความเป็นอยู่ของอนิเมเตอร์ญี่ปุ่น จัดเป็นปัญหาหนึ่งที่วงการอนิเมญี่ปุ่นกำลังประสบอยู่ในขณะนี้ ซึ่งหลักๆก็มาจากการที่อนิเตอร์ญี่ปุ่น ได้รับค่าจ้างน้อย มีชั่วโมงการทำงานมากเกินไป ซะจนมีเวลาพักผ่อนแค่เพียงเล็กน้อย ซึ่งขณะนี้ก็มีคนในวงการพยายามที่จะช่วยแก้ไขปัญหา หาทางออกเกี่ยวกับเรื่องนี้ ตั้งแต่ การเสนอระบบผลิตอนิเมชั่นแบบใหม่ อาทิ ระบบพาร์ทเนอร์ ที่ Yoshitada Fukuhara โปรดิวเซอร์จากสตูดิโอ Yaoyorozu มองว่าการคืนเงินกลับสู่ สตูดิโอ อนิเมเตอร์ อย่างแท้จริง เมื่อเทียบกับ ระบบคณะกรรมการร่วมผลิต (Production Committee) ระบบที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ซึ่งกำลังได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากคนในวงการว่า เป็นระบบที่สตูดิโอ และ อนิเมเตอร์ ไม่ได้รับรายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยนัก
ส่วนการแก้ปัญหาทางออกอื่นๆของคนในวงการ ก็มี การจัดทำโปรเจ็คหอพักอนิเมเตอร์ รวมถึง การสรรหาเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ AI มาการช่วยผลิตอนิเม (แต่ก็แลกกับความเสี่ยงที่อนิเมเตอร์ อาจตกงานมากขึ้น เช่นกัน)
ในส่วนของวงการมังงะ ก็มีปัญหาทำนองนี้เหมือนกัน กับประเด็นที่เกิดขึ้นกับ อ.Shunsuke Kakuishi นักเขียนการ์ตูนเจ้าของผลงานเรื่อง Yawara no Michelangelo ได้ออกมาเปิดเผยว่า เขาไม่ได้รับค่าจ้างล่วงเวลาใดๆ ในสมัยที่เขาทำงานเป็นผู้ช่วยนักเขียนการ์ตูน ให้กับ อ. Norifusa Mita (Investor Z, Dragon Zakura) มาเป็นเวลาถึง 11 ปี 7 เดือน !!! ซึ่งขัดกับสิ่งที่ อ. Mita เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสภาพการทำงานของผู้ช่วยของเขา กับ Yahoo! News Japan อย่างไรก็ตาม ดราม่านี้ จบลงด้วยดี เมื่อ อ. Mita ยอมจ่ายค่าจ้างล่วงเวลาให้กับ อ.Kakuishi ทั้งหมด
จากข้างต้น แม้ว่า วงการอนิเมญี่ปุ่น จะพบเจอกับปัญหาเรื้อรังหลายด้าน ถึงกระนั้น อุตสาหกรรมอนิเมของพวกเขากลับสูงขึ้น โดยทำรายได้สูงสุดเป็นประวัติกาล ที่ 2 แสนล้านเยน จากรายงานของ Teikoku Databank เช่นเดียวกับ มูลค่าทางการตลาดของอนิเมญี่ปุ่น ก็เพิ่มสูงขึ้นถึง 2.1527 ล้านล้านเยน จากการรายงานของสมาคมอนิเมชั่นญี่ปุ่น (AJA) โดยมูลเหตุที่ทำให้ตลาดอนิเมญี่ปุ่นเติบโตขึ้น หลักๆก็มาจาก รายได้ลิขสิทธิ์ต่างประเทศ แล้วก็ รายได้จากการสตรีมมิ่ง ที่เพิ่มสูงขึ้น นั่นเอง
# วงการการ์ตูนญี่ปุ่น - อเมริกา เศร้าไปด้วยกัน : Isao Takahata , Momoko Sakura และ Stan Lee จากไปไม่มีวันกลับ
ในปี 2018 ที่ผ่านมา ได้มีคนวงการการ์ตูนอนิเมได้จากโลกนี้ไป ด้วยสังขาร โรคร้าย หรือ อุบัติเหตุ เพียงแต่ในปีนี้ ทั้งวงการการ์ตูนญี่ปุ่น กับ อเมริกัน กลับต้องสูญเสียบุคคลสำคัญที่ถือว่าเป็นเบอร์ใหญ่อันดับต้นๆ ของวงการการ์ตูนแต่ละฟากฝั่ง
เริ่มจากฝั่งญี่ปุ่น คออนิเมได้เศร้าต้อนรับสงกรานต์ (ก่อน Golden Week ญี่ปุ่น) ไปกับการจากไปของ Isao Takahata หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Studio Ghibli และ เป็นยอดผกก.อนิเมที่ได้รับการยอดรับจากผู้คนทั่วโลก จากผลงานการกำกับหนังอนิเม เช่น Grave of the Fireflies (สุสานหิ่งห้อย), Only Yesterday, Pom Poko, My Neighbors the Yamadas และ The Tale of Princess Kaguya ซึ่งถือเป็นผลงานการกำกับเรื่องสุดท้ายในชีวิตของเขา ...ซึ่งภายหลังจากที่ Takahata เสียชีวิต บรรดาอดีตลูกหม้อของ Ghibli นำโดย Yoshiaki Nishimura , Hiromasa Yonebayashi (When Marnie Was There) ได้ประกาสทำโปรเจ็คหนังอนิเมสั้นชุด Modest Heroes (Chiisana Eiyū: Kani to Tamago to Tōmei Ningen) ขึ้น เพื่อเป็นการอุทิศให้แก่ Takahata
ไม่เพียงเท่านั้น วงการมังงะญี่ปุ่น ยังได้สูญเสียนักเขียนคนดัง อย่าง Momoko Sakura ผู้แต่ง Chibi Maruko-chan มังงะ-อนิเมขวัญใจเด็กๆ และ คนทุกเพศทุกวัย และการจากไปของเธอ ทางนิตยสาร Ribon ซึ่งเป็นต้นสังกัดของมังงะ Maruko-chan ได้ร่วมไว้อาลัย อ.Sakura ด้วยการแถมหนังสือบุ๊คเล็ตจัดทำพิเศษของ Maruko-chan แถมมากับนิตยสาร Ribbon รวมถึง มีการจัดพิมพ์ ฉบับมังงะรวมเล่มที่ 17 ของ Maruko ซึ่งเป็นเล่มสุดท้ายของเรื่องนี้ แล้วก็ จัดพิมพ์ผลงานอื่นๆของ อ.Sakurai แบบใหม่ด้วยเช่นกัน
ขณะที่ ทางฝั่งตะวันตก ทั่วโลกต่างก็โศกเศร้าเสียใจไปกับการจากไปของ Stan Lee นักเขียน-บรรณาธิการ และ ผู้จัดพิมพ์ ระดับตำนานของ Marvel Comics และเป็นผู้สร้างสรรค์ให้กำเนิดการ์ตูนคอมิคส์แนวซูเปอร์ฮีโร่ ตระกูล Marvel หลากหลายเรื่อง อาทิ Black Panther, Spider-Man, the X-Men, the Mighty Thor, Iron Man, the Fantastic Four, the Incredible Hulk, Daredevil และ Ant-Man เป็นต้น ซึ่งผลงานการสร้างสรรค์ของ Lee นั้น ได้รับการต่อยอดในหลากหลายเวอร์ชั่น ทั้ง การ์ตูนทีวี แล้วก็ หนังคนแสดง ซึ้ง Lee นั้น ได้ปรากฏตัวในหนังคนแสดงดัดแปลงจากผลงานการ์ตูนฮีโร่ของเขาเป็นจำนวนหลายเรื่องด้วยกัน
ไม่เพียงเท่านั้น Lee ได้มีส่วนร่วมกับผลงานการ์ตูน อนิเมญี่ปุ่น จำนวนหนึ่ง ทั้ง มีส่วนร่วมในฐานผู้แต่งเรื่อง Karakuri Dôji Ultimo (Ultimo) ที่ได้ Hiroyuki Takei (Shaman King) เป็นผู้วาด , มีส่วนร่วมในการแต่งเรื่องให้กับอนิเมซีรี่ย์ Heroman ของ Studio Bones รวมถึง ผลงาน Spider Man ของเขา ก็เคยถูกดัดแปลงเป็นซีรี่ย์แปรงร่าง-หุ่นยนต์ยักษ์ แนว Tokusatsu ของญี่ปุ่น อีกด้วย
อาลัยคนวงการการ์ตูน-อนิเม ผู้จากไป ในปี 2018
- Susumu Kubo ผู้ก่อตั้งและประธาน Aoni Productions บริษัทเอเจนซี่ดูแลศิลปินญี่ปุ่น
- Hiroki Takagi อนิเมเตอร์จาก Patlabor, Yamato 2202
- Yoshihiro Kuroiwa ผู้วาดมังงะ Kishin Dōji Zenki หรือ เทพอสูร Zenki
- Hideki Saijo นักร้องและนักพากย์หนุ่มรุ่นใหญ่ เป็นที่รู้จักจากผลงานเพลง "Turn A Turn" เพลงเปิดจากอนิเม Turn A Gundam อีกทั้ง เขายังมีผลงานการพากย์เสียงให้กับอนิเมเก่าๆหลายเรื่อง รวมถึง ได้ร่วมปรากฏตัวในอนิเม Maruko-chan จำนวนหลายตอน แถมยังเป็นผู้ขับร้องเพลง Hashire Shōjiki Mono เพลงจบเพลงที่ 2 จากอนิเมซีรี่ย์ชุดแรกของเรื่องนี้ด้วย
- Shigeru Tsuchiyama ผู้แต่งมังงะแนวทำอาหาร , กินแหลก อย่าง ซูเปอร์กุ๊ก กระตุกต่อมอร่อย กับ ยุทธภูมิกระเพาะเหล็ก ซึ่งผลงานการ์ตูนเรื่อง Gokudō Meshi ของเขา ก็ได้รับการดัดแปลงเป็นละครทีวี หลังจากที่เขาเสียชีวิตได้ไม่นาน
- Shoji Mizuno คนออกแบบตัวละคร Bomberman , Beyblade
- Daichi Nobe นักแสดงสตันท์จาก Kamen Rider Ex-Aid, Kamen Rider Build, และ Uchū Sentai Kyūranger
- Takao Asaga โปรดิวเซอร์ผู้อยู่เบื้องหลัง อนิเม , ภาพยนตร์ และ ซีรี่ย์แนวฮีโร่แปลงร่าง Tokusatsu หลายต่อหลายเรื่อง
- Unshou Ishizuka นักพากย์หนุ่มใหญ่ เจ้าของเสียงพากย์ Mr. Satan จาก Dragon Ball , Professor Oak จาก Pokemon และเป็นผู้บรรยายให้กับ Pokemon ฉบับอนิเม
- Kunihiro Abe อนิเมเตอร์สาย Mecha จากซีรี่ย์ Gundam
- Miyoko Asou นักพากย์รุ่นคุณย่า ผู้พากย์เสียงเป็น Fune Isono จาก Sazae-san , Cologne จาก the Ranma ½ , Pinako Rockbell จาก Fullmetal Alchemist เป็นต้น
- Keiichiro Kimura ผกก.อนิเมชั่น และ คนออกแบบตัวละคร จากอนิเม หน้ากากเสือ , Cyborg 009
- Yuu Asagiri นักเขียนการ์ตูนแนวโชโจ เจ้าของผลงานการ์ตูนผู้หญิงตาหวาน เรื่องดังหลากหลายเรื่องในอดีต เช่น ที่ Nanairo Magic หรือ มายาสีรุ้ง และ Kon na Panic หรือ จิงจอกสาวแสนกล เป็นต้น
- Akira Miyazaki คนเขียนบท อนิเมซีรี่ย์ World Masterpiece Theater อนิเมซีรี่ย์ที่ดัดแปลงมาจากวรรณกรรมเด็กของฝั่งตะวันตกหลากหลายเรื่อง
- Yū Yamamoto คนเขียนบทอนิเม Gundam ภาคแรก
- Kunio Nagatani หนึ่งในนักเขียนการ์ตูนผู้สร้างตำนาน "หอพัก Tokiwa" ร่วมกับ อ.Shoutarou Ishimori , Fujio (A) Fujiko และ อ.Fujio Akatsuka และเป็นผู้แต่งมังงะเรื่อง Kamasutra ร่วมกับ อ. Go Nagai (Mazinger Z , Cutie Honey , Devilman)
- Ursula K. Le Guin ผู้แต่งนิยายต้นฉบับหนังอนิเม Tales from Earthsea
- Steve Ditko นักเขียนคอมิค ผู้ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับ Stan Lee และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมให้กำเนิด Spider-Man และ Marvel Hero คนอื่นๆ
- Gary Friedrich ศิลปินคอมิค หนึ่งในผู้ร่วมให้กำเนิดซูเปอร์ฮีโร่ Ghost Rider
- Marie Severin ศิลปินด้านโปรดักชั่น กับ นักลงสี ให้กับการ์ตูนหลายเรื่องของ Marvel
- Mario Segale นักธุรกิจชาวอเมริกัน ผู้เป็นต้นแบบชื่อของ Mario จากเกม Super Mario
- John Rogers ประธานของ Comic-Con International ผู้จัดงาน Comic-Con International: San Diego หรือ San Diego Comic Con งานอีเว้นต์การ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่ งานใหญ่ที่สุดของอเมริกา
- Stephen Hillenburg อนิเมเตอร์ , คนเขียนบท , ผู้กำกับ และผู้ให้กำเนิดตัวการ์ตูนฟองน้ำสีเหลืองจอมกวน SpongeBob SquarePants
- สุพล เมนาคม หรือ ต้อม ขายหัวเราะ มหาสนุก นักเขียนการ์ตูนรุ่นเดอะ ที่อยู่คู่กับขายหัวเราะและมหาสนุก มาอย่างยาวนาน มีสไตล์การวาดภาพตัวการ์ตูนรูปร่างป้อมๆ อันเป็นเอกลักษณ์ และเป็นผู้ให้กำเนิด "วัลลภ" ตัวการ์ตูนไก่ย่างจอมกวน ที่นักอ่านหลายต่อหลายคน จดจำได้เป็นอย่างดี อีกทั้ง เขายังรับหน้าที่ออกแบบปกของ "มหาสนุก" จำนวนหลายฉบับด้วยกัน
- ณรงค์ ประภาสะโนบล หรือ รงค์ นักเขียนการ์ตูนไทย ผู้ให้กำเนิด ชัยพฤกษ์การ์ตูน นิตยสารสำหรับเยาวชน ของสนพ.ไทยวัฒนาพาณิชย์ วางแผงเมื่อปี พ.ศ. 2513 (ปัจจุบันไม่มีการตีพิมพ์แล้ว) รวมถึงให้กำเนิดตัวการ์ตูนจำนวนหนึ่ง อย่าง ทาร์ซาน , เจ้าจุ่น ,หนูเหวน , เจ้าแพะ , เจ้าเปีย , ลุงกำนัน ,ท่านขุน เป็นต้น
นี่คือเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นในวงการการ์ตูนตลอดปี 2018 ในปีกุน หรือ ปีหมู ที่กำลังจะมาถึง วงการการ์ตูนจะก้าวไปในทิศทางไหนกัน ก็ต้องติดตามข่าวคราวกันต่อไปครับ ซึ่งเราก็ขอให้ทุกคนจงมีแต่ความสุข ความโชคดี จะทำอะไรขอให้ปลอดอุปสรรคทั้งปวง ตลอดปีพ.ศ. ๒๕๖๒ และขอให้การเมืองบ้านเราในปีหน้า ถึงคราสงบ และจดจำบทเรียนเก่าๆที่เคยเกิดขึ้น มาแก้ไขเพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม !!!!!!!!!!!............(ยังมีต่อตอนที่ 2 เน้อ)
|