ปี 2019 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป จัดเป็นปีที่มีหลากหลายอารมณ์กัน นับตั้งแต่พิธีราชาภิเศกที่เกิดขึ้นในบ้านเราในรอบหลายปี ไล่ๆกันกับ การเปลี่ยนแปลงรัชสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น อีกทั้ง ยังเป็นปีที่หลายต่อหลายคนมีโอกาสได้ใช้สิทธิ์ใช้เสียงเลือกตั้งกัน แต่จนแล้วจนรอด บรรยากาศการเมืองของเรา ดูจะอลเวงไม่แตกต่างไปจากเดิม เพราะต่างฝ่ายต่างคิดแต่จะเอาชนะ เจ้าคิดเจ้าแค้นกัน มากกว่าจะหารือกันในทางสร้างสรรค์ เกี่ยวกับปัญหาปากท้อง คุณภาพชีวิต ของปชช. ที่ยังคาราคาซัง ไม่ได้รับการแก้ไขเท่าที่ควร ตามที่เคยให้สัญญาไว้เมื่อตอนหาเสียง และมีแนวโน้มว่า อาจเกิดการเล่นเกมการเมืองบนท้องถนนกันอีกครั้ง ชนิดที่ไม่เคยหลาบจำกับบทเรียนที่แล้วมา
ในส่วนของข่าวคราวในวงการการ์ตูน รอบปี 2019 ก็มีเรื่องราวต่างๆเกิดขึ้นหลายอย่าง ก็เลยถือโอกาสขอเก็บรวบรวมเรื่องราวที่เกิดขึ้น ในวงการการ์ตูนประจำปี 2019 มาสรุปกันให้ได้รับทราบพอสังเขป ซึ่งในตอนนี้ จะเป็นการสรุปข่าวและเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในวงการการ์ตูนตลอดทั้งปี 2019
ส่วนอีก 2 ตอนที่เหลือ จะเป็นการสรุป LC กับข่าวคราว สนพ.การ์ตูนบ้านเราในรอบปี และ เรื่องราวเกี่ยวกับ หนังอนิเม , คนแสดง และอนิเมฟรีทีวี ในรอบปี 2019 ของบ้านเรา ครับ
เรื่องราวจะเป็นอย่างไรนั้น เราไปทบทวนกันเลยครับ!!!
สำนักข่าว K-D News (kartoon-discovery.com)
สามารถอัพเดทข่าวสารเว็บเราได้ผ่าน Twitter และ Facebook
หากนำข่าวจากเราไปเผยแพร่ที่อื่น รบกวนใส่เครดิตให้กับทางเราด้วยครับ ขอบคุณครับ
เหตุการณ์ ปรากฏการณ์ ข่าวสำคัญ วงการการ์ตูนประจำปี 2562
# สุดสะเทือนใจแห่งปี : โศกนาฏกรรมลอบวางเพลิงสตูดิโอ Kyoto Animation
คงไม่อาจปฏิเสธไม่ได้ว่า เหตุการณ์ลอบวางเพลิงที่เกิดขึ้นกับสตูดิโออนิเม Kyoto Animation / KyoAni จะเป็นข่าวใหญ่ที่สร้างความช็อค ความโศกเศร้าสะเทือนใจ ให้แก่คอการ์ตูนทั่วโลก ประจำปีหมูนี้ และนับเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ครั้งนึงในประวัติศาสตร์ของวงการอนิเมญี่ปุ่น จากการที่สตูดิโออนิเม ผู้สร้างผลงานอนิเมเรื่องเยี่ยม เป็นที่ชื่นชอบของใครหลายคน อาทิ Suzumiya Haruhi , Lucky Star , K-On! , Free , Sound Euphonium เป็นต้น กลับถูกเปลวไฟแผดเผาสร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ด้วยน้ำมือของผู้ไม่หวังดี
ย้อนกลับไปเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 18 ก.ค. 2019 อาคารสตูดิโอ 1 ของ KyoAni ซึ่งเป็นสตูดิโอสำคัญในการผลิตผลงานอนิเมชั่นของพวกเขา ได้มีชายลึกลับคนหนึ่ง ได้บุกเข้าไปยังอาคารดังกล่าว พร้อมกับ ตะโกนลั่นอย่างบ้าคลั่ง แล้วก็ราดน้ำมันเบนซิน-จุดไฟเผาอาคารนั้น จนอาคารเกิดเพลิงลุกไหม้อย่างรุนแรง สร้างความหวาดกลัวให้แก่ผู้คนในอาคาร จนพากันแตกตื่นหนีตายกันอย่างจ้าล่ะหวั่น จนกระทั่ง จนท.ดับเพลิง พร้อมกับรถดับเพลิง 30 คัน ได้ระดมช่วยกันดับเพลิงยาวนานถึง 5 ชั่วโมง จนสามารถควบคุมเพลิงบนอาคารไว้ได้ ก่อนที่ตัวอาคารจะไร้ซึ่งควันไฟอย่างสมบูรณ์ ในวันรุ่งขึ้น
จากเหตุการณ์ข้างต้น มีผู้เสียชีวิตมากมายถึง 36 คน และบาดเจ็บอีก 33 คน และหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว KyoAni ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากบริษัทต่างๆที่เกี่ยวข้องกับวงการอนิเม รวมถึง แฟนๆอนิเมทั่วโลก ที่คอยส่งกำลังใจให้ ไม่เพียงเท่านั้น จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ได้เกิดผลกระทบต่างๆต่อสตูดิโอแห่งนี้ ตามมาอีกนับไม่ถ้วน ซึ่งสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ในบทความพิเศษของเรา ที่ได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้ !!!!!
..........ซึ่งขอเป็นกำลังใจให้แก่ทีมงานของ KyoAni ให้ผ่านพ้นวิกฤตที่เกิดขึ้น จนสามารถกลับมาลุกขึ้นสู้ใหม่ และสร้างสรรค์ผลงานอนิเมเรื่องเยี่ยม อบอุ่น จรรโลงจิตใจ ให้แฟนๆอนิเมทั่วโลกได้สัมผัสกัน อีกครั้ง ....
# Kimetsu no Yaiba : จับดาบฟาดฟัน กระหน่ำความปังสะเทือนวงการ!!!
หากจะเอ่ยถึงการ์ตูน-อนิเมที่มาแรงที่สุดในรอบปี 2019 นี้ เชื่อว่า ใครต่อใคร คงจะตอบเป็นเสียงเดียวกัน อย่างเป็นเอกฉันท์ว่า Kimetsu no Yaiba หรือ ดาบพิฆาตอสูร ผลงานการ์ตูนแอ็คชั่นกำราบอสูรร้ายสุดดาร์กของ อ.Koyoharu Gotouge จะเป็นซีรี่ย์การ์ตูนสุดปังประจำปีหมูทองนี้ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากฉบับอนิเมทีวีของเรื่องนี้ ที่จัดทำโดยสตูดิโอ ufotable ที่ออกอากาศไปเมื่อ เม.ย. 2019 (อย่างไรก็ตาม 5 ตอนแรกของเรื่องนี้ เคยออกฉายบนโรงภาพยนตร์ เป็นการโหมโรง ก่อนจะฉายบนจอทีวี) ซึ่งสตูดิโอแห่งนี้ได้จัดทำฉบับอนิเมของเรื่องนี้ได้อย่างสวยงาม น่ารัก น่าลุ้น จนทำเอาหลายคนพากันติดใจ (โดยเฉพาะกับตอนที่ 19 ที่สร้างกระแส Talk of the Town ไปทั่ว) นำไปสู่การตามซื้อมังงะต้นฉบับของเรื่องนี้มาสะสมกัน ซึ่งก็ส่งผลทำให้มังงะต้นฉบับมียอดขายที่เพิ่มมากขึ้น ซะจนพาเหรดกันติด Top 10 มังงะขายดีที่ญี่ปุ่นประจำสัปดาห์ของ Oricon มากกว่า 1 เล่ม ในช่วงปลายปี และยังทำให้เรื่องนี้มียอดตีพิมพ์เพิ่มสูงมากขึ้นเป็นลำดับ จาก 6 ล้านเล่ม ในเดือน พ.ค. 2019 กลายเป็น 25 ล้านเล่ม ในเดือน ธ.ค. 2019 ในที่สุด ...และยังทำให้มังงะรวมเล่มที่ 18 ของเรื่องนี้ กลายเป็น ฉบับรวมเล่มแรกที่มียอดตีพิมพ์ครั้งแรกถึง 1 ล้านเล่ม ตามรอย One Piece , Kuroko no Basket และ Assassination Classroom ที่มียอดตีพิมพ์ครั้งแรกถึง 1 ล้านเล่ม มาก่อนหน้านี้
และจากยอดตีพิมพ์และยอดขายฉบับมังงะที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลทำให้นักปราบอสูรและชาวคณะเสาหลัก สามารถสร้างประวัติศาสตร์อันสุดแสนน่าทึ่ง ในวงการมังงะญี่ปุ่น ด้วยการเป็นซีรี่ย์มังงะเรื่องแรก ที่สามารถหยุดสถิติการครองแชมป์ซีรี่ย์มังงะขายดีประจำปีในญี่ปุ่นของ One Piece ลงได้สำเร็จ ในปี 2019 นี้!!! หลังจาก One Piece ผูกขาดซีรี่ย์มังงะขายดี อันดับ 1 ในญี่ปุ่น ของ Oricon มาโดยตลอด ตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา (ปีแรกที่ Oricon ได้รวบรวมอันดับยอดขายมังงะในญี่ปุ่น) ไม่เพียงเท่านั้น ยังส่งผลทำให้ฉบับนิยาย Spin-Off ของเรื่องนี้ 2 ชุด มียอดตีพิมพ์ทะลุรวมถึง 7 แสนเล่ม ด้วยเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ กลับทำยอดขายเป็นอันดับ 2 ของสนพ. Shueisha เป็นรอง One Piece เพียงเรื่องเดียวเท่านั้น.......... ซึ่งปรากฏการณ์ยอดขายอันน่ามหัศจรรย์ของเรื่องนี้เอง ก็นำไปสู่ดราม่าเล็กๆ ระหว่างเหล่าแฟนคลับของ Yaiba กับ One Piece ที่พากันเกทับบลัฟแหลกกันไปมาบนโซเชียล!!
จากกระแสความแรงของ Yaiba นี้เอง ส่งผลให้มีแฟนๆหลายต่อหลายคน นิยมหยิบเอาเรื่องนี้ไปล้อเลียนในรูปแบบต่างๆ รวมถึงกลายเป็นการ์ตูนที่เหล่าคอสเพลเยอร์ นิยมคอสมากที่สุด เรื่องนึงในปีนี้ แล้วก็ คีย์เวิร์ดที่สื่อถึงมังงะ-อนิเมเรื่องนี้ ต่างติดอันดับ คำค้นหายอดฮิตประจำปี 2019 ของ Yahoo! Japan แล้วก็ Google ของญี่ปุ่น ไม่เพียงเท่านั้น ยังทำให้เพลงเปิดของอนิเมเรื่องนี้อย่าง "Gurenge" (Red Lotus) ที่ขับร้องโดย LiSA กลายเป็นเพลงอนิเมสุดฮิตอีกเพลงหนึ่งของปี 2019 จนสามารถคว้าใบรับรองชนิด platinum จากสมาคมแผ่นเสียงญี่ปุ่น รวมถึงเพลงอนิเมที่มียอดดาวโหลดสูงที่สุดในปี 2019 ของ Mora ด้วย.....ซึ่งก็ส่งผลทำให้ LiSA จะได้เข้าร่วมคอนเสิร์ต Kohaku Uta Gassen หรือ คอนเสิร์ตประชันเพลง ขาว-แดง เป็นครั้งแรกอีกด้วย (ซึ่งเธอก็ไม่พลาดที่จะขับร้องเพลง Gurenge บนเวทีขาวแดง)
จากข้างต้น คงจะมีแฟนๆจำนวนหนึ่ง ตั้งข้อสงสัยว่า เรื่องนี้มีเสน่ห์ยังไง ที่สามารถครองใจคอการ์ตูน จนสถาปนาตัวเองให้กลายเป็นเรื่องฮิตติดลมบนอีก 1 เรื่อง ใน พ.ศ. นี้.... ซึ่งสำหรับใครที่เคยสัมผัสกับฉบับมังงะต้นฉบับของเรื่องนี้ ก็จะพบว่า เรื่องนี้ มีลักษณะเหมือนกับการ์ตูนแนวต่อสู้สายหลักทั่วไป ที่พระเอกต้องออกมาต่อสู้เพื่อเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่ง เห็นได้จากเรื่องนี้ ที่ Tanjiro ตัวเอกของเรื่อง ตัดสินใจฝึกฝนตนเองเป็นนักพิฆาตอสูร เพื่อช่วยเหลือ Nezuko น้องสาวสุดรักของเขา ที่ถูกสาปให้กลายเป็นอสูร โดยเขาได้ร่วมมือกับพวกพ้องนักพิฆาตอสูร และ 'เสาหลัก' นักดาบระดับสูงที่สุดของเหล่านักพิฆาตอสูร ในการงัดพลัง 'ปราณ' อันหลากหลายสายพลัง กับ หลายรูปแบบ ในการเข้าสู้กับกองทัพอสูร ที่มี Muzan เป็นผู้นำ....เพียงแต่เรื่องนี้ เป็นแนวสายหลักที่ไม่ยัดเยียดเรื่องพลังมิตรภาพมากมาย รวมถึง ให้อารมณ์ความรู้สึกที่ออกจะไม่ "โลกสวย" นัก จากการที่ ตัวละครในเรื่อง ต่างถูกอสูรอัด จนบาดเจ็บหนัก ไม่ก็ พิการ หรือ ล้มตายกันจนเกลื่อน ไม่เว้นแม้แต่ ตัวละครขวัญใจของนักอ่านด้วย!!!! ถือเป็นการเสริมให้ผู้อ่านได้รู้สึกว่า พวกอสูรในเรื่องนี้ ต่างมีความน่าเกรงขาม มีอิทธิฤทธิ์มากมาย แม้แต่ นักพิฆาตอสูร หรือ เสาหลัก เพียงคนเดียว ไม่สามารถเอาอยู่ได้!!! ต้องช่วยกันต่อสู้หลายคน ถึงจะสามารถล้มมันได้ !!!! (ยังกะพวกขบวนการ 5 สี) ก็ถือว่า เป็นการ์ตูนแนวแอ็คชั่นที่สามารถจับต้องกับความเรียลได้อีกเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ฉบับอนิเมของ Yaiba จะออกอากาศทางทีวีนั้น มังงะของเรื่องนี้ก็มีกระแสพูดถึงกันพอประมาณ แต่ก็มีคอการ์ตูนอยู่หลายคน ที่มองข้ามมังงะต้นฉบับของเรื่องนี้ไป อันเนื่องมาจากลายเส้นที่ดูไม่น่าสนใจเท่าไหร่ ซึ่งงานนี้คงต้องขอบคุณ ufotable เป็นอย่างมาก ที่นำเอามังงะแอ็คชั่นของ อ.Gotouge / อ.เข้ นักเขียนการ์ตูนหญิง ท่านนี้ มาขัดเกลางานภาพให้มีความคมชัดสวยงาม ประกอบกับการนำเสนอเรื่องราวให้มีความน่าสนใจยิ่งขึ้น จนทำให้เหล่านักอ่านที่มองข้ามเรื่องนี้มาโดยตลอด หันกลับมาสนใจเรื่องนี้ไปตามๆกัน จนกลายเป็นซีรี่ย์การ์ตูนที่กลายเป็น"เสาหลัก"ของนิตยสาร Shonen Jump อย่างแท้ทรู ในพ.ศ.นี้!!! ตามด้วยการได้รับการต่อยอดในรูปแบบอื่น อาทิ ละครเวที รวมถึง การจัดทำในรูปแบบหนังอนิเม ที่จะดัดแปลงเรื่องราวจากบทขบวนรถไฟอสูร ของมังงะต้นฉบับ ซึ่งเป็นบทแจ้งเกิดเพิ่มเรตติ้งให้แก่มังงะเรื่องนี้
......แต่ถึงกระนั้น ก็ขอเตือนไว้ก่อนว่า เรื่องความนิยมชมชอบ เป็นเรื่องนานาจิตตัง ซึ่งเรื่องนี้ อาจไม่สามารถไปด้วยกันได้ กับนักอ่าน หรือ ผู้ชม บางคน ด้วยเช่นกัน............
# ปรากฏการณ์ วัฒนธรรมไทยฮาเฮ ในผลงานการ์ตูนของ Disney
ช่วงกลางปี 2019 Disney ได้สร้างความฮือฮาให้แก่บรรดาคอการ์ตูนบ้านเรา ด้วยการเปิดตัว Amphibia ซีรี่ย์อนิเมชั่นทางทีวีเรื่องใหม่ ที่นำเสนอเรื่องราวความหรรษาเฮฮา ระหว่าง Anne Boonchuy (แอน บุญช่วย) สาวน้อยเชื้อสายไทย-อเมริกัน!! กับ เหล่ามนุษย์กบตัวน้อยแห่งโลก Amphibia ซึ่งเรื่องนี้ได้รับการกล่าวขวัญเป็นอย่างมากในบ้านเรา จากการที่ Anne ตัวละครเอกของอนิเมชั่นเรื่องนี้ เป็นตัวละครสายเลือดไทยคนแรก ที่ได้ปรากฎตัวในผลงานอนิเมชั่นของ Disney !!! (ดีไม่ดี เป็นตัวละครสายเลือดไทยคนแรก ที่ปรากฏในอนิเมชั่นฝรั่ง เรื่องใดๆ อีกด้วย) ซึ่งตัวละครดังกล่าวได้ให้เสียงพากย์โดย Brenda Song นักแสดงสาวชาวอเมริกัน เชื้อสายไทย-ม้ง และได้นำเสนอวัฒนธรรมไทยแขนงต่างๆ ทั้งการทักทาย แล้วก็ อาหารไทย ผ่านอนิเมชั่นดังกล่าว ซึ่งได้สร้างความปลาบปลื้มใจให้แก่คอการ์ตูนบ้านเรายิ่งนัก ก่อนที่ทาง True Visions จะนำอนิเมชั่นเรื่องนี้ ฉายแบบพากย์เสียงภาษาไทย ทางช่อง Disney Channel
โดยเบื้องหลังที่ทำให้เกิดการนำเสนอวัฒนธรรมไทยในการ์ตูนเรื่องนี้ ต้องยกเครดิตให้กับ Matt Braly โปรดิวเซอร์อนิเมชั่นเรื่องนี้ ผู้ซึ่งเป็นลูกครึ่งไทย-อเมริกัน ที่ได้ไอเดียมาจากประสบการณ์ชีวิตตอนเดินทางมาเที่ยวที่ประเทศไทยช่วงวัยเยาว์ ผสมผสานไปกับ ภาพคุณยายของเขาเมื่อตอนสมัยเด็ก ที่กลายเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ ตัวละคร Anne ขึ้นมา แต่ถึงกระนั้น ก็เกิดดราม่าไม่เป็นเรื่องของชาวโซเชียลบ้านเราส่วนหนึ่ง ที่ดูจะไม่พอใจสีผิวอันเข้มคล้ำของ Anne ในเรื่อง แต่สุดท้าย ดราม่าดังกล่าวก็จางไปอย่างรวดเร็ว
นอกจาก Amphibia แล้ว Disney ยังได้สร้างความฮือฮาแก่คอการ์ตูนบ้านเรากันอีกครั้ง เมื่อได้หยิบเอา Mickey Mouse , Minnie Mouse และ พ้องเพื่อนสิงสาลาสัตว์ของเขา มาปรากฏตัวกลางตลาดน้ำไทย กับ อนิเมชั่น Mickey Mouse ตอนที่ชื่อว่า "Our Floating Dreams" ซึ่งอนิเมชั่นตอนดังกล่าว ได้นำเสนอบรรยากาศตลาดน้ำสไตล์โลคอลแบบบ้านเราอย่างจัดเต็ม (แถมมีการพากย์เสียงตัวละครเหล่านี้ ให้เป็นเสียงภาษาไทย โดยนักพากย์ฝรั่งด้วย!!!) ซึ่งใครที่ได้รับชมตอนดังกล่าว จะได้เห็น Mickey กับ Minnie ได้ร่วมด้วยช่วยกันสร้างตำนานเมนู "ข้าวผัดสัปปะรด" หนึ่งในเมนูอาหารไทยชื่อก้องของโลก (แม้ว่าตลอดทั้งตอน ทั้งคู่จะเอาแต่แก่งแย่งแข่งกันขายของบนเรือก็เหอะ)
.........ที่สำคัญ สิ่งหนึ่งที่จะพูดถึงไม่ได้เลย นั่นคือ คู่พี่น้องชิปมังค์ Chip กับ Dale ที่ออกมาล่องเรือขโมยซีนคู่หนู ด้วยการขับร้องเพลงลูกทุ่งไทยไปพลาง ขายถั่วไปพลาง!! และบทเพลง ทำนอง "Chip กับ Dale นี่สองพี่น้อง ขายของในคลอง.....ในกองมีแต่ถั่วดีๆ เพิ่งเด็ดสดๆ น่ากินไปหมด" นั้น ได้กลายเป็นไวรัลสุด WTF สุดหลอนหู ของชาวโซเชียลบ้านเรา ในช่วงเวลาดังกล่าว ไม่เพียงแค่เพลงนี้จะถูกชาวโซเชียลหยิบไปล้อเลียนกันแล้ว ก็ยังกลายเป็นเพลงที่มีการนำไปแสดง ต้อนรับนิสิตใหม่ ของสถานศึกษาแห่งหนึ่งอีกด้วย!!!!!!! ซึ่งกระแสความดังชั่วค่ำคืนของเพลงดังกล่าว ต้องยกเครดิตความคิดสร้างสรรค์ให้กับ หนุ่มชาวไทยในสหรัฐผู้หนึ่ง ที่ได้เรียบเรียงเพลงนี้ขึ้นมา!!!!
และจากปรากฏการณ์ นำเสนอวัฒนธรรมไทยอย่างฮาเฮ ผ่านผลงานอนิเมชั่นของ Disney นั้น ต้องยอมรับและนับถือว่า ทีมงานของเขาศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับบ้านเรามาเป็นอย่างดีเลยจริงๆ อย่างไรก็ตาม ก็มีการเปิดเผยถึงสาเหตุหลักที่ Disney ได้นำเสนอความเป็นไทย รวมถึง วัฒนธรรมของชาติอื่นๆ มาแฝงไว้ในผลงานอนิเมชั่น หรือ ผลงานอื่นๆ ของพวกเขา ก็มาจากการที่ Disney ได้จัดทำบริการสตรีมมิ่ง Disney+ ขึ้น เพื่อแก่งแย่งแข่งขันกับ Netflix ที่เป็นคู่แข่งรายใหญ่สำคัญ และสิ่งหนึ่งที่จะทำให้พวกเขาสามารถต่อกรกับ Netflix ได้ นั่นก็คือ การจัดทำคอนเท้นท์ที่เป็นการเอาใจผู้ชมท้องถิ่นมากขึ้นนี่เอง
# MARA - ก้าวแรกนักเขียนการ์ตูนไทย สู่เวที Shonen Jump
หากจะพูดถึงข่าวสารวงการการ์ตูนไทยในบ้านเรา ในรอบปี 2019 นั้น ก็เหมือนเช่นปีก่อนๆหน้านี้ ที่ไม่ค่อยมีข่าวสารมากมายนัก เอาที่พอไล่ได้ ก็มีตั้งแต่ การวางมือจากการเขียนการ์ตูนล้อการเมืองให้กับนสพ.ไทยรัฐ ของ "ชัย ราชวัตร" , การจากไปของนักเขียนการ์ตูนไทยสายมังงะญี่ปุ่น เจ้าของนามปาากา "ตาโปน" , การคว้ารางวัลผลงานการ์ตูนในต่างประเทศ จากการประกวดผลงานมังงะของกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่น อีกเช่นเคย , การปิดฉากของซีรี่ย์การ์ตูนเยียวยาหัวใจ ผสมผสานดราม่าจากนักอ่านไทย-เทศ อย่าง "คุณแม่วัยใส" รวมไปถึง ดราม่าไม่เป็นเรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับการ์ตูนในบ้านเรา อย่าง ภาพวาดพระพุทธรูปอุลตร้าแมน เอย แล้วก็ คดีขูดรีดเงินเด็กสาววัยรุ่น จากกรณีกระทง(ที่อ้างว่า)ละเมิดลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูน เป็นต้น
จากข้างต้น อย่างน้อยในบ้านเรา ก็มีข่าวคราวน่ายินดี ที่ถือเป็นก้าวแรกของนักเขียนการ์ตูนไทย สู่เวทีนิตยสาร Shonen Jump ของญี่ปุ่น เมื่อมีรายงานว่า MARA (มาร) ผลงานการ์ตูนของ อ.ธนธัช โชคเจริญทรัพย์ และ Plapang อดีตอาจารย์/ทีมงานวาดการ์ตูนที่ Hong14cafe สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศรางวัล จากการประกวด Magic International Manga Contest 2019 ที่มีการประกาศผลรางวัลไปเมื่อ มี.ค. 2019 และผลงานดังกล่าว ได้รับการเผยแพร่ออนไลน์บนแอพ/เว็บไซต์ Shonen Jump + เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งถือเป็นผลงานการ์ตูนฝีมือคนไทยเรื่องแรก ที่ได้รับการเผยแพร่บนนิตยสารในเครือ Shonen Jump อย่างจริงๆจังๆ และถือเป็นผลงานการ์ตูน one-shot ของคนไทยชิ้นที่ 2 ที่เข้าตาทีมงานของ Jump (แบบเป็นข่าว) ต่อจาก อ.กิตติวัฒน์ ตรงสุจริตสิน เมื่อปี 2015
แม้ว่า ผลงานดังกล่าว กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาว่า จะมีโอกาสได้ต่อยอดทำเป็นซีรีย์เรื่องยาวหรือไม่? แต่อย่างน้อย ถือเป็นสัญญาณที่ดี ที่นักเขียนการ์ตูนชาวไทยจะได้มีโอกาสโลดแล่น สร้างฝีมือในวงการมังงะญี่ปุ่น ตามรอย คุณตั้ม-วิศุทธิ์ พรนิมิตร นักเขียนการ์ตูนชาวไทยผู้ประสบความสำเร็จอย่างสูงในญี่ปุ่น จากผลงานคาแร็คเตอร์ น้องมะม่วง และ การ์ตูนเรื่อง hesheit
ถึงกระนั้น ก่อนที่บ้านเราจะได้สัมผัสกับซีรี่ย์เรื่องยาวโดยฝีมือคนไทยใน Shonen Jump (ที่ไม่รู้จะมาเมื่อไหร่) แต่อย่างน้อย นิตยสาร Jump ในปี 2019 นี้ ก็มีตัวละครคนไทย ปรากฏตัวในผลงานมังงะของ Jump ในฐานะตัวละครหลักของเรื่องนะ นั่นคือ เอ็น (En) จากมังงะ Tokyo Shinobi Squad นั่นเอง (แม้ว่ามังงะดังกล่าวจะตีพิมพ์ใน Jump แค่ช่วงสั้นๆก็ตาม)
En / เอ็น ตัวละครหนุ่มน้อยชาวไทย จากมังงะญี่ปุ่นเรื่อง Tokyo Shinobi Squad (คนซ้ายในรูปข้างล่าง)
# Samurai 8 : มังงะเปิดรัชสมัยใหม่ญี่ปุ่น ที่ดันไม่เป็นไปตามความคาดหวัง
ปี 2019 จัดเป็นปีที่มีความสำคัญยิ่งของชาวญี่ปุ่น ตามที่หลายคนทราบกัน นั่นคือ เป็นปีแห่งการเปลี่ยนรัชศก หรือ รัชสมัยใหม่ จาก เฮย์เซย์ ที่ใช้กันมาอย่างยาวนานถึง 30 ปี มาเป็น เรวะ ตั้งแต่ 1 พ.ค. 2019 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ มงกุฎราชกุมาร นารุฮิโตะ เสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่น แทนที่ สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ พระราชบิดา ที่ทรงสละราชบัลลังก์
และจากการที่ญี่ปุ่นได้ต้อนรับรัชสมัยใหม่นี้เอง ก็เลยเกิดกิจกรรมต่างๆ เพื่อต้อนรับรัชสมัยใหม่ของญี่ปุ่น ในทุกวงการ ไม่เว้นแม้แต่ มังงะ-อนิเม จำนวนหนึ่ง ที่มีการประกาศโปรเจ็ค หรือ มีความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รับรัชสมัยใหม่ เช่น Toei ผลิตซีรี่ย์ Kamen Rider Zero-One ซีรี่ย์ไอ้มดแดงเรื่องแรกของยุคเรวะ , .อนิเม Anpanman เปลี่ยนฟุตเทจเปิดอนิเม เข้ายุคสมัยใหม่ เป็นครั้งแรก ในรอบ 31 ปี , อนิเมครอสโอเวอร์ระหว่าง Hello Kitty กับ Crayon Shinchan (ส่วนหนึ่งเป็นการเฉลิมฉลอง 45 ปี ของ Hello Kitty ด้วย) .....ไม่เว้นแม้แต่ นิตยสาร Shonen Jump ที่ได้ก้าวข้ามสู่ยุคเรวะ ด้วยการเปิดตัวซีรี่ย์การ์ตูนเรื่องใหม่ของนิตยสารจำนวนหนึ่ง ซึ่งหนึ่งในนั้น เป็นหนึ่งในเรื่องที่หลายคนพูดถึงกันมาก ก่อนที่เรื่องนี้จะได้รับการตีพิมพ์เสียอีก และถือเป็นซีรี่ย์การ์ตูน Jump เรื่องแรกแห่งยุคเรวะ ที่ได้ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร นั่นคือ Samurai 8 : Hachimaruden !!!!!
Samurai 8 : Hachimaruden จัดเป็นผลงานการ์ตูนเรื่องใหม่ล่าสุดของ อ.Masashi Kishimoto ผู้แต่ง Naruto อันโด่งดังก้องโลก และเป็นผลงานการ์ตูนเรื่องใหม่ ต่อจาก Naruto ที่จบลงไป เมื่อปี 2014 ซึ่งเรื่องนี้ อ.Kishimoto ได้ใช้เวลาตระเตรียมกันมานาน โดยผสมผสานความอยากของเขา ในการนำเอา ซามูไร กับ ไซไฟ สองสิ่งที่เขาชื่นชอบมาผสมผสานเข้าไว้ด้วยกัน โดยได้ อ.Akira Ookubo ลูกมือที่ อ.Kishimoto ไว้เนื้อเชื่อใจมานานตั้งแต่เรื่อง Naruto มารับหน้าที่วาดภาพหลัก และจากคอนเซ็ปต์ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ก็ทำเอานักอ่านหลายคน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ แฟนๆ Naruto) ต่างพากันคาดหวังกับผลงานเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง และเฝ้ารอคอยที่จะได้อ่านเรื่องนี้กันอย่างจริงๆจังๆ หลังรอกันมานานถึง 5 ปี
และนับตั้งแต่ที่เรื่องนี้ได้ประเดิมลงตีพิมพ์บนหน้ากระดาษ Jump อย่างเป็นทางการ เมื่อ 13 พ.ค. 2019 เป็นต้นมา........กลายเป็นว่า การ์ตูนซามูไรสายวิทย์ของเขา กลับไม่สามารถสร้างความประทับใจให้กับผู้อ่านได้ตามที่คาดหวังเอาไว้ แถมนับวันก็ได้รับคำวิจารณ์ติติงด้านอรรถรสมากขึ้นๆ จนทำเอาความคาดหวังที่สูงเลิศเลอของคนอ่าน แปรเปลี่ยนกลายเป็นความผิดหวัง ไม่สมกับที่รอคอยกันมานาน ก็เลยทำให้ไม่ค่อยมีนักอ่านลงคะแนนโหวตเรื่องนี้ลงในไปรษณียบัตรของ Jump มากนัก มิหนำซ้ำ ยอดขายฉบับรวมเล่มของเรื่องนี้ ก็ดันออกมาไม่ดีดั่งที่คิดอีก เลยทำให้ Samurai 8 กำลังตกอยู่ในสถานการณ์วิกฤตอย่างหนักในนิตยสาร Jump ดีไม่ดี อาจโดนตัดจบ หรือ ย้ายนิตยสาร หลังช่วงปีใหม่ 2020 เลยก็ว่าได้ !!?
มูลเหตุที่ทำให้ Samurai 8 ยังไม่เป็นที่ยอมรับจากนักอ่านมากนัก หลักๆ ก็มาจากงานภาพที่ดูรกๆ ประกอบกับ รายละเอียดต่างๆที่ยัดใส่เข้ามานั้น มันช่างเข้าใจได้ยากเกินไป เมื่อเทียบกับ Naruto ซึ่ง อ. Kishimoto ได้ยอมรับถึงข้อบกพร่องที่เกิดขึ้น ในบทสัมภาษณ์ของเขา ก่อนที่เรื่องนี้จะตีพิมพ์ซะอีก..........อย่างไรก็ดี จากการที่เรื่องนี้ กลายเป็นซีรี่ย์น้องใหม่เรื่องเดียวที่ยังเหลือรอด ท่ามกลางซีรี่ย์เรื่องใหม่ที่มาพร้อมๆกับเรื่องนี้ ทยอยถูกตัดจบลง ก็ยังมีเวลาที่จะพิสูจน์ตัวเองในการเรียกเรตติ้งจากนักอ่านเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็ไม่รู้ว่า จะยังทันหรือไม่ แต่ถึงกระนั้น เรื่องนี้ก็มิวายถูกคนอ่านบางกลุ่มแซะว่า ที่ยังอยู่รอดมาได้ เพราะเครดิตเก่าของ อ.Kishimoto ล้วนๆ!!!! .... ซึ่งหากมองในแง่ดีหน่อย ก็เพราะชื่อของ อ.Kishimoto เนี่ยแหละ ที่ยังคงทำให้เรื่องนี้ยังมีนักอ่านอีกจำนวนหนึ่ง ที่ยังคงติดตามเรื่องราวของเรื่องนี้ต่อไป........
# สิ้นสุดการรอคอย 22 ปี เมื่อ Satoshi เถลิงแชมป์ลีก Pokemon ครั้งแรก!!!
หนึ่งในข่าวสุดฮือฮาประจำปีของคอการ์ตูนทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่ติดตามอนิเม Pokémon ที่คอยเป็นกำลังใจให้ Satoshi หรือ พี่ชิ ไปถึงฝั่งฝันในการคว้าแชมป์ลีก Pokémon ซักลีกใดลีกหนึ่ง มาตลอดระยะเวลากว่า 22 ปี!! ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น พี่ชิ เกือบจะทำได้หลายครั้ง แต่จนแล้วจนรอด ก็คว้าน้ำเหลวในอนิเม Pokémon ทุกซีรี่ย์
จนกระทั่ง Pokémon Sun & Moon อนิเมซีรี่ย์ล่าสุดของ Pokémon วันเวลาที่พี่ชิ (+แฟนๆ) รอคอยมานานแสนนาน ได้จบลง เมื่อเขาสามารถคว้าแชมป์ลีกประจำภูมิภาค Aloha ได้สำเร็จ!!!!! โดยเอาชนะ Gladion ได้ในรอบชิงชนะเลิศ ที่ปรากฏในตอนที่ 139 ของอนิเมภาค Sun & Moon ซึ่งถือเป็นแชมป์ลีก Pokémon แชมป์แรกที่ พี่ชิ รอคอยมานาน 22 ปีเต็ม !!!!! และกว่าจะมาได้ ก็ต้องรอถึงอนิเมซีรี่ย์ Pokémon ซีรี่ย์ที่ 6 กันเลยทีเดียว!!!!
และจากการคว้าแชมป์ Pokémon ลีก เป็นครั้งแรกของพี่ชิ นี้เอง ก็กลายเป็นกระแสที่พูดถึงกันมากของแฟนๆทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแฟนๆฝั่งตะวันตก ที่ดูจะคลั่งไคล้ Pokémon เป็นทุนเดิม ซะจน สำนักข่าวระดับโลกอย่าง CNN กับ ESPN อดไม่ไหว ที่จะร่วมรายงานข่าวนี้ เป็นการแสดงความยินดีให้กับพี่ชิด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความยินดีของพี่ชิ ก็มีแฟนๆบางส่วน ที่ดูจะไม่ตื่นเต้น ไม่ยินดียินร้าย กับการคว้าแชมป์ของพี่ชิในครั้งนี้ เท่าไหร่นัก ซึ่งแฟนกลุ่มนี้มองว่า เขาควรจะคว้าแชมป์ลีกมาครองได้ ตั้งแต่อนิเมภาค XYZ แล้ว ประกอบกับ การที่มีแฟนๆบางส่วน ค่อนข้างจะอคติกับลายเส้นและการดีไซน์ตัวละครใน Sun & Moon ที่ออกไปทางไม่เต็มเต็งเท่าไหร่ หรือบ้างก็บอกว่า ที่ให้พี่ชิมาคว้าแชมป์ลีกใน Sun & Moon ได้นั้น เป็นเพราะทีมผู้สร้างอนิเมต้องการจะเอาใจแฟนๆ เพื่อเป็นการลดแรงกระแทก หลังจากถูกแฟนๆทั่วโลกพากันสวดซะยับเยินจากภาค XYZ (บ้างก็ว่า การต่อสู้ใน Sun & Moon แทบไม่มีอะไรให้ลุ้นเลย)
หลังผ่านพ้นการคว้าแชมป์ลีก Pokémon ลีก ของพี่ชิ ไปไม่นาน เรื่องราวของอนิเมภาค Sun & Moon ของ Pokémon ได้จบลงไป พร้อมกับสานต่อเรื่องราวการผจญภัยของพี่ชิ กับ เหล่า Pokémon ต่อไป ในอนิเมภาคใหม่ Pocket Master ที่มีเนื้อหาดัดแปลงจากวีดีโอเกมชุด Pokémon Sword and Shield ที่ฉายที่ญี่ปุ่นไปเมื่อ พ.ย. 2019 รวมถึง กำลังจะได้รับชมหนังอนิเม Pokémon ชุดใหม่ ที่จะเป็นเรื่องราวใหม่ ชุดแรกในรอบ 2 ปี ของเรื่องนี้ ในช่วงฤดูร้อน 2020 หลังจากได้ลองลิ้มประสบการณ์จากหนังคนแสดง Pokémon Detective Pikachu และ หนังอนิเมฉบับรีเมคชุด Mewto ในปี 2019
แต่เหนือสิ่งอื่นใด......การคว้าแชมป์ลีกของพี่ชิในครั้งนี้ คงจะกลายเป็นแรงบันดาลใจชั้นดีของแฟนบอลอังกฤษทีมหนึ่ง ที่กำลังรอคอยการคว้าแชมป์ลีกสูงสุด มานานกว่า 30 ปี ด้วยเช่นกัน!!!! (ตอนนี้ โกยแต้มนำชาวบ้านไปไกล ซะจนซีซั่นนี้ หมดสนุกไปล่ะ)
# เรื่องวุ่นๆวงการอนิเมญี่ปุ่น จากผลพวงความขัดแย้งระหว่าง เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น
เกาหลีใต้ กับ ญี่ปุ่น จัดเป็น 2 ชาติที่มีความขัดแย้งกันอย่างฝังลึกมานาน นับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้ว่าปัจจุบันนี้ ความขัดแย้งระหว่าง 2 ชาติดังกล่าว จะเบาลงกว่าแต่ก่อน จากการที่คนรุ่นใหม่จากทั้งสองฝั่งต่างยอมรับในวัฒนธรรม pop culture ที่แข็งแกร่ง ซึ่งกันและกัน กล่าวคือ เกาหลียอมรับในวัฒนธรรมมังงะ-อนิเมญี่ปุ่น ในขณะที่ฝั่งญี่ปุ่น ก็เปิดรับดนตรี K-Pop รวมถึง ผลงานการ์ตูนของนักเขียนชาวเกาหลีด้วย แต่ถึงกระนั้น ทั้ง 2 ชาตินี้ ก็ยังคงมีประเด็นที่ขุ่นข้องหมองใจเกิดขึ้นมาอย่างเนืองๆ (ส่วนหนึ่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นผลพวงมาจากความขัดแย้งในอดีต) จนส่งผลกระทบในด้านอื่นๆ รวมถึง อนิเมญี่ปุ่นที่มีกำหนดเข้าฉายในเกาหลีใต้ด้วย
ในปี 2019 นี้ ความขัดแย้งระหว่างผู้คนจากแดนกิมจิ กับ แดนปลาดิบ ครั้งใหญ่ที่สุด คงหนีไม่พ้น เรื่องของสงครามการกีดกันสินค้าระหว่าง 2 ชาติ โดยเริ่มมาจาก การออกนโยบายจำกัดการส่งออกสินค้าเคมีภัณฑ์ให้กับเกาหลีใต้ ของทางการญี่ปุ่น ซึ่งทางญี่ปุ่น ได้กล่าวหาว่า เกาหลีใต้ขาดการควบคุมสินค้าเคมีภัณฑ์ประเภท hydrogen fluoride ซึ่งเป็นสารเคมีที่ถูกนำไปใช้ในการพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ และอาจส่งผลให้เกาหลีเหนือสามารถเข้าถึงวัตถุดิบดังกล่าว เพื่อนำไปพัฒนาอาวุธร้ายแรงต่อไป
และสารเคมีข้างต้นนั้น เป็นสารเคมีที่จำเป็นอย่างยิ่งในธุรกิจอิเล็คทรอนิกส์ของเกาหลีใต้ ซึ่งนโยบายดังกล่าวของญี่ปุ่น ได้สร้างความไม่พอใจให้แก่พวกเขา แม้ว่าพวกเขาจะออกมาปฏิเสธคำกล่าวหาก็แล้ว แต่ญี่ปุ่นยังดึงดันที่จะใช้นโยบายนี้ต่อไป จนนำไปสู่การตอบโต้กลับของชาวเกาหลีใต้ที่กำลังไม่พอใจอย่างรุนแรง นั่นคือ การแบนสินค้าต่างๆ ที่อิมพอร์ตมาจากญี่ปุ่น ตั้งแต่ เสื้อผ้าแบรนด์ UNIQLO , การท่องเที่ยว , รถยนต์ , ร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้ ยังส่งผลกระทบต่อหนังอนิเมชั่นญี่ปุ่น ที่กำลังเข้าฉายบนโรงหนังที่เกาหลีในช่วงเวลานั้น อย่าง Eiga Oshiri Tantei: Curry Naru Jiken กับ Detective Conan: The Fist of Blue Sapphire (ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน - ศึกชิงอัญมณีสีคราม) ที่ต่างมีรายได้ในแดนกิมจิไม่ค่อยดีนัก ซึ่งเป็นผลมาจากกระแสแบนสินค้าญี่ปุ่นนั่นเอง และจากกรณีพิพาทด้านการค้าระหว่างญี่ปุ่น กับ เกาหลีใต้ ที่เกิดขึ้นนี้ ได้สร้างความลำบากใจให้แก่บริษัทนำเข้าหนังญี่ปุ่นของเกาหลี ในการดำเนินแผนโปรโมทหนังในช่วงเวลาดังกล่าว ก็เลยทำให้ Eiga Doraemon no Nobita no Getsumen Tansaki หรือ โดราเอมอนเดอะมูฟวี่ โนบิตะสำรวจดินแดนจันทรา หนังอนิเมชุดที่ 39 ของ Doraemon ต้องเลื่อนออกฉายบนโรงที่เกาหลีใต้อย่างไม่มีกำหนดด้วย
นอกจากประเด็นสงครามสินค้าระหว่างเกาหลีใต้ กับ ญี่ปุ่น แล้ว วงการอนิเมญี่ปุ่น ยังต้องพบเจอกับความวุ่นวาย จากความขัดแย้งระหว่าง เกาหลี-ญี่ปุ่น อีก แต่คราวนี้ เป็นคนวงการอนิเมฝั่งญี่ปุ่น ที่เป็นฝ่ายจองกฐินดราม่ากองใหญ่ซะเอง จากการที่ Yoshiyuki Sadamoto ผู้ออกแบบตัวละครให้กับอนิเม Neon Genesis Evangelion และ Summer Wars ได้ไปออกโรงวิจารณ์ รูปปั้นนางบำเรอ (หรือ รูปปั้นแห่งสันติภาพ ) ของเกาหลี ในเชิงดูถูกดูหมิ่น บน twitter ส่วนตัวของเขา ซึ่งได้สร้างความไม่พอใจให้แก่แฟนๆหลายคน อีกทั้ง ก็ดันเป็นเรื่องบังเอิญพอดี ที่ ทัวร์นาเม้นท์แข่งเกม Starwing Paradox ซึ่งเป็นเกมที่ Sadamoto มีส่วนร่วมในฐานะผู้ออกแบบตัวละคร ได้ประกาศยกเลิกไป ในช่วงที่เขากำลังมีดราม่าพอดี (แม้ว่าทางผู้จัดทัวนาเม้นท์ดังกล่าว จะออกมาแจ้งในภายหลังว่า สาเหตุหลักที่ทัวร์นาเมนท์ดังกล่าวถูกยกเลิก ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับดราม่าของ Sadamoto เลย)
รูปปั้นนางบำเรอข้างต้น เป็นผลงานศิลปกรรมของ Kim Seo-kyung กับ Kim Eun-sung คู่ศิลปินชาวเกาหลี เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึง ผู้หญิง หรือ เด็กสาวที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ที่ถูกบีบบังคับให้ทำงานในซ่องทหารที่รับใช้กองทัพญี่ปุ่น ซึ่งรูปปั้นดังกล่าว ยังคงตกเป็นประเด็นทางการเมืองระหว่างสองชาติ ที่เล่นเอาญี่ปุ่นถึงกับควันออกหูในทุกวันนี้ (ว่ากันว่า เป็นการตอบโต้ของฝั่งเกาหลี ที่ยังคงมองว่า ทางการญี่ปุ่น ไม่มีความจริงใจ ในการออกมาขออภัยในสิ่งที่กองทัพจักรพรรดิของญี่ปุ่น เคยกระทำย่ำยีต่อชาวเกาหลีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2)
# City Hunter : การกลับมาปฏิบัติการให้แฟนรุ่นเก๋าหายคิดถึง ของ ลุง Saeba Ryo และสหาย
ปี 2019 นี้ จัดเป็นปีที่คุณลุง Saeba Ryo และสหายผู้คุ้นเคย จากการ์ตูน City Hunter มีกระแสคัมแบ็คให้ใครต่อใครต่างพากันคิดถึงวีรกรรมสุดเท่ห์ เทพ หื่น และ ฮา ของเขากัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบรรดาเด็กติดหนวด ผู้ที่เติบโตมากับการ์ตูนเรื่องนี้ ในช่วงยุค 80 - ต้น 90
... นำร่องกันด้วย หนังคนแสดงฉบับฝรั่งเศสชุด Nicky Larson et le Parfum de Cupidon (Nicky Larson and the Cupid's Purfume) ที่จัดทำกันออกมาได้อารมณ์ใกล้เคียงกับการ์ตูนต้นฉบับของ อ.Tsukasa Hojo ยิ่งนัก (มากกว่าเวอร์ชั่นหนังฮ่องกง ที่แสดงนำโดย เฉินหลง / Jackie Chan ซะด้วยซ้ำ) ส่งผลให้ตัวหนัง สามารถเปิดตัวอันดับ 3 บน Box Office ของฝรั่งเศส ในช่วงเดือน ก.พ. ก่อนที่ตัวหนังจะเข้าฉายบนโรงในบ้านเรา ในเดือน มี.ค. (ในชื่อ City Hunter สายลับ คาสโนเวอร์) แล้วก็ ญี่ปุ่น ประเทศต้นกำเนิดมังงะเรื่องนี้ ในเดือน พ.ย. ปีเดียวกัน .....โดยฉบับหนังพากย์ไทยของเรื่องนี้ ได้น้าต๋อย เซมเบ้ เป็นผู้ให้เสียงพากย์ Nicky Larson หรือ Saeba Ryo ในหนัง รวมถึงได้ ทีมพากย์พันธมิตร มาร่วมพากย์เสียงกันอย่างฮาท้องแข็งด้วย ในขณะที่ เวอร์ชั่นที่เข้าฉายในญี่ปุ่น ได้ Koichi Yamadera เป็นผู้พากย์เสียง Ryo ในฉบับคนแสดง (แทน Akira Kamiya ผู้พากย์เสียง Ryo ในอนิเมต้นฉบับญี่ปุ่น)
และในขณะที่หนัง City Hunter เวอร์ชั่นแดนน้ำหอมเพิ่งเปิดตัวไปนั้น ที่ญี่ปุ่น ได้เริ่มฉายหนังอนิเมภาคล่าสุด ซึ่งเป็นหนังอนิเมใหม่ภาคแรก ในรอบ 20 ปี ของเรื่องนี้ อย่าง City Hunter The Movie: Shinjuku Private Eyes ด้วยเช่นกัน ซึ่งตัวหนังที่ได้ Akira Kamiya กับ Kazue Ikura กลับมาพากย์เป็น Ryo และ Makimura Kaori คู่พระนางประจำเรื่องนี้ รวมถึงได้สาวๆจากเรื่อง Cat 's Eye ซึ่งเป็นผลงานการ์ตูนดังอีกเรื่อง ของ อ.Hojo มาปรากฏตัวในหนัง ก็มีกระแสการตอบรับจากแฟนๆที่ไม่เลวเลย ด้วยการเปิดหัว ณ อันดับ 4 บน Box Office ญี่ปุ่น ก่อนที่จะเข้าฉายบนโรงในบ้านเราอย่างเซอร์ไพรส์ ช่วง ก.ย. 2019 (ในชื่อไทย ซิตี้ฮันเตอร์ โคตรนักสืบชินจูกุ "บี๊ป" )
และจากการมาของหนังเรื่องนี้ทั้ง 2 รูปแบบข้างต้น นอกจากจะสร้างความประทับใจให้แก่ แฟนๆที่เติบโตมากับเรื่องนี้แล้ว ยังสร้างความสุขให้แก่นักพากย์ประจำอนิเมเรื่องนี้ จนอดไม่ไหวที่อยากจะให้มีการทำหนังอนิเม City Hunter ต่อไป...อย่างไรก็ตาม จากการกลับมาปฏิบัติภารกิจให้หายคิดถึงของ Ryo นั้น ก็นำมาซึ่งคำถามที่แฟนๆหลายคนต่างคาใจมานาน เกี่ยวกับหนึ่งในมุกตลก signature อันเป็นเอกลักษณ์ประจำเรื่องนี้ว่า "เหตุไฉน Ryo ถึงหลบค้อนปอนด์ยักษ์ของ Kaori ไม่พ้นซักที" !? ซึ่ง อ.Hojo ผู้ซึ่งได้เดบิวในฐานะผกก.หนัง เป็นครั้งแรก ในปี 2019 ได้ตอบแฟนๆกลับไปว่า "ที่เขาหลบไม่พ้น ไม่ได้หมายความว่า เขาหลบไม่ได้ แต่ดูเหมือนว่า เขาไม่ยอมหลบซะเอง บางที เขากำลังคิดว่า การกระทำของเขานั้น (เรื่องชอบแอ้มสาวนี่ล่ะ) สมควรจะเป็นมุกตลก หรือ บางทีเขาอาจอยากให้ Kaori มาหยุดยั้งเขา ก็เป็นได้" (จริงๆที่น่าสงสัยยิ่งกว่า คงจะเป็นเรื่องของ Kaori ไปงัดเอาเรี่ยวแรงจากไหน ถึงยกค้อนหนัก 10 ตัน ได้ล่ะนั่น !!?)
สำหรับกระแสการกลับมาของเรื่องนี้ในเมืองไทย นอกจากจะมีหนัง 2 เรื่องข้างต้นจากเรื่องนี้เข้าฉายบนโรงในบ้านแล้ว ทางสนพ. สยามอินเตอร์ฯ เจ้าของลิขสิทธิ์ฉบับภาษาไทยของเรื่องนี้ ได้ตีพิมพ์และวางขายมังงะชุด "ตั้งแต่วันนี้จะเป็น 'ซิตี้ฮันเตอร์' " มังงะสปินออฟของเรื่องนี้ ที่ว่าด้วยเรื่องราวของหญิงสาวที่ได้เกิดใหม่ มาอาศัยอยู่บนโลกเดียวกันกับ Ryo แลพ Kaori และตัวละครอื่นๆ ของ City Hunter
# Gintama : โทรลแล้วโทรลอีก จนถึงหยดสุดท้าย
ปี 2019 จัดเป็นปีที่มีมังงะซีรี่ย์ถึงคราวจบลง จำนวนหนึ่ง แต่ในบรรดาเรื่องที่จบลงไปนั้น เรื่องที่ถือว่าเป็นไฮไลท์สุด ยังคงเป็นเรื่องหน้าเดิมจากปีที่แล้ว นั่นคือ คุณกินและสหายนักรับจ้างสารพัด แห่ง Gintama !!!!! หลังจากที่คุณกินและพรรคพวกได้ปิดเรื่องราวของตัวเองใน Shonen Jump เล่มหลัก และยกพลไปสร้างบทสรุปที่แท้ทรูของตัวเอง บนนิตยสาร Jump Giga ในอีก 3 ตอนที่เหลืออยู่ แต่เอาเข้าจริงๆ พวกคุณกินก็ไม่สามารถจบลงได้ เลยต้องไปหาที่ลงใหม่ กับ แอพ Gintama ของตัวเอง พร้อมกับกำกับว่า งวดนี้จะจบของจริงล่ะ!!!! ซึ่งทำเอาแฟนคุณกินทั่วโลก ถึงกับปั่นป่วนและเริ่มเฉยชากับข่าวประกาศจบของเรื่องนี้ไปตามๆกัน
และแล้ว หลังจากขยันโทรลอยู่หลายครั้ง จนในที่สุด คุณกินและเพื่อนๆได้ถึงคราวปิดฉากกันของจริง บนแอพของตัวเอง เมื่อ 20 มิ.ย. 2019 และวางจำหน่ายฉบับรวมเล่ม 77 เล่มจบของเรื่องนี้ที่ญี่ปุ่น ในเดือน ส.ค. 2019 แต่ถึงกระนั้น พรรคพวกของคุณกิน ยังคงโลดแล่นต่อไป บนแผ่นฟิลม์ กับหนังอนิเมชุดที่ 3 ของพวกเขา ที่จะมากันในปี 2021 และอาจรวมถึง อนิเมซีรี่ย์จากเนื้อหาที่เหลืออยู่ของมังงะต้นฉบับ ที่อาจมีการดัดแปลง ออกอากาศในอนาคตด้วยเช่นกัน
ซีรี่ย์การ์ตูนอวสานเรื่องอื่นๆ ในปี 2019 :
Akame ga Kill Zero , Shokugeki no Souma / ยอดนักปรุงโซมะ , Gakkō Gurashi! โรงเรียนของเราน่าอยู่ , Origin , Muhyo to Roji no Mahōritsu Sōdan Jimusho: Mazoku Magushi-hen , Mai Ball! , Basilisk เนตรพิฆาตมาร, Omoi, Omoware, Furi, Furare / หนึ่งหวาน หนึ่งซน คนมีรัก , GETTER ROBOT DEVOLUTION - 3 นาทีสุดท้ายแด่จักรวาล , Kishuku Gakkō no Juliet / รักลับๆข้ามหอของนายหมากับน้องแมว , Hyōka ปริศนาความทรงจำ , Sono Koe de, Sono Uta o. (มังงะภาคใหม่ล่าสุดของ Kaikan Phrase หรือ จังหวะร็อค ดนตรีรัก) , Suzumiya Haruhi-chan , Shin!! Otoko Juku , Magimoji Rurumo: Hōkago no Mahō Chugakusei , Hinomaru Zumou / ฮิโนะมารุ ซูโม่กะเปี๊ยกฟัดโลก , Kaichō Shima Kōsaku , Peach Girl NEXT , Real Account ติดตามตาย , Rakudai Ninja Rantarō (มังงะต้นฉบับอนิเม นินจารันทาโร่) , Gamers (Light Novel) ,Silver Spoon
# 2019 : ปีแห่งความสุขสันต์ และ แสนวุ่น ของเจ้ามนุษย์แมงมุม Spider-Man
ปี 2019 แม้จะเป็นปีหมูทอง แต่ก็เป็นปีที่เจ้ามนุษย์แมงมุม Spider-Man ได้สร้างความฮือฮากันตลอดทั้งปี ... ประเดิมด้วย การประกาศศักดาของ Spider-Man: Into the Spider-Verse หนังอนิเมชั่นรวมเหล่ามนุษย์แมงมุมจากหลายจักรวาล ที่สามารถกวาดรางวัลสำคัญๆ จากหลายเวที ประกอบด้วย รางวัลลูกโลกทองคำ ครั้งที่ 76 สาขาภาพยนตร์อนิเมชั่นยอดเยี่ยม , รางวัลชนะเลิศสาขาหนังอนิเมชั่นยอดเยี่ยม จาก Critics' Choice Awards ครั้งที่ 24 และ รางวัล Oscar ครั้งที่ 91 สาขา สาขาภาพยนตร์อนิเมชั่นยอดเยี่ยม ซึ่งจากการที่หนังดังกล่าวคว้ารางวัล Oscar ครั้งที่ 91 ได้ ทำให้หนังเรื่องนี้ กลายเป็นหนังอนิเมชั่นเรื่องแรกในรอบ 7 ปี ที่หยุดสถิติหนังอนิเมชั่นของ Disney หรือ Pixar ในการผูกขาดรางวัลสาขาภาพยนตร์อนิเมชั่นยอดเยี่ยมของ Oscar ต่อจากเรื่อง Rango
โดย Spider-Verse ได้รับคำชมเป็นอย่างมาก ในหมู่ของแฟนๆฮีโร่แมงมุม และอนิเมเตอร์ระดับชั้นนำของโลก แม้แต่ Yoshiyuki Tomino บิดาผู้สร้างซีรี่ย์อนิเม Mobile Suit Gundam ยังได้ซูฮกเรื่องนี้ไปตามๆกัน ซึ่งตัวหนังนั้น มีองค์ประกอบบางส่วนที่ได้แรงบันดาลใจจากอนิเมญี่ปุ่น รวมถึง มีอนิเมเตอร์ชาวญี่ปุ่นจำนวนหนึ่ง อยู่เบื้องหลังในความสำเร็จของหนังเรื่องนี้ ซึ่งตัวหนังนั้น สามารถกวาดรายได้จากทั่วโลก 375.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมากพอที่จะทำให้โปรดิวเซอร์หนัง เตรียมหยิบเอา Spider-Man จักรวาลของ Toei (หรือ Spider-Man ฉบับหนังแปลงร่าง + มีหุ่นยนต์ยักษ์ ของญี่ปุ่น) มาปรากฏตัวในหนังภาค 2 ของ Spider-Verse ที่ได้ไฟเขียวให้ทำต่อแล้ว
อย่างไรก็ตาม หลังจากหนังคนแสดงของ Spidy ชุด Spider-Man Far From Home ฉายไปได้กว่า 1 เดือน ก็เกิดข่าวคราวสุดวุ่น ซะจนส่อเค้าว่า อาจไม่ได้เห็น Spidy ได้มาแจมกับเหล่าฮีโร่คนอื่นๆของ Marvel บนจักรวาลหนัง Marvel (MCU) กันอีกต่อไป จากการที่ Disney บริษัทผู้เป็นเจ้าของ Marvel ต้นสังกัดของ Spider-Man ไม่สามารถเจรจาบรรลุข้อตกลง(เรื่องผลประโยชน์เงินๆทองๆ) ครั้งใหม่กับ Sony ผู้ซึ่งถือครองลิขสิทธิ์ Spider-Man ฉบับภาพยนตร์ กันอย่างลงตัว และอาจส่งผลกระทบต่อหนัง
Spider-Man ภาคต่อๆไป ที่จะไม่สามารถอ้างอิงถึง ตัวละคร หรือ เนื้อหาต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับ MCU ได้ แม้ว่า จะยังได้ Tom Holland มารับบทเป็น Spidy เหมือนเคย
ทว่า หลังจากเวลาล่วงเลยไปกว่า 1 เดือน ในที่สุด แฟนๆ Spidy ทั่วโลก ได้เฮลั่นพร้อมกัน เมื่อ Disney กับ Sony สามารถเจรจากันได้อย่างลงตัว ทำให้ฮีโร่แมงมุมยังคงอยู่ในสารบบของ MCU ต่อไป โดยทาง Sony ยังคงได้รับส่วนแบ่งกำไรหนังก้อนโตราว 75% ขณะที่ Disney จะได้รับส่วนแบ่งจากกำไรภาพยนตร์เพียง 25% จากเดิมที่ทั้งสองบริษัทจะได้รับส่วนแบ่งกำไรกันครึ่งต่อครึ่ง (ซึ่งนำไปสู่ดีลที่ล้มเหลว) โดยที่ Disney ยังคงได้รับสิทธิ์ในการจัดจำหน่ายสินค้าของหนังเช่นเดิม
# ปีแห่งการเฉลิมฉลองครบรอบ ของบรรดาการ์ตูน-อนิเมรุ่นเก่ากึ๊ก
ปี 2019 ที่ผ่านมานี้ ถือเป็นเรื่องบังเอิญ ที่มีการ์ตูน-อนิเมยุคเก่าจำนวนหนึ่ง ที่ต่างพากันเฉลิมฉลองครบรอบตัวเอง ในฐานะที่อยู่ด้วยกันกับคอการ์ตูนมานานหลายสิบปี
- เริ่มจาก Gundam ได้มีการเดินสายฉลอง 40 ปี ของตัวเอง ในหลากหลายโปรเจ็ค ทั้งการจัดทำสินค้าต่างๆ , ทำแคมเปญกับทีมเบสบอล รวมถึง การประกาศโปรเจ็คอนิเมใหม่ อาทิ อนิเมชุดใหม่ของ ซีรี่ย์ Gundam Build และ หนังฉบับตัดต่อของ Gundam: Reconguista in G ที่ได้เข้าโรงที่ญี่ปุ่นแล้ว เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดาย ที่กิจกรรมงานวิ่ง Gundam Run บนเกาะฮ่องกง ได้ประกาศยกเลิกอย่างถาวร อันเนื่องมาจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในฮ่องกง
- Hello Kitty ฉลอง 45 ปี ของตัวเอง ด้วยการร่วมแจมกับ เจ้าหนูหัวมันสุดกวน Shinchan กับอนิเม Crayon Shin-chan ตอนแรกสุดของยุคสมัยเรวะ กับตอนที่มีชื่อว่า "Kitty-chan vs Burii-chan da zo!" , โปรเจ็คเฉลิมฉลองครบรอบร่วมกัน ระหว่าง Kitty กับ Gundam รวมไปถึง สินค้าต่างๆ ที่เจ้าเหมียว Kitty ได้ไป Collabo กับแฟรนไชส์เรื่องอื่นๆ
- Sazae-san อนิเมซีรี่ย์แนวครอบครัว ที่อยู่คู่กับผู้ชมในญี่ปุ่นมานถึง 50 ปี ก็ได้จัดทำโปรเจ็คฉลองครึ่งศตวรรษของตัวเองหลายอย่าง ทั้งรายการทีวีพิเศษ , นิทรรศการ , ครอบครัวแฟนคลับอนิเม ร่วมปรากฏตัวในฉบับอนิเมเรื่องนี้ , ละครเวที กับ ละครคนแสดง พิเศษ ที่นำเสนอเรื่องราวช่วงอนาคต 10 ปี กับ 20 ปี ข้างหน้า จากฉบับอนิเม ตามลำดับ อีกทั้ง เรื่องนี้ยังได้เดินหน้าจดสถิติลง Guinness Book เพิ่มเติม จากการที่ Midori Kato ผู้พากย์เสียงเป็น Sazae-san มาโดยตลอด ตั้งแต่ตอนแรกสุด ได้รับการบันทึกสถิติลง Guinness Book ในฐานะที่เธอเป็นนักพากย์ที่พากย์เสียงตัวละครบทบาทเดียว ในอนิเมทีวี ยาวนานที่สุดในโลก รวมถึง การขยับขยายสถิติ รายการอนิเมชั่นทางทีวีที่ออกอากาศยาวนานที่สุดในโลก ของอนิเมเรื่องนี้ เพิ่มเติมเป็น 50 ปี จากเดิมที่เคยบันทึกไว้ 44 ปี เมื่อปี 2013
- Doraemon เจ้าหุ่นยนต์แมวสีฟ้า ขวัญใจของคนทุกเพศทุกวัย ได้มีการเฉลิมฉลอง ครบรอบ 40 ปี ของการออกอากาศอนิเมบนจอทีวีอย่างต่อเนื่อง แล้วก็ ครบรอบ 50 ปี ของมังงะต้นฉบับเรื่องนี้ ประกอบด้วย , การจัดทำอนิเมตอนพิเศษ 1 ชั่วโมงที่เป็นการรีเมคตอน Yume no Machi, Nobita Land อนิเมตอนแรกสุดของ Doraemon รวมไปถึง อนิเมตอนพิเศษอีกตอนหนึ่ง ซึ่งจะได้เห็น Doraemon ปรากฏตัวในลวดลายต่างๆ
ในส่วนมังงะต้นฉบับ มีการเฉลิมฉลอง ด้วยการวางจำหน่ายมังงะรวมเล่มเล่มใหม่ เล่มแรก ในรอบ 23 ปี กับ Doraemon เล่ม 0 ที่เป็นการรวบรวมมังงะตอนแรกสุดทั้ง 6 เวอร์ชั่น เข้าไว้ด้วยกัน
- Ojamajo Doremi / แม่มดน้อยโดเรมี ซีรี่ย์อนิเมแม่มดน้อย ที่แม้จะยังเยาว์วัยกว่าเรื่องอื่นๆในลิสต์ แต่ก็ได้เริ่มตระเตรียมงานฉลองครบ 20 ปี ของตัวเองแล้ว ด้วยการจัดทำวางขายนิยายใหม่ชุด Ojamajo Doremi 20s รวมถึง หนังอนิเม Majo Minarai o Sagashite ที่จ่อคิวเข้าโรง ในปี 2020
- นิตยสารการ์ตูน Shonen Champion ได้ร่วมฉลอง 50 ปี ของตัวเอง ไปพร้อมๆกับ การฉลองที่มนุษย์สามารถเหยียบบนพื้นผิวดวงจันทร์เป็นครั้งแรก ด้วยการรีปริ้นท์ปกนิตยสารยุคแรกสุด
# รวมข่าวอื้อฉาว คนวงการมังงะ-อนิเม ญี่ปุ่น และ ตะวันตก
- Yusuke Tomoi นักแสดงจาก Kamen Rider Agito และหนึ่งในสมาชิกของวงดนตรี Junretsu ได้ประกาศอำลาวงการบันเทิงเป็นที่เรียบร้อย หลังจากตัวเขาได้ออกมารับสารภาพว่า ได้กระทำความรุนแรง , ล่วงเกิน และลักทรัพย์ หญิงสาวจำนวน 3 คน ตามที่นิตยสารรายสัปดาห์ฉบับหนึ่งของญี่ปุ่นได้รายงานไว้
- จนท.ตำรวจ ได้จับกุมตัว Takashi Udatsu วัย 44 ปี กับ Takao Kurokawa วัย 66 ปี สองอดีตพนักงานของ Bandai ในข้อหามีส่วนเกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงการก่อสร้างอนุสาวรีย์ Gundam ขนาดเท่าตัวจริง
- Pierre Taki นักร้อง-นักแสดงหนุ่มใหญ่ สมาชิกของวง Denki Groove ถูกจนท.ตำรวจรวบตัว ในข้อมา มียาเสพติดครอบครอง และจากคดีดังกล่าว ส่งผลกระทบต่องานต่างๆ ที่เขาได้มีส่วนร่วมอยู่เพียบ ประกอบด้วย เกม Judgment บนเครื่อง PS4 ถูกเลื่อนวางจำหน่ายไม่มีกำหนด จากการที่มีตัวละครยากูซ่า Kyohei Hamura ที่ได้เขามาเป็นต้นแบบ + พากย์เสียง , ถูกถอดจากการพากย์เสียงเป็น Olaf (Frozen) ในเกม Kingdom Hearts III , ถูกถอดออกจากการบรรยายรายการทีวี Sekai no Kokkyō o Aruitemitara และ รายการทีวี Pierre Taki no Shonnai TV , Denki Groove วงดนตรีที่เขาเป็นสมาชิก ประกาศยกเลิกคอนเสิร์ต รวมถึง เมืองฟูจิเอดะ จ.ชิซึโอกะ ได้ถอดฝาท่อระบายน้ำที่เป็นรูป Taki ที่วาดออกมาเป็นตัวการ์ตูน ออกไปแล้ว เช่นกัน
- Ryūji Harada ถูกถอดชื่อออกจากการเป็นหนึ่งในนักแสดงละครเวที Sazae-san (ดัดแปลงมาจากอนิเมแนวครอบครัวที่อยู่คู่กับผู้ชมญี่ปุ่นมานานถึง 50 ปี) จากการที่เขาได้รับสารภาพว่า กำลังคบชู้อยู่กับผู้หญิงหลายคน
- Maki Tomohiro ประธานคนปัจจุบันของสตูดิโออนิเม Gainax ผู้ผลิตอนิเม Neon Genesis Evangelion, Gurren Lagaan ถูกจนท.ตำรวจโตเกียวรวบตัว ในข้อหากระทำการอนาจารกึ่งบังคับ กับ หญิงสาววัยรุ่นช่วงปลาย อย่างไม่เหมาะสม
- Kevin Tsujihara ประกาศลาออกจากการเป็น ประธาน และ CEO ของ Warner Bros. จากกรณีอื้อฉาวที่เขาถูกกล่าวหาว่า ใช้ตำแหน่งของตัวเองในการคัดสรรบท หรือ ล็อคผลออดิชั่นของนักแสดงสาว Charlotte Kirk ที่เขาไปมีความสัมพันธ์ด้วย
- และข่าวใหญ่ที่ถือว่าเป็นข่าวอื้อฉาวที่สุดแห่งปี ของวงการนักพากย์อนิเมชาวอเมริกัน เมื่อ Vic Mignogna นักพากย์หนุ่มชาวอเมริกัน ถูก นักพากย์สาว Monica Rial กล่าวหาว่า เขาได้ลงมือทำร้ายร่างกายและจูบเธอ ไม่เพียงเท่านั้น เขายังถูกกล่าวหาว่า เคยกระทำในลักษณะเดียวกันกับ นักพากย์สาว Jamie Marchi ด้วย และจากคดีที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้เขาถูกบริษัทต้นสังกัด 2 แห่ง อย่าง Funimation และ Rooster Teeth ประกาศยกเลิกสัญญา จนนำไปสู่การต่อสู้คดีบนชั้นศาลของ Mignogna ที่ได้ฟ้องร้องดำเนินคดีกับอดีตต้นสังกัด และ นักพากย์สาวทั้งสองคน ข้างต้น แต่ก็ถูกศาลสั่งให้เขาต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลย เป็นจำนวนเงินไม่น้อยเลย
# เรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ ยังแสนว้าวุ่นต่อไป ในปี 2019
ในปีหมูทอง 2019 รัฐบาลญี่ปุ่น ก็ยังคงง่วนอยู่กับการแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ของตัวเอง ด้วยการเพิ่มขอบเขตการลงโทษบรรดาขาโหลดชาวเน็ตให้กว้างกว่าเดิม ซึ่งไม่เพียงแค่จะลงโทษคนที่ดาวน์โหลดเพลง หรือ วีดีโอ ตามกฎหมายฉบับปัจจุบันเท่านั้น แต่จะเพิ่มบทลงโทษผู้กระทำผิดที่ดาวน์โหลดสื่อต่างๆหลากชนิด รวมไปถึง ยังเอาผิดต่อคนที่ดาวน์โหลดรูปภาพ เช่น ภาพอนิเม , ภาพวาด และ ภาพถ่าย ไปโพสต์ลงบลอกและสื่อโซเชี่ยลส่วนตัว , การแคปภาพจากสื่อที่อัปโหลดอย่างผิดกฎหมาย รวมถึง คนที่ก๊อปปี้และแปะเนื้อเพลงลงบนพื้นที่ส่วนตัวของตนเอง เป็นต้น และจากร่างกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับปรับปรุงข้างต้น ทำเอาบรรดาคนในวงการมังงะ-อนิเม ญี่ปุ่น หลายต่อหลายคน ออกมาต่อต้านกฎหมายฉบับนี้ เพราะมองว่า กฎหมายที่ออกมานั้นค่อนข้างจะคลุมเครือและเป็นการริดรอนสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกมากจนเกินไป อย่างไรก็ตาม ทางรบ.ญี่ปุ่น ได้มีการหารือกับบรรดาผู้เกี่ยวข้องในช่วงปลายปีว่า อาจมีการอนุญาตในส่วนของการสกรีนภาพ หรือ แคปหน้าจอ จากสื่อลิขสิทธิ์ เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่ญี่ปุ่นกำลังอยู่ในระหว่างการหาข้อสรุปในเรื่องของร่างกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ อยู่นั้น ......กฏหมายลิขสิทธิ์ TPP ที่จะครอบคลุมถึงประเทศสมาชิก เขตการค้าเสรีภูมิภาคแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership / TPP) ได้มีผลบังคับใช้ในญี่ปุ่นแล้ว เมื่อ 31 ธ.ค. 2018 โดยกฎหมายดังกล่าว จนท.สามารถดำเนินคดีละเมิดลิขสิทธิ์ได้ทันที โดยที่ไม่ต้องได้รับแจ้งจากเจ้าของลิขสิทธิ์
แต่ถึงกระนั้น ปี 2019 เป็นปีที่บรรดาเว็บไซต์การ์ตูนเถื่อนเบอร์ใหญ่ๆในญี่ปุ่น เริ่มจะอยู่ยากแล้ว จากการที่ ผจก.เว็บไซต์มังงะเถื่อน Mangamura ถูกจนท.ฟิลิปปินส์ รวบตัว , สนพ.ใหญ่ 4 แห่งของญี่ปุ่น รวมหัวฟ้อง Hoshi no Romi และ เว็บไซต์มังงะสแกนเถื่อน ในสหรัฐ อีก 3 แห่ง แล้วก็ การที่ สนพ.Kodansha สามารถเอาชนะคดี ฟ้องร้องเอาผิดต่อผู้ดูแลเว็บไซต์เถื่อน Haruka Yume no Ato
ข้ามฝากไปยังบ้านเรา ข่าวคราวลิขสิทธิ์การ์ตูน ที่ถือเป็นประเด็นให้มีคนพูดถึงกันอย่างกว้างขวางที่สุด คงจะหนีไม่พ้น คดีที่มิจฉาชีพกลุ่มหนึ่งพยายามกรรโชกทรัพย์ และยัดข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูน Rilakkuma และ ตัวการ์ตูนอื่นๆ บนกระทงลายการ์ตูน ซึ่งต่อมา ทางบริษัทผู้ดูแลลิขสิทธิ์ของตัวละครดังกล่าวในบ้านเรา ได้ออกมาชี้แจงว่า ไม่ได้มอบหมายให้ผู้ใดไปดำเนินคดีละเมิดลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาต .... ซึ่งจากคดีดังกล่าว ทำให้หลายต่อหลายคนได้พากันถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะกับ Doraemon ตัวการ์ตูนดังที่มีผู้คนบ้านเรานำไปใช้ประโยชน์ต่างๆ มากที่สุด ซึ่งประเด็นดังกล่าว ได้มีการไขข้อข้องใจจากแฟนเพจเนื้อหากฎหมายแห่งหนึ่งว่า Doraemon ได้หมดอายุความคุ้มครองลิขสิทธิ์ในบ้านเรา ในแง่ของ "ศิลปะประยุกต์" (นำไปใช้ในงานศิลปะประยุกต์ต่างๆ อาทิ สิ่งของ เครื่องใช้ เสื้อผ้า ฯลฯ แต่ไม่สามารถก๊อปปี้ได้) มาตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2537 เป็นต้นมา แต่ยังคงได้รับความคุ้มครองในแง่ของ ศิลปะจิตรกรรม (ไม่ได้นำไปประยุกต์ทำเป็นสินค้าต่างๆ) ที่มีการคุ้มครองนับจากผู้สร้างเสียชีวิตแล้ว 70 ปี
# ลิสต์คนวงการการ์ตูน ผู้จากไป ในปี 2019
รอบปีที่ผ่านมา ได้มีคนวงการการ์ตูนอนิเม ได้จากโลกนี้ไป จำนวนหนึ่ง ด้วยสังขาร โรคร้าย หรือ อุบัติเหตุ ซึ่งปีนี้ก็มีรายชื่อมากมายจนทำเอารู้สึกปวดใจ เพราะส่วนหนึ่งนั้น เป็นคนในวงการที่ได้เสียชีวิตจากเหตุลอบวางเพลิงสตูดิโอ Kyoto Animation ด้วย โดยเราได้รวบรวมชื่อมาพอสังเขป เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดี รวมไปถึง ผลงานของพวกเขา ที่ได้ฝากเอาไว้ในช่วงที่พวกเขายังมีชีวิตอยู่ :
Yasuhiro Takemoto - ผกก.อนิเม มือหนึ่งของ Kyoto Animation จาก Lucky Star, Miss Kobayashi's Maid Dragon, The Disappearance of Haruhi Suzumiya, Hyouka
Futoshi Nishiya - คนออกแบบตัวละคร และ หัวหน้าผกก.อนิเมชั่น จาก Free! , A Silent Voice, Liz and the Blur Bird และ ผกก.อนิเมชั่น จาก The Melancholy of Haruhi Suzumiya เวอร์ชั่น 2009, Kanon
Yoshiji Kigami - บุคลากรอาวุโสของ Kyoto Animation รับหน้าที่เป็นคนเขียนสตอรี่บอร์ด, Unit Director และอนิเมเตอร์ ให้กับอนิเมหลายเรื่องของ KyoAni รวมถึง มีส่วนร่วมในฐานะ Key Animator ให้กับอนิเมคลาสสิคจำนวนหนึ่ง อย่าง Akira, Grave of the Fireflies, Space Adventure Cobra
Junichi Uda - คีย์อนิเมเตอร์ จาก Hyouka และ Nichijou
Sachie Tsuda - Finish Animation ให้กับ Free! , Pokémon 3: The Movie: Entei – Spell of the Unown, Hyouka
Mikiko Watanabe - ผกก.ศิลป์ จาก Amagi Brillant Park, Beyond the Boundry และรับหน้าที่เป็นศิลปินวาดฉากหลัง ให้กับ ผลงานหลายเรื่องของ KyoAni
Ami Kuriki - คีย์อนิเมเตอร์จาก Liz and the Blue Bird, Violet Evergarden, Myriad Colors Phantom World
Keisuke Yokota - ผจก.ฝ่ายโปรดักชั่นให้กับผลงานหลายเรื่องของสตูดิโอ Kyoto Animation
Yuki Omura - อนิเมเตอร์เข้าใหม่ของสตูดิโอ Kyoto Animation
Yuka Kasama - อนิเมเตอร์เข้าใหม่ของสตูดิโอ Kyoto Animation
Etsuko Ichihara - นักแสดงหญิงรุ่นเก่า และ เป็นผู้พากย์เสียง Hitoha Miyamizu คุณยายของ Mitsuha จากหนังอนิเม Kimi no Na wa / Your Name
Yasuta Sato - ผู้ก่อตั้ง Takara บริษัทของเล่นรายใหญ่ในญี่ปุ่น (ปัจจุบัน คือ Takara Tomy)
Monkey Punch / Kazuhiko Katou - นักเขียนมังงะ ผู้ให้กำเนิดมังงะซีรี่ย์ Lupin III หรือ จอมโจรลูแปง
Kazuo Koike - นักเขียนการ์ตูนรุ่นดึกระดับตำนาน ผู้แต่งมังงะเรื่อง Lone Wolf & Cub หรือ "ซามูไรพ่อลูกอ่อน" รวมถึง มีส่วนร่วมในการแต่งเนื้อเรื่องให้กับมังงะ Mad Bull 34 (มือปราบปืนโหด - สนพ.หมึกจีน) และ Crying Freeman น้ำตาเพชฌฆาต เป็นต้น
Makoto Ogino - ผู้แต่งมังงะเรื่อง Kujakuou คุจากุ เทวฤทธิ์พิชิตมาร
Yuu Shimaka - นักพากย์รุ่นใหญ่ เจ้าของเสียงพากย์ Goofy เวอร์ชั่นญี่ปุ่น
Ai Morinaga - นักเขียนการ์ตูนเจ้าของผลงานเรื่อง Your and My Secret (เมื่อผมกับเธอ XXX) และ Yamada Taro Monogatari (เทพบุตรถังแตก)
Kazuko Nakamura - อนิเมเตอร์หญิงชาวญี่ปุ่น คนแรกๆ ที่ได้เป็นผู้บุกเบิกวงการอนิเมญี่ปุ่น
Hideo Azuma - นักเขียนการ์ตูนมังงะประสบการณ์สูง ผู้ได้รับการขนานนามว่า เป็นผู้ให้กำเนิดผลงานการ์ตูนสายโมเอะ กับ โลลิ จาก Olympus no Pollon , Nanako SOS และ Shissou Nikki หรือ Disappearance Diary
Makio Inoue - นักพากย์รุ่นเก๋า เจ้าของเสียงพากย์ Captain Harlock และ Ishikawa Goemon คนที่ 2
Pua Magasiva - นักแสดงหนุ่มชาวนิวซีแลนด์ ผู้รับบทเป็น Shane Clarke หรือ Red Wind Ranger จาก Power Rangers Ninja Storm (ดัดแปลงมาจากซีรี่ย์ซูเปอร์เซ็นไทของญี่ปุ่น Ninpū Sentai Hurricaneger)
Christopher Reccardi - ศิลปินผู้อยู่เบื้องหลังการ์ตูนอนิเมชั่น Power Puff Girls , Samurai Jack , The Ren & Stimpy Show
Russi Taylor - นักพากย์รุ่นคุณย่า เจ้าของเสียงพากย์ Minnie Mouse ทุกเวอร์ชั่น มานานกว่า 30 ปี รวมไปถึง เป็นผู้พากย์เสียง Huey , Dewey และ Louie ก๊วนหลานๆเป็ดของคุณลุง Scrooge McDuck กับ Donald Duck
John Kirby - บุคคลผู้เป็นที่มาของชื่อตัวละคร Kirby ของ Nintendo ซึ่งครั้งหนึ่ง เขาเคยสร้างวีรกรรม ด้วยการว่าความให้ Nintendo เอาชนะคดีความเหนือ Universal City Studios (Universal Pictures ในปัจจุบัน) จากการที่ตัวละคร Donkey Kong ของ Nintendo ถูก Universal City Studios กล่าวหาว่า ไปละเมิดลิขสิทธิ์ King Kong ของพวกเขา
Syd Mead - ดีไซเนอร์สไตล์ภาพอนาคตล้ำยุค ผู้อยู่เบื้องหลังความล้ำยุคในภาพยนตร์ Blade Runner, Alien และ Tron รวมถึง เคยมีส่วนร่วมสร้างสรรค์ในผลงานอนิเมญี่ปุ่น จำนวนหนึ่ง เช่น Turn A Gundam และ Yamato 2520 เป็นต้น
ชัยยันต์ สุยะเวช / "ตาโปน" - นักเขียนการ์ตูนไทยสายมังงะ ผู้มากความสามารถ เจ้าของนามปากกา "ตาโปน" จากผลงานเรื่อง เพชรพระอุมา, หาญผีสู้นรก, ตะกร้อ, ลูกไม้, ไกรทอง, กากี, ยันต์แมน, ไกรทอง, โอริณกับจินณา, Hot Beach ตบแหลก เป็นต้น
นี่คือเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นในวงการการ์ตูนตลอดปี 2019 ซึ่งวงการการ์ตูนในปีชวด หรือ ปีหนู จะก้าวไปในทิศทางไหนนั้น ก็ต้องติดตามข่าวคราวกันต่อไปครับ ซึ่งเราก็ขอให้ทุกคนจงมีแต่ความสุข ความโชคดี จะทำอะไรขอให้แคล้วคลาดจากอุปสรรคทั้งปวง ในตลอดปี พ.ศ. ๒๕๖๓ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สภาพเศรษฐกิจและการเมืองบ้านเราในปี 63 จะไปในทางที่ดี (จริงๆ) ไม่เลวร้ายไปกว่านี้เลย !!!!!!!!!!!............(ยังมีต่ออีก 2 ตอน เน้อ)
|